หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

9 พระราชกรณียกิจของในหลวงที่คุณอาจไม่เคยรู้

Line

9 พระราชกรณียกิจของในหลวงที่คุณอาจไม่เคยรู้

Line

             เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยล้วนตระหนักถึงพระราชกรณียกิจมากมายกว่า กว่า 3,000 โครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ รัชกาลที่ 9 หรือในหลวงของเรา แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่านอกจากพระราชกรณียกิจหลักๆ อย่างโครงการฝนหลวง กังหันน้ำชัยพัฒนา ทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังมีพระราชกรณียกิจอีกมากมายที่ชาวไทยอาจไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยรู้ Rabbit Daily ขอร่วมถวายความอาลัยและน้อมนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติ เพื่อเป็นลูกที่ดีของพ่อต่อไป ผ่านการนำเสนอ 9 พระราชกรณียกิจของในหลวงที่คุณอาจไม่เคยรู้

1. พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงพยาบาลปอดเหล็ก
 

 
             ในหลวงทรงเสด็จขึ้นครองราชย์หลังสงครามโลกครั้งที่ ยุติลงเพียง 1 ปี ดังนั้น ในช่วงต้นรัชกาล ประเทศย่อมตกอยู่ในสภาวะวิกฤติทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวยากหมากแพง การกักตุนสินค้า การชดเชยค่าปฏิกรณ์สงคราม หรือแม้กระทั่งโรคระบาดที่คร่าชีวิตชาวไทยอย่างเฉียบพลันเป็นจำนวนมาก โดยโรคระบาดที่รุนแรงในปีพ.ศ. 2493 ได้แก่ วัณโรค โรคเรื้อน โรคโปลิโอ และอหิวาตกโรค อีกทั้งกิจการทางการแพทย์ของไทยยังไม่มีความเจริญก้าวหน้ามากเท่าที่ควร ขาดแคลนทั้งเวชภัณฑ์และยารักษาโรคพระองค์จึงมุ่งเน้นปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านสาธารณสุขก่อน เพราะหากประชาชนสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงก็ไม่มีกำลังและสติปัญญาไปฟื้นฟูประเทศ

             “โดยในหลวงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนมากหรือประมาณ 500,000 บาท (ในสมัยก่อนถือว่าเป็นจำนวนเงินที่เยอะมาก) เพื่อ สร้างโรงพยาบาล “ปอดเหล็ก” และจัดซื้อเวชภัณฑ์เพื่อสู้กับวัณโรคที่กำลังระบาดหนัก พร้อมกับสนับสนุนให้สภากาชาดไทยผลิตวัคซีน BCG ป้องกันวัณโรค จนกระทั่งปราบวัณโรคได้สำเร็จ” (https://www.thairath.co.th/)

2. ทรงเป่าแซ็กโซโฟนตามคำขอ (ทางวิทยุ) หาทุนปราบอหิวาตกโรค
 

 
             สืบเนื่องจากการระบาดอย่างรุนแรงของโรคร้ายต่างๆในช่วงหลังสงครามโลกดังกล่าว ทำให้คนไทยถูกรุมเร้าด้วย โรคเรื้อน และอหิวาตกโรคที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงทรงก่อตั้ง “กองทุนปราบอหิวาตกโรค” โดยให้การสนับสนุนสภากาชาดไทยซื้ออุปกรณ์เพื่อผลิตวัคซีน เครื่องมือวิจัยโรค และทรงหาทุนโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยการ‘เป่าแซ็กโซโฟนตามคำขอ’ มีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนโทรศัพท์มาขอเพลงผ่านวิทยุ อส.ได้ จนเป็นผลให้โรคอหิวาตกโรคหยุดระบาดได้ในระยะเวลาเพียง 1 ปี 5 เดือน (https://www.thairath.co.th/)

3. ฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์เพื่อหาทุนไปบำรุงด้านสาธารณสุข
 



 
             นอกจากพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพแล้ว ในหลวงของเรายังมีความสนพระทัยในการสร้างภาพยนตร์ จนเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘ภาพยนตร์ส่วนพระองค์’ ซึ่งเคยพระราชทานจัดฉายเพื่อหารายได้ช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น สร้างตึกอานันทมหิดลที่โรงพยาบาลศิริราช สร้างตึกวิจัยประสาทที่โรงพยาบาลประสาทพญาไท และพระราชทานทุนวิจัยโรคประสาทให้กว้างขวางมากขึ้น สร้างตึกวชิราลงกรณ์ สภากาชาดไทย อาคารทางการแพทย์ของโรงพยาบาลภูมิพล เป็นต้น (https://www.thairath.co.th/)

4. ทฤษฎีน้ำดีไล่น้ำเสียและเลี้ยงปลาบำบัดน้ำเสีย
 


 
             พระองค์ใช้หลักการทางธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก โดยการใช้น้ำคุณภาพดีมาช่วยขับไล่น้ำเสียออกไป อย่างเช่นการรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่งเข้าไปตามคลองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ และคลองบางลำภู เป็นต้น โดยกระแสน้ำจะไหลไปตามคลองเล็กคลองน้อยที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้าน ดังนั้นเมื่อทำการปล่อยน้ำให้ไหลเวียนจากปากคลองไปปลายคลองได้อย่างเหมาะสม ย่อมจะช่วยเจือจางน้ำเน่าเสียได้มากโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง (สำนักงาน กปร., 2540: 101)

             นอกจากทฤษฎีน้ำดีไล่น้ำเสียแล้วทรงมีพระราชดำริให้ทดลองศึกษาวิจัยดูว่า มีปลาบางชนิดสามารถกำจัดน้ำเสียได้หรือไม่ เพราะปลางเหล่านี้น่าจะเข้าไปกินสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำเสีย ซึ่งปรากฏว่ามีปลาบางชนิดที่มีอวัยวะพิเศษในการหายใจ มีคุณสมบัติเหมาะแก่การเลี้ยงในน้ำเสีย เช่น ปลากระดี่ ปลาสลิดที่ชอบกินสารอินทรีย์จึงช่วยลดมลภาวะทางน้ำ ต้นทุนต่ำ แถมยังเพิ่มผลผลิตทางสัตว์น้ำได้อีกทางด้วย

5. พระราชทานพันธุ์ปลานิล
 


 
             พระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงปลานิลพระองค์แรกในประเทศไทย โดยโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มีบ่อเพาะเลี้ยงปลานิล และมีพันธุ์ปลาพระราชทาน มีบ่อเพาะพันธุ์จำนวน 6 บ่อ สามารถผลิตลูกปลานิลพระราชทานในปี พ.ศ.2538 จำนวน 42,485 ตัว (สำนักพระราชวัง, 2539:25) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้พระราชทานพันธุ์ปลาไปทั่วประเทศ บ่อยครั้งที่ทรงปล่อยปลาลงตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองเพื่อให้มีทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการผสมเทียมสายพันธุ์ปลาหายากอย่างเช่นปลาบึก จนสามารถผสมเทียมปลาชนิดนี้ได้สำเร็จ (สำนักงาน กปร., 2531: 52)

6. พระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาเรื่องหญ้าแฝกคลุมดิน



 
             จากการดำเนินงานตามพระราชดำริในการศึกษาให้ทราบพันธุ์และการปลูกหญ้าแฝกโดยวิธีที่เหมาะสม เพื่อเผยแพร่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เพราะด้วยระบบของหญ้าแฝกที่ฝังลึกลงไปในดินตรงๆ และแผ่กระจายเหมือนกำแพงจึงสามารถช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลผ่านหน้าดิน เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้นของดินไว้ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์หน้าดิน เช่น การปลูกตามพื้นที่ลาดชันหรือบริเวณเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะของหน้าดิน ป้องกันสารพิษลงแหล่งน้ำ เป็นต้น จากพระราชกรณียกิจในครั้งนี้ ทำให้สมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ(International Erosion Control Association: IECA) มีมติถวายรางวัล The International Erosion Control Association’s International Merit Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้ อนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2536 (เว็บไซต์สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

7. ทรงดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนและกองทุนนวฤกษ์
 


 
             นอกจากทุนการศึกษาต่างๆ อย่างทุนอานันทมหิดลที่พระองค์ทรงสนับสนุนให้บุคคลไปศึกษาต่อยังต่างประเทศโดยไร้ข้อผูกมัดแล้ว ยังมีพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาอีกนานัปการ ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น ซึ่งสารานุกรมที่จัดทำขึ้นชุดนี้ มีความแตกต่างจากสารานุกรมชุดอื่นๆ ที่เคยจัดพิมพ์มาแล้ว คือเป็นสารานุกรมอเนกประสงค์ที่บรรจุสาระเรื่องราวต่างๆ ไว้ครบทุกวิชาถึง 4 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ระดับให้ผู้สนใจตั้งแต่เยาวชนไปจนถึงผู้ใหญ่ได้ค้นหาความรู้ที่เหมาะกับตนเอง

             ทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ ในมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่มในการก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท สำหรับที่จะสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้า ให้ได้มีสถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียน โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูสอนในวิชาสามัญต่าง ๆ ที่ไม่ได้ขัดต่อพระธรรมวินัย ตลอดจนช่วยอบรมศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน ทั้งนี้ เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กนักเรียน ได้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาควบคู่กันไป อันจะทำให้เยาวชนของชาติ นอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังจะทำให้มีจิตใจที่ดี ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติต่อไป ในอนาคต (เว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก)


8. พระราชนิพนธ์บทเพลงทั้งหมด 48 บทเพลง
 



 
             เพลงแสงเทียน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2498 ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราชได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ (ขณะดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์) นิพนธ์คำร้องภาษาไทย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแก้ไขทำนองและคอร์ดบางตอน จึงยังไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำออกมาบรรเลงในเวลานั้น ต่อมา ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรก พ.ศ.2490 และใน พ.ศ.2496 นางสาวสดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล) ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ซึ่งถ้านับรวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ตลอดรัชกาลของพระองค์ทั้งสิ้น 48 เพลง ที่แฝงคำสอน ความหมายดีๆ และยังคงไพเราะก้องกังวานอยู่ในใจชาวไทยทุกคนไม่เสื่อมคลาย

9. พระราชกรณียกิจด้านสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์


 
             เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

             คงไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลก ที่ทรงสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อพสกนิกรมากมายถึงเพียงนี้ บัดนี้แม้ว่าในหลวงของปวงชนจะเสด็จสวรรคตแล้ว แต่คำสอนและพระราชกรณียกิจของพระองค์ ยังคงประทับอยู่ในจิตใจชาวไทย ให้ดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท เป็นลูกที่ดีของพ่อสืบไป
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line