หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

Tuscany (Part 2)

Line

Tuscany (Part 2)

Line
 

        การเลือกใช้วัสดุประกอบอาคารมักใช้วัสดุที่มีมากในท้องถิ่นมาตั้งแต่อดีต โครงสร้างแบบดั้งเดิมใช้วัสดุหลักที่เป็นหินและไม้ ตั้งอยู่บนฐานรากแบบแผ่อยู่บนภูมิประเทศที่มีหินและทรายอยู่มาก ใช้ผนังหนารับน้ำหนักตัวบ้าน เอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือการทำสีผนังอาคารด้วยเทคนิคเฟรสโก ( Fresco) ซึ่งก็คือการเขียนสีลงบนปูนเปียก เมื่อปูนแห้งสีก็จะผนึกลงเป็นเนื้อเดียวกับผนัง เราจะสังเกตได้จากสีอาคารจะติดอยู่ทนนานและสดใส ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการที่ง่ายกว่าในอดีตมาก มีผลิตภัณฑ์ที่เลียนแบบคุณลักษณ์ของสีที่ได้จากเทคนิคดังกล่าวมากมาย เช่นเดียวเทคนิคการฉาบปูนเรียบและทาสีที่เรียบเนียนที่ผนังด้านในที่ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยการทำสกิมโค๊ต (skim coat) โดยการฉาบแล้วทาสีทับซึ่งให้ความรู้สึกเดียวกัน ฐานหรืออาคารบางส่วนเป็นผนัง  2 ชั้นเพื่อป้องกันทุกสภาวะอากาศ และปิดทับด้วยหินที่มีอยู่มากในพื้นที่ ลักษณะชายคาที่ดูสั้นเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของสไตล์นี้ เพราะที่อยู่ในพื้นที่ที่มีฝนตกน้อย และที่ขาดไม่ได้คือแนวรางน้ำที่จะต่ออยู่ภายนอกอาคาร

 

    
 

        มีช่องเปิดประตูหน้าต่างน้อย กรอบของช่องเปิดมักทำจากไม้ขัดเสี้ยนสีสันสดใส ติดตั้งอยู่บนโครงของหินที่ทำเป็นทับหลังและคาน ประตูและหน้าต่างสไตล์นี้เป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้อาคารดูหน้าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หลังคาเป็นกระเบื้องกาบขนาดใหญ่ทำจากดินเผา มีความทนทานและช่วยลดความร้อนจากสภาวะอากาศร้อนยาวนานได้เป็นอย่างดี

        สวนเน้นพืชพรรณที่สามารถปลูกได้บนพื้นที่สูง อาจเป็นพืชที่สามารถเก็บผลผลิตได้หรือพืชที่ทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี ตัดแต่งเป็นทรงทางเลขคณิต ตกแต่งด้วยรูปปั้นหรือเฟอร์นิเจอร์ ภายนอกอาคารประดับด้วยดอกไม้สีสันสดใสตามแนวผนังอาคาร เป็นไม้กระถางและไม้พุ่มบนดิน ใต้หน้าต่าง ตามแนวบันได และบางส่วนที่ประกอบอาคาร ถือเป็นส่วนประกอบที่ช่วยส่งเสริมอาคาร ถนนหน้าบ้านที่เป็นหินกาบหรือหินภูเขาที่ตัดเข้ารูปปูนวางเรียงเป็นถนนเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งในปัจจุบันอาจใช้คอนกรีตแสตมป์ซึ่งผลิตได้ง่ายกว่า เหล่านี้คือรูปแบบที่เราจะพบเห็นได้ในสถาปัตยกรรมของทัสคานี

        งานตกแต่งภายในเป็นการตกแต่งที่เน้นความเรียบง่าย มีโครงสร้างที่เป็นคานรับพื้นชั้นบนที่เป็นเอกลักษณ์ในสมัยก่อน ซึ่งคานที่รับน้ำหนักพื้นด้านบนนี้ปัจจุบันถูกประยุกต์สร้างขึ้นมาเป็นคานหลอกเพื่อสร้างเอกลักษณ์เท่านั้น มองเข้าไปในตัวบ้านจะเห็นซุ้มประตูโค้งแบบต่างๆ ที่เกิดจากการเรียงหินหรืออิฐเป็นแนวโครงที่เรียกว่า (arch) โครงสร้างรับน้ำหนักผนังเหนือซุ้มประตูทางเข้า ประดับหินที่ผนังส่วนที่สำคัญ พื้นเป็นกระเบื้องวางเป็นกลุ่มเพื่อสร้างรูปแบบสอดผสานกันเป็นลายเฉพาะ ให้เข้ากับพรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เป็นของเก่าหุ้มด้วยผ้าลวดลายดอกไม้หรือหนัง เข้ากับภาพลักษณ์ของสถาปัตยกรรมภายนอกที่แสดงให้เห็นถึงสัจจะหรือเนื้อแท้ของวัสดุ

        การจัดวางรูปวาดสีน้ำมันตามยุคที่มีชื่อเสียงช่วยเพิ่มความเป็นทัศคานีให้กับตัวบ้านได้ เพิ่มเตาผิงที่ใช้ในภาวะอากาศหนาวหรือประยุกต์ใช้เป็นช่องลมเพื่อระบายอากาศร้อนในหน้าร้อนให้ดูเข้ากัน ราวระเบียงและราวจับบันไดที่เป็นเหล็กwrought iron ที่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้ทนทานต่อสภาวะอากาศไม่เป็นสนิม ประดับกับโคมไฟทรงโบราณระย้าทำจากแก้ว และโคมไฟประดับผนังที่ดูเข้ากัน
 

        ในปัจจุบันบ้านเรามีการสร้างงานสถาปัตยกรรมสไตล์ทัสคานีขึ้นในหลายพื้นที่ด้วยกัน โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีภูมิประเทศคล้ายกันเช่น อ.ปากช่อง เขาใหญ่ นครราชสีมา อ.สวนผึ้ง ราชบุรี อ.ชะอำ เพชรบุรี และ อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ซึ่งสภาวะอากาศบางพื้นที่ในไทยมีส่วนคล้ายกับแคว้นทัสคานี นอกจากนี้บ้านเรายังมีการประยุกต์สถาปัตยกรรมบางส่วนให้เข้ากับพื้นที่จนเป็นที่นิยม โดยมีการนำศิลปะวัฒนรรม การเกษตร อาหาร เข้ามาผสมผสาน จนบางครั้งลืมไปเลยว่าอยู่ที่เมืองไทย และมีการประยุกต์บางส่วนให้เข้ากับประเทศไทย ผู้เขียนเองก็เคยมีส่วนร่วมในงานออกแบบประเภทนี้จึงทำให้ทราบดี อาคารสไตล์ทัสคานีในไทยจึงสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีและอยู่สบาย เป็นบ้านที่เย็นตลอดทั้งปี ในช่วงหน้าหนาวก็สามารถอยู่ได้อย่างสบายและอบอุ่น ทัสคานีจึงเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามและเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับพักตากอากาศที่ลงตัวเป็นอย่างยิ่ง แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้าครับกับคอลัมน์ “Architecture World”

“สถาปัตยกรรมที่สวยงาม เกิดจากความเข้าใจและนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง


 


ที่มา : นิตยสารโฮม แอนด์ รีสอร์ต


 
 
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line