หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

รอยร้าวของผนัง สัญญาณอันตราย หรือแค่เรื่องธรรมชาติ

Line

รอยร้าวของผนัง สัญญาณอันตราย หรือแค่เรื่องธรรมชาติ

Line
          เคยสงสัยกันบ้างไหม ว่าทำไมอาคารบ้านเรือนเราอยู่ๆ ก็เกิดมีรอยร้าวทั้งๆ ที่เพิ่งจะสร้างเสร็จใหม่ๆ แบบบ้านบางหลังสร้างมาตั้งหลายปีก็ไม่เห็นว่าจะร้าวเลย แล้วรอยร้าวพวกนี้ส่งสัญญาณอะไรให้เราบ้าง อันตรายแค่ไหน แบบบ้านจะพังไหม หรือ แค่เราคิดมากไปเอง ไม่แน่อาจจะแค่เรื่องธรรมชาติหรือเปล่าไปถามบางคนก็ว่าแค่ปูนร้าวไม่มีอะไรหรอก แต่อีกคนมาบอกว่าต้องแก้นะเดี๋ยวบ้านพัง แล้วตกลงเราจะรู้ได้อย่างไร ว่ารอยร้าวที่เกิดกับบ้านเรานั้นอันไหนต้องแก้ไข หรืออันไหนปล่อยไว้ก็ได้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับรอยร้าวที่ทั้งทำให้เราร้าวรานและร้อนใจนั้นมีแบบไหนกันบ้าง และจะแก้ไขอย่างไร ลองมาดูกัน
 
1.รอยร้าวที่เกิดบนผนัง

          รอยร้าวประเภทนี้ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายถึงขั้นบ้านถล่มดินทลาย แต่มักจะมาในรูปแบบของความน่ารำคาญ คือจะทำให้ดูรกหูรกตา ไม่น่ามอง แต่ในกรณีนี้ไม่สามารถทำให้บ้านพังได้ครับ เช่น 

          1.1 รอยร้าวแบบแตกลายงา มักจะเกิดจากปูนฉาบขาดน้ำ คือ ผนังก่ออิฐแห้งเกินไปทำให้เมื่อเราเริ่มงานฉาบปูน น้ำที่ผสมในปูนฉาบที่ได้สัดส่วนดีงามแล้ว โดนผนังด้านในดูดเอาน้ำไปทำให้ปูนฉาบผิดสัดส่วนและแห้งเกินไป เมื่อใช้อาคารไปซักพักจึงเกิดเป็นรอยดังกล่าว หรืออาจจะโดนเร่งงานจากเจ้าของบ้านหรือรีบเก็บงวดงาน ทำให้เมื่อก่อผนังอิฐเสร็จก็ฉาบเลยไม่รอให้ผนังอิฐเซ็ทตัวนั่นเองการแก้ไข : A - ก่อนงานฉาบปูนให้เรารดน้ำผนังก่ออิฐให้ชุ่มก่อนเพื่อไม่ให้ผนังขาดน้ำ แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าไม่ขาดน้ำ สังเกตง่ายๆก่อนจะเริ่มงานฉาบลองเอาฝ่ามือไปนาบผนังถ้ารู้สึกว่าเย็นๆชื้นๆก็แสดงว่าใช้ได้แล้วนั่นเองB - ถ้าสายไปเสียแล้ว เพราะแตกไปเรียบร้อยก็แก้ไขได้ไม่ยาก ให้ใช้สีที่มีความยืดหยุ่นสูง หาได้หลากหลายยี่ห้อในท้องตลาดมาทาทับให้เรียบร้อย และมักจะแก้ได้อย่างชะงัดทีเดียว

 

          1.2 รอยแตกของผนังตามริมขอบวงกบ อันนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความมักง่ายของช่างก่อสร้าง ที่ไม่ยอมทำเสาเอ็น เสาเอ็นก็คือเสา คสล.ขนาดประมาณ 7 x 7 cm ที่ทำเป็นกรอบครอบวงกบประตูไว้นั่นเอง เพื่อป้องกันปูนฉาบแตกจากการเปิดปิดประตู ฉะนั้นในระหว่างการก่อสร้างเจ้าของบ้านก็ควรตรวจสอบให้รอบคอบก่อนจะที่ช่างจะฉาบปูน


          1.3 รอยแตกแนวทแยงบนผนังกว้างประมาณ1-2 มม.อันนี้เริ่มจะน่ากังวลขึ้นมาหน่อยครับ รอยร้าวประเภทนี้มักจะเกิดหลังจากอาคารสร้างเสร็จไปแล้วซักพัก หากเราเจอให้ลองเอาดินสอขีดตรงปลายรอยแตกแล้วสังเกตว่าร้าวต่อหรือไม่ ถ้าไม่ก็ถือว่าไม่อันตรายอาจจะแค่เกิดการบิดของผนังหรือเวลาสิบล้อขับผ่านหน้าบ้านบ่อยๆเกิดการสะเทือนมากเป็นต้น แต่ถ้ารอยร้าวกว้างและยาวมากขึ้นอาจจะสันนิษฐานได้ว่า โครงสร้างอาคารอาจจะกำลังทรุดตัว ควรปรึกษาวิศวกรเป็นการด่วน

 

2.รอยร้าวที่เกิดบนคาน

          รอยร้าวบริเวณนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือเยอะ ให้คิดไว้ก่อนว่านั่นคือเรื่องอันตราย ให้รีบหาสาเหตุและแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด เพราะไม่ใช่เรื่องปกติแล้วครับ โดยเราอาจสังเกตได้ดังนี้

          2.1รอยร้าวแบบแตกลายงาแต่ไม่ปริออกมา อันนี้น่าจะเกิดจากปูนฉาบขาดน้ำเช่นเดียวกับข้อ 1.1 หรืออาจจะเป็นช่างฉาบปูนคนเดียวกัน ไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆ
 
          2.2 รอยร้าวเป็นเส้นตรงแนวตั้งตรงกลางคานและปริจนเห็นเนื้อปูนหรือเหล็กเสริมด้านใน อาการนี้แสดงว่าคานรับน้ำหนักเกินกว่าที่วิศวกรกำหนดไว้ เรามักจะเจอกรณีแบบนี้ในอาคารประเภทโกดังที่มีการกองเก็บสินค้าเกินกำลัง ให้ลองเอาของที่ตั้งอยู่บนเหนือคานออกแล้วสังเกตดูว่ารอยร้าวมันหยุดหรือไม่ ถ้าหยุดก็แสดงว่าเราเจอสาเหตุ ขั้นตอนต่อไปก็ให้กระจายการวางน้ำหนักให้สมดุลกันทั้งอาคาร แต่ถ้ายังคงร้าวต่ออันนี้ให้คิดไว้ก่อนเลยว่าอาคารของเราก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ก็รีบอพยพชั่วคราวกันก่อนครับ แล้วรีบติดต่อวิศวกรมาดูโดยเร็วที่สุด เพราะอาจจะทำให้อาคารพังได้
 


3.รอยร้าวที่เกิดบนเสา

          รอยร้าวที่เกิดกับเสาก็เป็นอีกตำแหน่งที่ถือว่าอันตรายถึงชีวิตได้ง่าย ถ้าไม่นับรอยแตกลายงา รอยร้าวของเสามักจะเกิดที่หัวเสา อาจจะฉีกออกแค่เสาหรือทั้งคานและเสาก็ได้ อันนี้รีบย้ายออกจากบ้านก่อนเลยครับ แล้วติดต่อวิศวกรผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ เพราะเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน เกิดแรงเฉือนอย่างรุนแรงที่ตำแหน่งหัวเสาเชื่อมกับคานและจะทำให้อาคารทรุดลงมาได้ การแก้ไขมีตั้งแต่เสริมเหล็กรับแรงให้กับเสา ไปจนถึงทุบอาคารทิ้งกันเลย ฉะนั้นถ้าเจอรอยร้าวแบบนี้อย่านิ่งนอนใจอย่างเด็ดขาด

 

 
4.รอยร้าวที่เกิดบนพื้น

          รอยร้าวบนพื้นมักจะมีให้เห็นบริเวณพื้นชั้นล่าง และเป็นพื้นที่วางบนดินหรือที่เรียกว่าพื้นหล่อในที่ โดยสาเหตุเกิดจากการทรุดตัวของดินถมบดอัดที่อยู่ใต้พื้น พอดินที่รับน้ำหนักพื้นทรุดลงก็จะทำให้พื้นทรุดตาม ทำให้เห็นรอยร้าวตามขอบพื้นที่ติดกับคาน การแก้ไข หากกำลังเริ่มทำแบบบ้านให้พยายามทำพื้นแบบวางบนคานไม่ว่าจะเป็นพื้นหล่อหรือพื้นสำเร็จรูปก็ตาม ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดกับบ้านเราอย่างแน่นอน ส่วนคนที่อยู่แบบบ้านเดิมมานานและพื้นทรุดตัวแล้ว อันนี้แก้ยากครับ ง่ายสุดคือทุบพื้นเดิมทิ้งแล้วหล่อใหม่ดีกว่าเป็นยังไงบ้างครับได้รับรู้กันไปพอสมควรสำหรับเรื่องรอยร้าวในตำแหน่งต่างๆ ทั้งที่อันตรายและไม่อันตราย วันไหนว่างๆลองเดินสำรวจรอบบ้านกันดู หรือว่าใครกำลังเจอปัญหานี้พอดีก็จะได้มีแนวทางในการแก้ไขเบื้องต้นได้ครับ
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line