หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

“เชื้อดื้อยา” ปัญหาสุขภาพที่ต้องเร่งแก้ไข

Line

“เชื้อดื้อยา” ปัญหาสุขภาพที่ต้องเร่งแก้ไข

Line

เคยไหมที่แค่เป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อน ก็เดินไปซื้อยาที่ร้านขายยา ?

เคยไหมที่แพทย์หรือเภสัชกรบอกให้กินยาให้หมด แต่ก็กินไม่หมด ?

เคยไหมที่ไปพบแพทย์แล้วก็ขอฉีดยาเพราะอยากหายเร็ว ?

           แล้วรู้หรือไม่ องค์การอนามัยโลกพบว่า มากกว่า 50% ของการใช้ยาในประเทศกำลังพัฒนาเป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมและสูญเปล่า เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะทั้งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ การสั่งใช้ยาไม่เป็นไปตามแนวทางรักษา ฯลฯ โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมกำลังสร้างความเสียหายทั้งในระดับโลกและระดับประเทศอย่างมหาศาล

            ผศ.ดร.กำธร มาลาธรรม คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า มีการคาดการณ์โดยนักวิชาการของยุโรปว่า สถานการณ์ทั่วโลกในช่วงประมาณปี 2593 ในทุก ๆ 3 วินาทีจะมีคนเสียชีวิตเพราะเชื้อดื้อยา 1 คน หรือประมาณ 10 ล้านคนต่อปี โดยครึ่งหนึ่งจะอยู่ในทวีปเอเชีย ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.5 พันล้านล้านบาท
ปัญหาเชื้อดื้อยา สูญเสียมากกว่าที่คิด

           ถ้าคิดเป็นอัตราการตายจากเชื้อดื้อยาต่อประชากร 1 แสนคน พบว่า อเมริกาตาย 5.3 ต่อประชากร 1 แสนคน ยุโรปตาย 5 ต่อประชากร 1 แสนคน แต่ไทยอยู่ที่ 28.3 ต่อประชากร 1 แสนคน มากกว่าอเมริกาและยุโรปประมาณ 6 เท่า

           จากการเก็บข้อมูลยังพบอีกว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 20,000-38,000 คน และมีผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าปกติเพราะเชื้อดื้อยา ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 46,000 ล้านบาท

 

 
          ภญ.นิธิมา สุ่มประดิษฐ์ จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า 30 ปีที่ผ่านมา วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก มีคาร์บาพีเนมส์ (Carbapenems) ซึ่งเป็นยาสุดท้ายที่จะใช้ได้ผลในการรักษาโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงอย่างสูง แต่ปัจจุบันเราก็ยังมีคาร์บาพีเนมส์ตัวเดิมใช้อยู่ สรุปแล้ว 30 ปีที่ผ่านมาที่เชื้อดื้อยารุนแรงมากขึ้น แต่เราไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใหม่ออกมาเลย แสดงให้เห็นถึงวิกฤต เหตุผลคือบริษัทยาบอกว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุนศึกษาวิจัยยาเหล่านี้ เพราะพอเชื้อดื้อยา ขายไม่ได้ เขาก็ทำกำไรไม่ได้ เขาก็หันไปลงทุนกับยาเบาหวาน ยาความดันแทน
ปัญหาเชื้อดื้อยา ไม่ได้มีแค่ในคน ยังรวมถึงในสัตว์ด้วย

           ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ที่เกาะติดประเด็นนี้มานาน กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์การใช้ยาปฏิชีวนะมีความซับซ้อนขึ้น เพราะไม่ได้ใช้ในคนเท่านั้น แต่เกษตรกรยังนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในพืชและสัตว์ด้วย เช่น ส้ม กุ้ง ปลา หมู ไก่ เป็นต้น ทำให้การสื่อสารเรื่องนี้ยากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กพย. ได้ทำงานอย่างเข้มแข็งในการสั่งสมข้อมูลวิชาการ สร้างความเข้าใจ สร้างเครือข่าย สร้างการสื่อสารเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายกับกลุ่มคน คอยเฝ้าระวัง และชี้ปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
 

 
โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่งต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล โดยเฉพาะใน 3 โรคพื้น ๆ อย่างไข้หวัด ท้องเสีย และแผลสะอาด จะไม่มีการจ่ายยาปฏิชีวนะ
           มีการเฝ้าระวังการจ่ายยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายที่ อย. ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ยากลุ่มรักษาวัณโรค (Antituberculous drugs) ชนิดรับประทานและชนิดฉีดที่ใช้สำหรับมนุษย์ ตอนนี้ขึ้นทะเบียนเป็นยาควบคุมพิเศษหมดแล้ว ต้องเป็นแพทย์จ่ายเท่านั้น นอกจากในคนแล้ว ยังมีการดำเนินการในยาของสัตว์ด้วย ต้องมีใบสั่งยาจากสัตวแพทย์ จะซื้อใช้เองไม่ได้

 

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :กลุ่มงานพัฒนาและขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

ภาพ :freepik
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line