หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

ซ่อมบ้าน-สร้างสุข

Line

ซ่อมบ้าน-สร้างสุข

Line


ปัญหาอุทกภัย ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในการใช้ชีวิต ทั้งยังสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน และสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย  เมื่อน้ำลด สิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน  ก็คือ การเร่งพื้นฟูความเสียหาย ที่เกิดขึ้นโดยเร็ว เอสซีจี ได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการฟื้นฟูบ้าน โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุก่อสร้างที่มาก ประสบการณ์ของเอสซีจี  เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างง่าย 10 ข้อเบื้องต้น ดังนี้

1.การตรวจสอบสภาพก่อนเข้าบ้าน  
-ก่อนจะเข้าสำรวจบ้านที่พักอาศัย  ต้องสอบถามการไฟฟ้าในพื้นที่ (Call Center การไฟฟ้านครหลวง : 1130 หรือการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค : 1129) หากขณะนั้นมีการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 
-ควรสวมใส่รองเท้ายาง ถุงมือยาง หรือสวมถุงพลาสติกแห้งหลาย ๆ ชั้นเพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด
-ตรวจสอบแผงไฟฟ้าหลักให้มั่นใจก่อนว่าได้ปิดคัทเอาท์ หรือเบรกเกอร์หลักที่จ่าย       ไฟฟ้าเข้าสู่บ้านก่อนอพยพออกจากบ้านแล้วหรือไม่

2.การตรวจสอบระบบไฟฟ้า
-ปลดเครื่องใช้ไฟฟ้า ดึงปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าออกทั้งหมด และปิดสวิทช์ไฟฟ้าทั้งหมด
-ตรวจสอบเต้ารับและสวิทช์ที่ติดตั้งบนผนังในส่วนที่โดนน้ำท่วมขัง ตรวจสอบหลอดไฟฟ้า และสายไฟฟ้าว่ามี สภาพสมบูรณ์ หรือไม่ หลังจากนั้นให้ลองเปิดคัทเอาท์ หรือเบรกเกอร์ ดูมิเตอร์ไฟหน้าบ้านว่าหมุนหรือไม่ และทดลองเปิดหลอดไฟฟ้าทีละจุด

3.การตรวจสอบระบบน้ำประปา
-ถ้ามีบ่อเก็บน้ำใต้ดิน หรือถังเก็บน้ำในระดับน้ำท่วมถึง ให้ตรวจสอบว่ามีการทรุดตัว รั่วซึมของน้ำจากภายนอกเข้าไปหรือไม่
-ตรวจสอบลูกลอยภายในถังเก็บน้ำใต้ดินว่า มีการงอเสียหายหรือไม่
-บ้านที่มีระบบปั๊มน้ำ หากถูกน้ำท่วม ควรเรียกหาช่างมาดำเนินการ หรือหากปั๊มน้ำอยู่ในที่สูงไม่ถูกน้ำท่วม หลังจากเปิดใช้งานแล้ว ให้สังเกตเสียงเครื่องทำงาน ดูแรงดันน้ำในท่อว่าแรงเหมือนเดิมหรือไม่ หากมีความผิดปกติ  ควรตรวจสอบด้วยการเปิดทำความสะอาด นำเศษผง สิ่งสกปรกที่เข้าไปอุดตัน กีดขวางการทำงานของอุปกรณ์ออกมา

4.การตรวจสอบระบบท่อน้ำและสุขภัณฑ์
-ก่อนอื่นควรดูว่า มีวัสดุต่าง ๆ เข้าไปอุดท่อระบายน้ำ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน รวมถึงสุขภัณฑ์หรือไม่ จากนั้น ตรวจสอบระบบระบายน้ำทิ้งในห้องน้ำ หากน้ำไหลช้าผิดปกติ ให้ใช้น้ำ หรือลมแรงดันสูง อัดดันให้สิ่งที่อุดตันหลุดออกจากท่อ
-ส้วมแบบบ่อเกรอะ หรือ มีถังบำบัด ควรเปิดปากบ่อเกรอะหรือบ่อซึมเพื่อดูระดับน้ำ หากระดับน้ำสูงกว่าปกติให้ดูดน้ำออก นอกจากนี้ ควรตรวจสอบใต้ฐานโถสุขภัณฑ์ว่ามีน้ำรั่วซึมหรือไม่ ถ้าพบเห็นการรั่วซึม แนะนำให้รื้อติดตั้งสุขภัณฑ์ใหม่ 

5.การซ่อมแซมประตู หน้าต่าง
-หากประตูทำมาจากไม้จริง และเกิดอาการบวมจากการแช่น้ำ ให้ทิ้งไว้จนแห้งสนิท หากโก่งงอ แนะนำให้ถอดออกมาผึ่งลมและ กดทับด้วยแผ่นสมาร์ทบอร์ดและหาวัสดุหนัก ๆ ทับทิ้งไว้จน แห้งสนิท จากนั้นจึงให้ช่างปรับแต่งขนาดให้ได้พอกับวงกบ และเก็บงานสีให้เรียบร้อย  ประตูไม้อัด มักจะเสียหายมากกว่าประตูไม้จริง เพราะวัสดุจะมีกาวและรังผึ้งกระดาษหรือ โครงไม้อยู่ด้านใน ควรเปลี่ยนใหม่  ส่วนประตูเหล็ก อลูมิเนียม  ต้องตรวจสอบการเสียรูปและการบิดงอตัวบานประตู       

6.การบำรุงรักษาพื้น 
-พื้นบ้านที่เป็นคอนกรีต หากมีรอยแตกร้าวมาก แนะนำให้หาช่างมาทุบและรื้อพื้นเดิมทิ้ง  ถมดินหรือทราย บดอัด และเทคอนกรีตใหม่ หากเป็นลานนอกบ้านที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาซ้ำจากแรงดันน้ำดันคอนกรีตจนแตกอีก อาจเปลี่ยนเป็นการปูบล็อคแทน หรือหากพบว่าเกิดความเสียหายไม่มาก อาจทำความสะอาดและซ่อมแซมเป็นจุด ๆ ก็ได้
-พื้นในบ้านที่เป็นแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป และตกแต่งด้วยวัสดุประเภทต่าง ๆ เช่น เซรามิค หินอ่อน แกรนิต วัสดุกลุ่มไม้ทั้งลามิเนตและไม้จริง วัสดุกรุผิวต่าง ๆ อาจเกิดความเสียหายได้ง่าย ควรเรียกช่างเข้ามาซ่อมแซม

7.การดูแลผนัง ฝา และฝ้าเพดาน
-บ้านที่มีผนังหรือฝาแบบก่ออิฐ ถ้าเป็นรอยแตกร้าวที่ขยายอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดจากปัญหาทางโครงสร้าง ให้ซ่อมแซมตามคำแนะนำของวิศวกร
-บ้านที่มีผนังเบา หรือฝาทำจากวัสดุประเภทสมาร์ทบอร์ด ไม้อัดซิเมนต์  ไม้อัด สามารถซ่อมแซมเฉพาะจุดได้ หรือรื้อติดตั้งใหม่ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น
-กรณีฝ้าระแนงภายนอก ตรวจสอบได้โดยการปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิท และดูด้วยสายตาว่า มีการโก่งบิดงอ หรือเสียรูปหรือไม่ กรณีฝ้าภายใน ซึ่งมักจะใช้เป็นฝ้ายิปซัม หากถูกน้ำจะเกิดความเสียหายจากการเสียรูป แนะนำให้รื้อทำการติดตั้งด้วยของใหม่ทั้งหมด

8.การตรวจสอบกำแพงรั้วบ้าน
-กำแพงรั้วบ้าน อาจเกิดปัญหาดินที่ฐานรั้วอ่อนตัวลง ให้สังเกตที่ความเอียงของรั้ว หากพบว่ารั้วมีการเอียงเพียงเล็กน้อย สามารถหาวัสดุมาค้ำยันไว้ก่อนได้ และติดต่อช่างมาปรับปรุงแก้ไขเมื่อพร้อม แต่หากรั้วเอียงมากอย่างเห็นได้ชัด หรือกำแพง รั้วล้มไปแล้ว ให้สกัดช่วงของกำแพงรั้วที่ล้มออกเสียก่อน เพื่อป้องกันการดึงให้กำแพงที่ยังสมบูรณ์เสียหายตามไปด้วย และติดต่อช่างเข้ามาปรับปรุงแก้ไขต่อไป

9.การดูแลเฟอร์นิเจอร์
-เร่งเอาความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ ให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถดูดซับน้ำไว้ภายในได้ หากไม่จำเป็น อย่านำกลับมาใช้อีก เพราะขณะที่นํ้าท่วมอาจดูดซับเชื้อโรค และสิ่งไม่พึงประสงค์เข้าไปเป็นจำนวนมาก 
-เฟอร์นิเจอร์ประเภทติดกับที่ (Built In Furniture) ให้พิจารณาจากชนิด ประเภทของวัสดุที่ใช้ หากทำด้วยไม้  ไม่ควรนำไปตากแดดโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดการโก่งตัว บิดเบี้ยว หรือ แตกเสียหายได้ หากเฟอร์นิเจอร์เกิดเชื้อรา หรือรอย สามารถเช็ดหรือล้างออกด้วยผ้าชุบน้ำสบู่อ่อนๆ

10.การดูแลตรวจสอบเรื่องอื่น ๆ
-ขยะ วางแผนแบ่งชนิดและประเภทของขยะให้ชัดเจน และวางแผนแนวทางการจัดเก็บและกำจัด โดยแยกประเภทของขยะ 
-ต้นไม้ตกแต่งบ้าน สำหรับต้นไม้ขนาดเล็กที่จมน้ำ อาจต้องปลูกใหม่ หากเป็นไม้ยืนต้น รากจะอ่อนแอ ต้องใช้เวลาฟื้นตัว  จึงไม่ควรให้ปุ๋ยในช่วงนี้
-สัตว์เลี้ยง หากจำเป็นต้องทิ้งไว้ที่บ้าน ให้ปล่อยไว้ในบ้านโดยมีอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ และติดป้าย   หน้าบ้านให้เห็นชัดเจนว่ามีสัตว์เลี้ยงอะไรอยู่ในบ้านและอยู่ที่บริเวณไหน พร้อมทั้งชื่อและเบอร์โทรที่ติดต่อได้ 

ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line