หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

วิธีปลูกโหระพา ผักสวนครัวปลูกง่าย ไว้ทำอาหารกินเองที่บ้าน

Line

วิธีปลูกโหระพา ผักสวนครัวปลูกง่าย ไว้ทำอาหารกินเองที่บ้าน

Line
         นอกจากการปลูกต้นไม้ ดอกไม้แล้ว ผักสวนครัวก็ถือเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่คนรักการจัดสวน ไม่ควรพลาด เพราะนอกจากจะช่วยให้บ้านสวยงามแล้ว ยังทำให้เรามีผักสด ๆ ไว้กินฟรี ๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่น โหระพา ผักสวนครัวปลูกง่าย ๆ ดูแลไม่ยาก มากด้วยสรรพคุณ แถมเอาไปต้มยำทำแกงได้หลากหลายเมนู วันนี้กระปุกดอทคอมเลยอยากเอาวิธีปลูกโหระพา วิธีดูแล และโรคที่ควรระวังมาฝากกันค่ะ

 
 
 

ข้อมูลน่ารู้ของโหระพา

          โหระพา มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาและเอเชีย เป็นพืชตระกูลเดียวกับกะเพราและแมงลักที่จัดอยู่ในวงศ์ Labiatae โหระพามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum basilicum L. และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Basil, Sweet Basil และ Thai Basil ซึ่งคำว่า Basil นั้นมาจากภาษากรีก Basileus ซึ่งมีความหมายว่า ราชา หรือ ผู้นำของประชาชน ส่วนในไทยนั้นนอกจากจะเรียกผักสวนครัวกลิ่นหอมชนิดนี้กันว่าโหระพาแล้ว ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่ใช้เรียกกันตามท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วย ได้แก่ ห่อกวยซวย, ห่อวอซุ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) และอิ่มคิมขาว (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)

 

ลักษณะของต้นโหระพา

          โหระพา เป็นพืชล้มลุกอายุสั้น ความสูงประมาณ 40-60 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมและมีขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านเป็นสีม่วงอมแดง มีขนอ่อน ๆ ตามลำต้น  มีกิ่งก้านเป็นทรงพุ่ม ก้านอ่อนสีม่วง-แดง แตกแขนงออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน มีใบแทงออกตามข้อเดี่ยว ลักษณะเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ สีเขียวเข้มมองเห็นเส้นใบชัดเจน ความกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อน และมีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อดอกเรียงเป็นชั้น ชั้นละ 6-8 ดอก ดอกมีขาวอมม่วง ในดอกมีเมล็ดใน 3-4 เมล็ด ลักษณะเมล็ดคล้ายหยดน้ำ ขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม มีเมือกหุ้ม เมื่อนำมาแช่น้ำเมือกจะพองตัวออกคล้ายเมล็ดแมงลัก 

 

วิธีปลูกโหระพา

          โหระพาเป็นพืชที่ปลูกง่าย ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ 1-2 ปี โหระพาจะขึ้นได้ดีในดินร่วนซุยที่มีความอุดมสมบูรณ์และระบายน้ำได้ดีเป็นพิเศษ เหมาะจะปลูกในตอนเย็น ซึ่งต้องทำการเตรียมขุดดินให้ลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร ย่อยให้ละเอียดพร้อมเก็บเศษวัชพืชออกให้เรียบร้อย จากนั้นก็ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วใส่ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมักและปุ๋ยเคมีลงไปให้ทั่ว คลุกให้เข้ากัน เสร็จแล้วก็ลงมือปลูก โดยนิยม 2 วิธี ได้แก่
 
          1. การเพาะกล้าและย้ายปลูก : หว่านเมล็ดแล้วใช้แกลบหรือฟางคลุมพร้อมรดน้ำตามทันที จากนั้นก็หมั่นรดน้ำทุกเช้า-เย็น จนมีอายุ 20-25 วัน จึงทำการถอนกล้าแล้วเด็ดยอดเพื่อย้ายปลูก โดยถ้าปลูกในแปลงควรเว้นระยะให้ห่างประมาณ 20-30 เซนติเมตร ถ้าปลูกในกระถางก็กระถางละ 1-2 ต้น
 
          2. การปักชำโหระพา : ตัดกิ่งโหระพาที่โตเต็มที่หรือยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เด็ดใบออกและเหลือไว้เพียงบางส่วน นำไปปักชำลงในแปลงหรือกระถาง จากนั้นใช้หญ้าแห้งหรือฟางคลุมแล้วรดน้ำตามทันที

 

วิธีดูแลและเก็บเกี่ยว

          โหระพาเป็นพืชที่ดูแลง่าย โตเร็ว ชอบความชื้นสูงและสม่ำเสมอ แดดไม่จัด จึงต้องคอยรดน้ำทุกวัน แต่อย่าปล่อยให้ท่วมขังจนเกินไป อีกทั้งในช่วงแรกควรพรวนดินและกำจัดศัตรูพืชออกทุก 1-2 สัปดาห์ โดยระวังไม่ให้กระทบต้นและราก

          สำหรับการเก็บเกี่ยว ต้นโหระพาสามารถเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูกประมาณ 30-35 วัน โดยใช้มีดคม ๆ ตัดกิ่งให้ห่างจากยอดลงมาประมาณ 10-15 เซนติเมตร สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก ๆ 15-20 วัน ไปจนถึงอายุ 7-8 เดือน

 

 

โรคและแมลงที่ต้องระวัง
          นอกจากวัชพืช เช่น แห้วหมูและผักโขม ที่ต้องคอยระวังและกำจัดแล้ว คนที่ปลูกต้นโหระพาต้องคอยสำรวจตรวจเช็กและใส่ใจดูแลเพื่อป้องกันโรคและแมลงเหล่านี้เอาไว้ด้วย

          - เพลี้ยไฟโหระพา : เป็นเพลี้ยที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืช ทำให้ใบหรือยอดอ่อนหงิก ส่วนขอบม้วนงอ โดยสามารถแก้ไขได้ด้วยการหมั่นสำรวจและติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง เพื่อดักจับตัวโตเต็มวัย

          - เพลี้ยอ่อนฝ้าย : เป็นเพลี้ยที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอด ทำให้มีอาการงอหงิก และชะงักการเจริญเติบโต อีกทั้งยังเป็นพาหะนำไวรัสหลายชนิดมาสู่พืชด้วย โดยจะพบมากในช่วงอากาศแห้งแล้งหรือฤดูหนาว แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการกำจัดวัชพืชเป็นประจำ และถ้าหากพบพืชหงิกงอให้ตัดส่วนนั้น ๆ ออกแล้วนำมาเผาทิ้ง

          - แมลงหวี่ขาวยาสูบ : เป็นแมลงที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบเหี่ยวแห้งและต้นแคระแกร็น อีกทั้งยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคด่างเหลืองอีกด้วย พบมากในฤดูแล้ง สามารถแก้ไขได้ด้วยการหมั่นสำรวจและติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง เพื่อดักจับตัวโตเต็มวัย

          - หนอนแมลงวันชอบใบ : เป็นหนอนที่ชอนไชใบจนทำให้เกิดรอยสีขาว แต่ถ้าระบาดรุนแรงอาจจะทำให้ใบร่วงและตายได้ ส่วนการแก้ไขคือ หมั่นเก็บเศษใบที่ถูกทำลายและร่วงหล่นตามพื้นดินมาเผาทิ้ง จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้

          - หนอนผีเสื้อห่อใบ : เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อที่มักจะปล่อยเส้นใยและกัดกินใบไปเรื่อย ๆ จนถึงยอด

          - โรคราน้ำค้าง : เป็นโรคที่ทำลายใบด้านบนให้เป็นสีเหลือง ส่วนด้านล่างเป็นเชื้อราสีน้ำตาล สามารถแก้ไขและป้องกันด้วยการเลือกใช้เมล็ดที่ปลอดโรค พร้อมทั้งทำความสะอาดเมล็ดให้ดีก่อนปลูก นอกจากนี้อย่าปลูกให้หนาแน่นเกินไป พร้อมทั้งคอยเก็บเศษซากของพืชหลังจากการเก็บเกี่ยวด้วย

          - โรคเหี่ยว : เป็นโรคที่ทำให้ใบดำและเหี่ยวตาย สามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดยากำจัดเชื้อรา

          - โรคใบเน่า : เป็นโรคที่ทำให้ใบเป็นแผล มีน้ำและมีเมือก โดยแผลจะค่อย ๆ ลุกลามไปเรื่อย ๆ จนทำให้ต้นเน่าตาย

          - โรคใบจุด : เป็นโรคที่ทำให้ใบมีจุดสีน้ำตาลเข้มถึงดำ จากนั้นใบโหระพาก็จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทั้งใบ แล้วร่วงหล่นลงตามมาลำดับ
 

ประโยชน์และสรรพคุณของโหระพา
          โหระพาเป็นผักสวนครัวที่มีสรรพคุณมากมาย และนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบ เมล็ด และราก นอกจากปลูกไว้ทำอาหารแล้ว ยังมีคุณค่าทางยาทั้งช่วยในการขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องร่วงแล้ว ยังช่วยให้เจริญอาหาร รักษาโรคหวัด ปวดหัว แก้ไอ และกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย 

          ทั้งปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก สรรพคุณดี และมีประโยชน์มากมายขนาดนี้ ถ้าหากใครยังไม่รู้ว่าจะปลูกผัก ปลูกผลไม้อะไรดี เราขอแนะนำให้ปลูกโหระพาติดบ้านเอาไว้เลย รับรองอร่อยเด็ด มีคุณค่า และใช้ประโยชน์ได้หลากหลายแน่นอน
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หมอชาวบ้าน, พืชเกษตร, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ,
สำนักส่งเสริมและฝึกอบรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมวิชาการเกษตร


 
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line