หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

ฐานราก คือ รากฐาน

Line

ฐานราก คือ รากฐาน

Line
 

 

         ต้นไม้จะสามารถยืนต้น ต้านลม ฝน พายุ และภัยธรรมชาติต่าง ๆ ได้ ก็ต้องมีรากแก้วที่แข็งแรง อาคารบ้านเรือนก็เช่นกัน จำเป็นจะต้องมีฐานรากที่แข็งแรงเพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักตัวอาคาร และรับแรงต่าง ๆ ที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ฝนตก ลมพายุ หรือแม้แต่แรงแผ่นดินไหว ดังนั้นในด้านการออกแบบทางวิศวกรรมโครงสร้างของบ้านนั้น ฐานรากจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่วิศวกรผู้ออกแบบจะคำนึงถึง วิศวกรผู้ออกแบบต้องศึกษารายละเอียดข้อมูลชั้นดินของสถานที่ที่จะก่อสร้างอาคาร เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับในการออกแบบระบบฐานราก ในที่นี้จะขอกล่าวถึงฐานรากอาคารขนาดเล็กอย่างบ้านพักอาศัย ในการก่อสร้างฐานรากเพื่อรับน้ำหนักบ้านนั้น มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความสะดวกในการใช้งาน โดยทั่วไปฐานรากบ้านพักอาศัยจะมี 2 ประเภท ดังนี้
 



  
 

         ฐานรากแผ่ (Spread footing) จะเป็นฐานรากที่ไม่มีเสาเข็ม หลักการทำงานของฐานรากชนิดนี้ คือ ถ่ายน้ำหนักของตัวบ้านลงไปยังดินหรือหรือหินที่รองรับอยู่ ดังนั้นฐานรากจึงต้องมีขนาดใหญ่จึงจะสามารถกระจายน้ำหนักของบ้านให้แผ่นลงดินได้อย่างเพียงพอ ซึ่งแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยดินจะมีความแข็งแรงที่จะรับน้ำหนักได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของดินในพื้นที่นั้น เช่นบริเวณที่เป็นดินเหนียว ดินจะรับน้ำหนักได้น้อย บริเวณที่เป็นดินแข็งหรือพื้นที่ที่เป็นหินภูเขาซึ่งมีความแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักได้มาก โดยปกติเราจะคำนวณการรับน้ำหนักของดินในหน่วย “ตันต่อตารางเมตร” เช่น “พื้นที่ดินอ่อน จะรับน้ำหนักได้ 2-3 ตันต่อตารางเมตร” หรือ “พื้นที่ที่เป็นดินแข็งหรือบริเวณภูเขา จะรับน้ำหนักได้ 10-15 ตันต่อตารางเมตร” เป็นต้น
 
         ฐานรากเสาเข็ม (Piled foundation) เป็นฐานรากที่วางบนเสาเข็ม หลักการทำงานคือให้น้ำหนักของบ้านที่ถ่ายลงฐานรากนั้นถ่ายต่อไปยังเสาเข็ม ซึ่งเสาเข็มก็ยังแบ่งออกเป็น เสาเข็มสั้นซึ่งรับแรงหรือการต้านทานน้ำหนักโดยอาศัยความฝืดหรือแรงเสียดทาน (friction) ระหว่างผิวเสาเข็มกับดินที่สัมผัสเสาเข็มโดยรอบ และเสาเข็มยาวที่สามารถตอกลงไปถึงชั้นดินที่แข็งหรือชั้นหิน เสาเข็มประเภทนี้จะรับน้ำหนักโดยอาศัยทั้งความฝืดและแรงแบกทาน (bearing) ที่ปลายเสาเข็มนั้นกับชั้นดินหรือชั้นหินแข็งนั้น ทำให้สามมารถรับน้ำหนักได้มากกว่าเสาเข็มสั้นที่มีการต้านทานน้ำหนักเฉพาะแรงฝืดเท่านั้น
 
         การเลือกใช้ระบบฐานรากเพื่อให้บ้านมีความมั่นคงแข็งแรงนั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก วิศวกรผู้ออกแบบต้องมีข้อมูลชั้นดินของสถานที่ปลูกสร้างบ้าน ตลอดจนต้องรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปพิจารณาเลือกใช้ระบบฐานรากที่มีความเหมาะสม ความสะดวกในการใช้งาน และมีความแข็งแรงปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม แต่อย่างไรก็ตามระบบที่เลือกใช้นั้นต้องไม่สร้างปัญหากับบ้านเรือนที่ปลูกสร้างใกล้เคียง เช่นการตอกเข็มใกล้สิ่งปลูกสร้างเก่า แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นอาจกระทบต่ออาคารเก่าที่อยู่ใกล้เคียง เกิดผนังร้าว หรือพังทลาย
ตอนนี้เรารู้ถึงวิธีการเลือกกระบบฐานรากที่มีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักและป้องกันภัยธรรมชาติแล้ว ยังมีโครงสร้างส่วนอื่น ๆ ของบ้านหรืออาคารอีกมากมายที่มีความสำคัญ ซึ่งจะขอได้กล่าวถึงต่อไปในฉบับหน้าครับ

 
ผู้เขียน :  ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม1 บริษัท พีดี เฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
(วันที่ 19 ตุลาคม 2560)


 

Home's Tips

10 วิธีเก็บรักษาเหรียญและธนบัตร ให้ทรงคุณค่าตราบนานเท่านาน

วิธีเก็บรักษาวิธีเก็บรักษาเหรียญและธนบัตร อย่าปล่อยให้คุณค่าของวิธีเก็บรักษาเหรียญและธนบัตร จางหายไปพร้อมๆ กับสภาพที่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา

ฐานราก คือ รากฐาน

ต้นไม้จะสามารถยืนต้น ต้านลม ฝน พายุ และภัยธรรมชาติต่าง ๆ ได้ ก็ต้องมีรากแก้วที่แข็งแรง อาคารบ้านเรือนก็เช่นกัน จำเป็นจะต้องมีฐานรากที่แข็งแรงเพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักตัวอาคาร

โครงหลังคาสำเร็จรูป (Roof Truss)

โครงสร้างหลังคาสำเร็จรูปนี้ผลิตจากเหล็กที่มีกำลังดึงสูงผ่านการเคลือบผิวกันสนิมด้วยสังกะสีที่เรียกว่ากัลวาไนซ์

ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line