หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

การสร้างบ้านกับพิธียกเสาเอก (ตอนที่ 1)

Line

การสร้างบ้านกับพิธียกเสาเอก (ตอนที่ 1)

Line
ความเชื่อที่สืบทอดต่อๆกันมาจากบรรพบุรุษนั้นมีอยู่ในทุกสังคม สำหรับสังคมไทยก็เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะมนุษย์นั้นมีความกลัวเป็นปมที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกมาแต่กำเนิดจึงต้องหาทางปลดเปลื้องความกลัวนั้นด้วยการพยายามหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

คนในสังคมไทยตั้งแต่บรรพกาลแล้วที่มีความเชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจ เพราะปรากฏการณ์บางอย่างเกิดขึ้นโดยที่คนไม่รู้สาเหตุ ทำให้คนเชื่อว่าเกิดจากการบันดาลของอำนาจที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ซึ่งหมายถึงผี แต่ความหมายของผีในเรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงวิญญาณของคนธรรมดา แต่หมายถึงสิ่งที่เรียกว่าเทพเจ้าในปัจจุบัน...แต่ไม่ใช่เงินนะครับ  

เทพเจ้าในที่นี้หมายถึงอะไรบางอย่างที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่เชื่อกันว่าบันดาลให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆที่ให้คุณให้โทษกับมนุษย์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องพยายามทำให้ผีพึงพอใจโดยการเซ่นบวงสรวง เพื่อให้เกิดความผาสุกแก่ตนและหมู่คณะ ตรงนี้คงลามมาถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันในปัจจุบัน เพราะเห็นมีการติดสินบนกันแทบทุกวงการเพื่อให้ตนและคณะของตนได้ประโยชน์ เช่น ชนะการประมูล ชนะการเลือกตั้ง และอะไรๆอีกหลายอย่างที่ทำให้ตนและพวกหรือพรรคได้รับผลดี เผลอนิดเดียวออกนอกเรื่องเสียแล้วครับ...กลับมาเรื่องผีต่อดีกว่า

ผีที่จะบันดาลสุขทุกข์ให้กับมนุษย์ได้นั้นมีหลายระดับ ระดับแรกได้แก่ผีฟ้าหรือพญาแถน ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในหมู่ผีทั้งหลาย แล้วก็มีผีป่า ผีปู่ผีย่าหรือผีบรรพบุรุษ จนถึงผีประจำถิ่น ลดหลั่นลงมา ภายหลังยังแตกสาขาเป็นผีเล็กผีน้อยอีกมากมาย จนปัจจุบันมีกระทั่งผีขนุน เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีลัทธิความเชื่อที่บูชาเทพเจ้าแพร่หลายเข้ามาในเมืองไทยคือ ลัทธิพราหมณ์-ฮินดู จึงทำให้คนไทยในยุคนั้นยอมรับลัทธินี้เพราะสอดคล้องกับความเชื่อเดิมของตน ลัทธิพราหมณ์-ฮินดูเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้ามีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง โดยมีพระพรหม-ผู้สร้าง พระวิษณุ-ผู้รักษา พระศิวะ-ผู้ทำลาย ซึ่งรวมเรียกว่าตรีมูรติ เมื่อความเชื่อสอดคล้องกันเช่นนี้ จึงทำให้ลัทธิพราหมณ์-ฮินดูครอบงำความคิดความเชื่อของคนในสังคมไทยในขณะนั้น จนกระทั่งเมื่อมีพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามา จึงได้มีการหันไปให้ความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนากันมากขึ้น จนในที่สุดมีการผสมผสานความเชื่อในทางพระพุทธศสานากับการนับถือเทพเจ้าและภูตผีเข้าด้วยกัน เรา...จึงเห็นวัดวาอารามควบคู่ไปกับศาลพระภูมิและศาลผี ในขณะเดียวกันการทำพิธีในชีวิตประจำวันของคนไทย ก็ยังคงยึดหลักทั้งของพุทธศาสนาและของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้าด้วยกัน ดังเช่น...พิธียกเสาเอกในการสร้างบ้าน

พิธียกเสาเอกในการสร้างบ้านเป็นความเชื่อของคนไทยที่สืบทอดกันมานานแล้ว โดยเชื่อว่าการยกเสาเอกหรือเสาต้นแรกของอาคารบ้านเรือน ตามฤกษ์ที่กำหนดไว้นั้นจะทำให้งานก่อสร้างมีความราบรื่น ไม่มีปัญหาอุปสรรค เมื่อเข้ามาอยู่ในบ้านแล้วจะอยู่เย็นเป็นสุข เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย พิธียกเสาเอกเป็นลักษณะของความเชื่อแบบพุทธผสมพราหมณ์ เพราะบางส่วนก็นิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีและเจริญชัยมงคล ในขณะเดียวกันก็มีการบูชาเทวดา ผีป่าและผีเจ้าที่เจ้าทางด้วย

เขียนมาถึงตรงนี้ก็เกิดสงสัยว่าเมื่อเริ่มก่อตั้งประเทศไทย คงไม่ได้มีการยกเสาเอกกระมัง บ้านเมืองจึงวุ่นวายไม่จบสิ้น เอาไว้ตอนต่อไปจะพูดถึงการทำพิธียกเสาเอกในรายละเอียดครับ
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line