หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

HOW TO 10 คำถามคนจะสร้างบ้าน ตอบได้หมดเริ่มสร้างได้เลย!

Line

HOW TO 10 คำถามคนจะสร้างบ้าน ตอบได้หมดเริ่มสร้างได้เลย!

Line

       ถ้าเราอยากจะสร้างบ้านสวย ๆ บนที่ดินแปลงงามของเราสักหลังนึง บ้านที่สร้างด้วยเงินที่มาจากน้ำพักน้ำแรง ซึ่งเราเก็บหอมรอมริบมาแทบจะตลอดทั้งชีวิต หรืออาจจะยอมมีหนี้สินก้อนโตที่จะต้องผ่อนอีกหลายสิบปี เราควรต้องทำอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง หรือมีหลักในการตัดสินใจเลือกจากอะไรบ้าง เพื่อให้ได้บ้านที่ตรงกับความฝันและความต้องการของเรามากที่สุด เพราะการสร้างบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปนัก


       เชื่อว่าไม่มีใครอยากตัดสินใจผิดหรือเลือกผิด และคงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า หากเราตั้งใจจะสร้างบ้านแล้วไม่ได้บ้าน แต่กลับได้ความทุกข์หรือปัญหาที่ทำให้ปวดใจ วันนี้..เรามี 10 คำถามที่คุณควรจะต้องตอบ และให้คุณได้ฉุกคิด ได้ไตร่ตรอง เพื่อจะลดหรือหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจสร้างและเลือกไว้วางใจให้ใครเป็นคนสร้างบ้านในฝัน...ของคุณ


       1. งบประมาณค่าก่อสร้างบ้านตั้งไว้เท่าไร?
       เราควรตั้งงบไว้ก่อนเป็นข้อแรก เมื่อคิดจะวางแผนสร้างบ้านหลังใหม่ ต้องรู้ก่อนว่าเงินเก็บที่เตรียมไว้ตามกำลังทรัพย์ที่เรามี หรือความสามารถในการกู้ยืมกับธนาคารจะได้เงินเท่าไร ทั้งนี้เพื่อเราจะได้ว่าจ้างสถาปนิกออกแบบบ้าน หรือเลือกแบบบ้านสวยจากบริษัทรับสร้างบ้านที่ใกล้เคียงกับงบประมาณของเรา นอกจากนี้ เราควรมีเงินสำรองไว้อีกส่วนหนึ่งประมาณ 5-10% สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าออกแบบบ้าน-ค่าออกแบบตกแต่งภายใน,  ค่าสาธารณูปโภค (ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า, ประปา) ค่าธรรมเนียมขออนุญาตกับหน่วยงานราชการ ค่าเดินทาง ค่าขนย้าย ฯลฯ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เมื่อเราเริ่มติดต่อกับผู้รับเหมา/บริษัทรับสร้างบ้าน กระทั่งบ้านที่สร้างแล้วเสร็จและย้ายเข้าอยู่อาศัย ที่สำคัญงบประมาณต้องสอดคล้องกับความต้องการของเรา
 


 

       2. มีข้อมูลของผู้ให้บริการสร้างบ้านมากน้อยแค่ไหน?
       เลือกสร้างกับใครดี จะเลือกผู้รับเหมาหรือบริษัทรับสร้างบ้าน?  ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญมาก ๆ คิดและไตร่ตรองให้ดี ๆ สร้างบ้านทั้งทีควรหาข้อมูลเปรียบเทียบ ตรวจสอบข้อมูลของบริษัท/ผู้รับเหมา ที่เราจะเลือกให้มาเป็นผู้รับสร้างบ้านว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด  มีที่อยู่/สำนักงานอยู่ที่ใด  ข้อมูลพื้นฐานของบริษัท/ผู้รับเหมาต้องตรวจสอบได้ เป็นใคร ชื่อเสียงหน้าตาเป็นยังไง รายใดไม่ชัดเจนตรวจสอบไม่ได้ แนะนำให้ปล่อยผ่านบริษัท/ผู้รับเหมารายนั้นไปเลย เพราะหากข้อมูลเหล่านี้ตรวจสอบไม่ได้ ไม่ชัดเจน คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาจะสร้างบ้านให้คุณได้สำเร็จ มีผลงานสร้างบ้านมาก่อนหรือไม่/มากน้อยเพียงใด มีขั้นตอนการก่อสร้างบ้าน/การบริหารจัดการเป็นอย่างไร วัสดุที่ใช้คุณภาพและราคาสมเหตุสมผลกันหรือไม่ ถ้าจะให้ดีควรทำตารางเปรียบ อย่าเลือกเพราะ Sale 20-30% อย่าลืม! ขอชมผลงานบ้านสร้างจริง ควรชมผลงานทั้งในส่วนงานโครงสร้างและบ้านที่ตกแต่งเสร็จแล้ว มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่รวม/ไม่รวมอยู่ในราคาบ้าน ต้องจ่ายเพิ่มหรือไม่ เปรียบเทียบกันแบบข้อต่อข้อเลยยิ่งดี

 

       3. แบบบ้านที่เลือก ตรงตามความต้องการ และเหมาะสมกับขนาดที่ดินหรือไม่?
       เมื่อตั้งงบประมาณและเลือกบริษัท/ผู้รับเหมาได้แล้ว ก็มาดูแบบบ้านและความต้องการของเรา ทั้งสไตล์แบบบ้าน และพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับแขก ให้พอดีกับสมาชิกในครอบครัว  อาจจะว่าจ้างสถาปนิกออกแบบ มีค่าใช้จ่ายในการออกแบบ หรือหากเลือกผู้รับเหมารายเล็ก อาจจะมีค่าดำเนินการและต้องมาลุ้นว่าบ้านที่สร้างมาจะตรงกับแบบแปลนมั๊ย แต่ถ้าเลือกผู้รับเหมารายใหญ่หรือบริษัทรับสร้างบ้านก็คงไม่มีค่าดำเนินการ เพราะเลือกตามแบบบ้านที่เค้าออกแบบไว้แล้ว โดยเลือกที่ใกล้เคียงความต้องการก่อน แล้วเราจึงขอปรับ-เปลี่ยน-เพิ่ม-ลดแบบบ้านใหตรงกับความต้องการ สิ่งสำคัญต้องไม่ลืม! แบบบ้านที่จะสร้าง ควรออกแบบและจัดวางผังบริเวณให้ถูกต้องตามข้อกำหนดด้านกฎหมายควบคุมอาคารหรือตามเทศบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร
 



 
       4. ก่อนลงนามอ่านทบทวนเอกสาร/สัญญาว่าจ้างละเอียดถี่ถ้วนแล้วหรือยัง?
       ก่อนเริ่มว่าจ้างก่อสร้างควรต้องทำสัญญา เพราะสัญญาก็คือข้อตกลงและถือว่าเป็นพยายเอกสาร ไม่ว่าจะกับผู้รับเหมาหรือบริษัทรับสร้างบ้าน เราก็ควรต้องมีสัญญาจ้างระหว่างกัน ควรหลีกเลี่ยงการว่าจ้างกันด้วยวาจาทุกกรณี เพราะการสร้างบ้านมีรายละเอียดมากมายที่ควรตกลงและระบุกันให้ชัดเจนตั้งแต่แรก เช่น กำหนดเวลาเริ่มต้นก่อสร้างจนถึงวันแล้วเสร็จ งวดงานแต่ละงวดมีกี่งวด การชำระค่าจ้าง เงื่อนไขการจ่าย วัสดุ-อุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างยี่ห้ออะไร-รุ่นใดบ้าง ระยะเวลาการรับประกัน-ซ่อมแซมข้อบกพร่องกี่ปี ค่าปรับการสร้างบ้านล่าช้าจะเป็นเท่าไร (ถ้ามี) ทุกอย่างต้องชัดเจน อ่านสัญญาให้ละเอียดพร้อมลงนามกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่จะตามมาภายหลัง


       5. วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านตรงกับที่ระบุไว้หรือไม่?
       ข้อนี้ก็ต่อเนื่องมาจากสัญญาที่ได้ทำร่วมกันไว้ เมื่อได้เริ่มก่อสร้างก็ต้องตรวจดูวัสดุที่นำมาสร้างบ้านให้เรานั้น ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่  สำหรับข้อนี้เราจะทราบข้อเท็จจริงก็ต่อเมื่อได้เห็นบ้านที่กำลังก่อสร้าง โดยเราสามารถติดต่อกับผู้รับจ้างขอเข้าชมผลงานที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างจริง ว่าใช้วัสดุตรงตามที่ระบุในสัญญาหรือไม่ ข้อสังเกตุคือเมื่อเราขอชมผลงานก่อนตัดสินใจสร้างบ้าน หากผู้รับสร้างบ้านรายใดบ่ายเบี่ยงหรือไม่พาเราไปชมผลงานบ้านที่เสร็จแล้ว นั่นอาจไม่ใช่ผู้รับสร้างบ้านที่น่าเชื่อถือได้ และพึงระลึกไว้ว่า “ของถูกและดีไม่มีในโลก มีแต่ของดีเหมาะสมกับราคา” ราคาต้องไม่แพงหรือถูกเกินจริง เปรียบเทียบราคาที่จ่ายค่าวัสดุ-ค่าฝีมือกับคุณภาพบ้านที่ได้มาว่าคุ้มค่ากันมั๊ย เลือกสรร เลือกใช้กันให้เหมาะกับความต้องการ สร้างบ้านทั้งทีเราจะอยู่อาศัยทั้งชีวิต วัสดุที่ใช้ไม่ใช่อะไรก็ได้ เพราะคุณต้องอยู่อาศัยไปอีกนาน
 


 

       6. เข้าใจถึงระบบ กระบวนการทำงาน งวดงาน/ขั้นตอนการก่อสร้าง แล้วหรือยัง?
       ข้อนี้ต้องดูตั้งแต่ช่วงทำสัญญาให้เข้าใจก่อน และเมื่อถึงขั้นตอนก่อสร้างแล้วเราก็คอยดูให้ตรงตามงวด พร้อมกับตรวจสอบว่าผู้รับหมาหรือบริษัทรับสร้างบ้าน เช่น งวดที่ 3 ชำระ 20 % สำหรับงานมุงกระเบื้องหลังคา,ท่อประปา,ฉาบปูน ตรวจสอบคุณภาพงานเป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ เราถึงจะจ่าย "เงินค่างวด" ให้กับผู้รับสร้างบ้าน หากงานก่อสร้างยังไม่เสร็จหรือเรายังไม่พึงพอใจก็ต้องใจแข็งเข้าไว้ ไม่จ่ายเงินให้กับผู้รับสร้างบ้านง่าย ๆ เพราะหากเรายอมจ่ายเงินแต่ละงวดไปจนถึงงวดสุดท้าย โดยที่งานก่อสร้างยังไม่เสร็จเรียบร้อย ผู้รับสร้างบ้านบางรายอาจทิ้งงานเราได้ (ย้ำ บางราย)  ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยป้องกันปัญหาทิ้งงานหรืองานล่าช้าได้เป็นอย่างดี หรือหากว่าใจไม่แข็งพอก็อาจเลือกวิธีจ้างบริษัทตรวจบ้าน ให้มาเป็นผู้ตรวจงานก่อสร้างในแต่ละงวด ก่อนจะจ่ายเงินให้กับผู้รับสร้างบ้านก็ได้ ในกรณีงานก่อสร้างล่าช้าหรือไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้รับเหมาหรือบริษัทรับสร้างบ้านก็จะต้องจ่ายค่าปรับตามที่ระบุไว้ในสัญญา
 


 

       7. ที่ปรึกษาในการสร้างบ้านจำเป็นต้องมีหรือไม่?
       เจ้าของบ้านส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีความรู้ด้านเทคนิคการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง จึงเป็นโอกาสให้ผู้รับเหมาหรือบริษัทรับสร้างบ้านบางรายฉวยโอกาสจากความไม่รู้นี้ ฉะนั้นหากเราไม่มีความรู้และมีข้อกังวลใจในการสร้างบ้าน ก็ควรหาที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้ ซึ่งอาจจะเป็นวิศกรหรือช่างที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านงานก่อสร้างบ้าน หรือบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำก็มีบริการให้คำปรึกษา เพื่อให้งานก่อสร้างบ้านเป็นไปอย่างราบรื่นและอยู่ในงบประมาณรวมทั้งแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้เรายังสามารถศึกษาและหาข้อมูลได้ด้วยตนเอง ทั้งจากสืบค้นจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ สอบถามจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้ หรือสอบถามกับผู้รับสร้างบ้านให้อธิบายและชี้แจงรายละเอียด คุณสมบัติ ขั้นตอนการทำงานในแต่ละขั้นตอน จนเราเข้าใจในแต่ละขั้นตอนก็สามารถกระทำได้เช่นกัน
 


 

       8. จะเลือกวิธีการชำระเงินแบบใด จ่ายเงินสด หรือใช้สินเชื่อปลูกสร้างบ้าน?
       ข้อนี้ก็มาจากที่ตกลงตามสัญญาอีกเช่นกัน  หากเป็นการชำระเงินสด เราก็จะชำระค่าก่อสร้างตามความคืบหน้าของงวดงานในสัญญาได้เลย เมื่อตรวจงานก่อสร้างผ่านแล้ว (ชำระเงินตาม % ที่ระบุสัญญา)  แต่หากเลือกใช้สินเชื่อปลูกสร้างบ้าน (กู้ธนาคาร) เราสามารถยื่นกู้ได้ด้วยตัวเอง เลือกผ่อนชำระ 20-30 ปีตามต้องการ โดยเตรียมสำเนาโฉนดที่ดิน ใบอนุญาตก่อสร้าง สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง และเอกสารสำคัญตามที่ธนาคารกำหนดให้ครบแล้วติดต่อธนาคารได้เลย หรืออาจเลือกวิธีที่ง่ายกว่านั้น หากเลือกใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านที่เชื่อถือได้ บริษัทก็จะเป็นผู้ดำเนินการและประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ให้แทน การชำระเงินค่างวดงานก่อสร้าง ธนาคารจะชำระโดยตรงให้กับบริษัทรับสร้างบ้านตาม % ที่ระบุในสัญญา โดยเราไม่ต้องมีเงินสำรองจ่ายก่อน เป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า
 


       9. มีการอำนวยความสะดวกก่อน - หลังการขายอย่างไรบ้าง?
       ข้อนี้เป็นออฟชั่นเสริม ผู้รับเหมาหรือบริษัทรับสร้างบ้านที่น่าเชื่อถือจะมีการบริการก่อนและหลังการขาย ทั้งการประสานงานกับหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานอื่น ๆ  เช่น การให้คำปรึกษา การขออนุญาตก่อสร้าง การยื่นขอสินเชื่อ ขอติดตั้งมิเตอร์ประปา-ไฟฟ้า ขอเลขที่บ้าน การรับประกัน/ซ่อมแซม ฯลฯ  ข้อนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการปลูกสร้างบ้าน และเพื่อมั่นใจได้ว่าบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว ผู้รับสร้างบ้านยังดูแลรับผิดชอบหากว่าพบปัญหาหรือข้อบกพร่องภายหลัง
 



 
       10. มีการรับประกันหรือไม่ ยาวนานเท่าไหร่?
       เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว ผู้รับเหมาหรือบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ  จะมีการรับประกันงานก่อสร้างให้กับลูกค้าที่ใช้บริการแตกต่างกันไป โดยจะทั่วไปจะแบ่งเป็น การรับประกันโครงสร้างและการรับประกันงานทั่วไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงตามสัญญาว่ามีขอบเขตในการรับประกันอย่างไรบ้าง อาทิเช่น การรับประกันงานทั่วไป รอยร้าว สีลอกล่อน หลังคารั่ว ในเวลารับประกันอยู่ที่ 2 ปี เราก็มีหน้าที่คอยตรวจสอบว่าบ้านมีรอยร้าว หรือหลังคารั่วหรือไม่ หากมีงานซ่อมแซมที่อยู่ในระยะเวลาการประกันก็สามารถแจ้งให้ผู้รับสร้างบ้านเข้ามาแก้ไขซ่อมแซม ซึ่งข้อนี้ควรถือเป็นคะแนนบวก สำหรับบริษัทหรือผู้รับเหมาที่มีบริการส่วนนี้ ที่เรา...จะตัดสินใจว่าเลือกใช้บริการกับใครดี

       ทั้งนี้เรามีข้อแนะนำทางเลือกที่ดีในการสร้างบ้าน คือเลือกจ้างผู้รับเหมารายใหญ่หรือบริษัทรับสร้างบ้านที่มีชื่อเสียง มีความน่าเชื่อถือ มีที่ตั้งสำนักงานที่ตรวจสอบได้ เป็นที่ยอมรับและรู้จักในวงกว้าง สามารถตรวจสอบ หรือขอเข้าเยี่ยมชมผลงานการก่อสร้างจริงได้ เพื่อให้แน่ใจได้ว่างานก่อสร้างบ้านเราจะเสร็จสมบูรณ์ มีคุณภาพ มาตรฐาน มีการรับประกัน ไม้ทิ้งงาน เพื่อให้คุณได้บ้านพักอาศัยอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะการจะสร้างบ้านสักหลังย่อมหมายถึง ความสุขของเราและคนในครอบครัวที่จะมีความสุขร่วมกันในบ้านหลังใหม่ หลังนี้อีกด้วย
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line