หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

บ้านสุขภาพดี...สู้ Covid 19

Line

บ้านสุขภาพดี...สู้ Covid 19

Line

องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าร้อยละ 30 ของบ้านใหม่หรือที่มีการปรับปรุงจะพบกลุ่มอาการป่วยที่มีสาเหตุจากบ้าน  ขณะเดียวกันพบว่า ร้อยละ 20-35 ของผู้อยู่ในบ้านที่ไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศภายในบ้าน สามารถพบอาการของกลุ่มอาการป่วยจากบ้านได้เช่นกัน และผู้อยู่อาศัยในบ้านเก่าๆจะปรากฏอาการมากกว่า บ้านใหม่  

มาตรวัดบ้านสุขภาพดี(Healthy Home Barometer)[1]ได้กำหนดให้มีองค์ประกอบ 8 ด้าน คือ แสงแดด คุณภาพอากาศ-อุณหภูมิภายในบ้านที่ดี ความชื้น ขนาดของบ้าน การปรับปรุงบ้าน ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน และคุณภาพในการนอนหลับ ซึ่งเราจะพบว่าเป็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม 5 เรื่อง  เป็นปัจจัยด้านสังคม2เรื่อง และปัจจัยด้านเศรษฐกิจ 1 เรื่อง
 

โรคตึกเป็นพิษ หรือ Sick Building Syndrome (SBS)[2]  คือ ภาวะผิดปกติด้านสุขภาพทางตา จมูก ลำคอ การหายใจส่วนล่าง ผิวหนังและอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นคล้ายกัน ในกลุ่มคนที่อยู่ในบ้าน โดยไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่นอนได้ ปัญหาอาจเกิดขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านหรือกับทุกส่วนของบ้านก็ได้ โดยอาการป่วยดังกล่าวเป็นอาการที่ไม่มีลักษณะเฉพาะโรค มักเกิดในบ้าน แต่อาการจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อออกนอกบ้าน  โรคSBS อาการที่เพิ่มขึ้น ยังสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากปัจจัยภายในบ้าน พื้นลามิเนทอาจทำให้เกิดการสัมผัสกับสารเคมีมากขึ้นและส่งผลให้เกิดอาการ SBS มากขึ้นเมื่อเทียบกับกระเบื้องและพื้นซีเมนต์   อาการที่เพิ่มขึ้น เกิดจากงานตกแต่งที่เพิ่งเสร็จ ความชื้นและปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีสัตว์เลี้ยงและแมลงสาบ  การมียุง ยังเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ชัดเจนว่ามันเป็นเพราะการมียุงหรือการใช้สารไล่ยุง   

1.อาการ        
1.1.ผู้อาศัยมีอาการไม่สบายอย่างเฉียบพลัน เช่น ปวดศีรษะ ระคายเคือง ตา จมูก หรือลำคอ จาม น้ำมูกไหล คันตามผิวหนัง หน้ามืด คลื่นไส้ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ไวต่อกลิ่นมากขึ้น หดหู่ อ่อนเพลีย ง่วงนอน       
1.2.โรคภูมิแพ้อยู่แล้ว อาการแพ้จะกำเริบมากขึ้น ที่พบบ่อยคือ แพ้ไรฝุ่น เชื้อรา เชื้อจากแมลงสาบ ทำให้มีอาการไอ จามที่รุนแรงขึ้นจนถึงขั้นหอบ  

2.สาเหตุ        
ปัญหาเหล่านี้มักเกิดขึ้นมาหลังจากได้มีการใช้บ้านแล้ว  ซึ่งอาจเป็นเพราะการออกแบบบ้านที่ไม่ดีมาตั้งแต่แรก หรือการมีระบบดูแลรักษาบ้านที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ แต่อีกเหตุผลที่เป็นไปได้คือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในบ้านเองก็มีส่วนทำให้อะไร ๆ ดูแย่ลงได้            
2.1.อากาศถ่ายเทไม่เพียงพอ โดยเฉพาะระบบปรับอากาศและระบายอากาศ ทำให้ปริมาณอากาศภายนอกที่เข้าไปแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกับอากาศภายในบ้านลดลง  
2.2.มีสารเคมีฟุ้งกระจายภายในบ้านในปริมาณสูง แหล่งของสารเคมีที่พบบ่อยคือ กาว น้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนประกอบของสารฟอร์มาลดีไฮด์ การทำงานเกี่ยวกับอุปกรณ์หรือวัสดุที่เป็นไม้ เครื่องถ่ายเอกสาร ปริ๊นเตอร์ ยาฆ่าแมลง ควันบุหรี่ในบ้าน เตาอบที่ใช้แก๊ส รวมถึงสารระเหยจากสีทาผนัง ไม้อัด สารเคลือบเงาทั้งหลายหรือรังสีจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตาไมโครเวฟ  สารเคมีจากภายนอกอาคาร เช่น ก๊าซจากรถยนต์หรือจักรยานยนต์ ควันจากการปรุงอาหารประกอบกับการถ่ายเทอากาศภายในที่ไม่เพียงพอ        สารชีวภาพ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส รา ละอองเกสร มูลนก สารเหล่านี้มักปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ฝ้าเพดานที่ขึ้น ฝุ่นในพรม เชื้อโรคจากมด ปลวก และแมลงสาบ นอกจากนี้อาจเป็นเพราะคนในบ้านแออัดมากเกินไป แล้วไอหรือจามไว้ทำให้เชื้อโรคกระจายเวียนวนอยู่ในตึก    

3.แนวทางแก้ไข  
3.1 กำจัดแหล่งสารปนเปื้อน จัดระบบบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ และระบบระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ ทำความสะอาดไส้กรองอากาศอยู่เป็นประจำ ทำความสะอาดพรมหรือเพดานที่ขึ้น เก็บสารระเหยอย่างมิดชิดไว้ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท และเปิดใช้ในช่วงเวลาที่ไม่มีคนทำงาน หากเป็นบ้านใหม่ ควรมีช่วงเวลาที่ให้อากาศหรือก๊าซจากการตกแต่งระเหยออกไปก่อนเข้าใช้บ้าน กำหนดบริเวณในการสูบบุหรี่ซึ่งต้องมีอากาศถ่ายเทได้             
3.2 ลดปริมาณมลภาวะทางอากาศ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นต้นกำเนิดของไอระเหยที่เป็นพิษให้น้อยที่สุด (ค่า VOCs ต่ำ) หรือเลือกวัสดุอื่นทดแทน เช่น ใช้สีทาผนังแบบที่ไม่มีโลหะหนักผสม ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้จริง หรือใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้อัดแบบที่ปล่อยไอระเหยน้อยกว่าปกติ        3.3 ควบคุมสิ่งแวดล้อมในบ้านให้มีอากาศหมุนเวียน ให้มีอากาศหมุนเวียนจากภายนอกบ้านบ้าง ควรให้แสงแดดส่องเข้ามาในห้อง หรือเปิดหน้าต่างตอนที่ปิดแอร์ เพื่อให้อากาศที่ค้างอยู่ในตึกระบายออกไป เพิ่มระบบการถ่ายเทอากาศ โดยเฉพาะบริเวณที่มีสารเคมีระเหยออกมาได้ เช่น ห้องน้ำ ห้องถ่ายเอกสารหรือห้องที่มีปริ๊นเตอร์ ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องกำจัดกลิ่นควัน  
3.4 ทำความสะอาดบ้าน เครื่องเรือน ดูดฝุ่น ตามพรม หรือซักผ้าม่านให้บ่อยขึ้น เพื่อไม่ให้มีไรฝุ่นเกาะสะสม เครื่องปรับอากาศ ไม่ควรมีน้ำรั่ว จะเกิดเชื้อราตามพื้น ฝาผนัง ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดถูตามพื้นบ้านและเครื่องเรือนใช้น้ำยาพ่น กำจัดเชื้อรา ไวรัส และแบคทีเรีย หลังเวลาใช้งาน
 

 
3.5 ลดภาวะเสียงรบกวนเสียงที่ดังเกิน 85 เดซิเบลถือว่าเป็นอันตรายต่อหู โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ติดกับริมถนนใหญ่ หรือใกล้แนวทางขึ้น-ลงของเครื่องบิน ติดสถานีรถไฟก็อาจจะต้องเผชิญกับภาวะทางเสียงเหล่านี้อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้ก็คือ การออกแบบให้ผนังบ้านมีความหนามากกว่าปกติ หรือก่อผนังสองชั้น กรุฉนวนหรือแผ่นดูดซับเสียง ก็จะช่วยป้องกันเสียงรบกวนภายนอกไม่ให้เข้ามายังพื้นที่ภายในบ้านได้ดีขึ้น 

3.6 หลีกเลี่ยงการตากผ้าเปียกในบ้าน       ไม่ควรทิ้งขยะค้างคืนไว้ในสำนักงานเพราะจะเป็นอาหารของแมลงสาบ
    
3.7 หาต้นไม้ในร่มมาปลูก ตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ในห้องเพื่อช่วยฟอกอากาศ และลดปริมาณสารพิษ ยิ่งถ้าเป็นไม้ประดับที่ดูดสารพิษได้ก็ยิ่งดี
 

4.ข้อแนะนำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ..บ้านสุขภาพดี 
4.1 โครงสร้างบ้านปลอดภัย อยู่สบายใจ ไร้กังวล บ้านที่ดี ต้องเป็นบ้านที่อยู่แล้วรู้สึกปลอดภัย ไม่วิตกกังวลว่าจะเกิดปัญหาภายหลัง การสร้างบ้านทุกหลังควรมีการออกแบบโครงสร้างหลักที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เพื่อการรับน้ำหนักที่ถูกต้อง ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เช่น บ้านเอียง ดินทรุด เพดานถล่ม ผนังร้าว ฯลฯ เป็นต้น ความแข็งแรงของบ้านจึงถือเป็นหัวใจหลักของการมีชีวิตที่ดีและปลอดภัย
 

 
4.2 วางผังบ้านและสวน เพื่อสุขภาพแข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บของคนในบ้านส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้เมื่ออยู่ในที่แออัด อากาศไม่บริสุทธิ์ รับมลพิษจากขยะ หรือควันรถที่ใกล้ตัวบ้านมากไป ดังนั้นหากวางตำแหน่งบ้านและสวนในที่ดินจึงช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพได้ บ้านที่ดีควรอยู่ห่างจากถนน สร้างตัวบ้านให้อยู่ด้านใน ยกเว้นเมื่อต้องการทำการค้าติดถนน ควรแบ่งโซนให้ชัดเจนและปลูกต้นไม้เพื่อช่วยกรองมลพิษที่มาทางอากาศ บ้านที่ดีไม่ควรแออัดเกินไป ออกแบบให้มีจุดรับอากาศทุกห้องของบ้าน รอบๆ บ้านมีต้นไม้เพื่อช่วยเพิ่มออกซิเจน และมีพื้นที่สำหรับการเดินเล่น ออกกำลังกาย จะช่วยให้คนในบ้านแข็งแรงขึ้น มากกว่าจะสร้างอาคารเต็มพื้นที่ แม้จะมีพื้นที่น้อยก็ควรจัดให้มีพื้นที่สีเขียวด้วยเสมอๆ

 
4.3 .เชื้อราตามมุมบ้าน                    
ที่อยู่อาศัยแบบปัจจุบัน เอื้ออำนวยต่อการเกิดของเชื้อรามาก เพราะเชื้อราแพร่ได้เร็วบนไม้ ผนัง และวอลล์เปเปอร์ ยิ่งปัจจุบันบ้านส่วนใหญ่สร้างแบบปิดทึบเพื่อให้เครื่องทำความเย็นหรือร้อนทำงานได้ดี ก็ยิ่งทำให้ในบ้านเกิดความชื้นสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการภูมิแพ้ของคนถึงหนึ่งในสาม และอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้นหากคนนั้นเป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เชื้อราทุกชนิดจะเป็นอันตราย Dr. David Zhang นักวิจัยทางชีววิทยากล่าวว่า มีเชื้อราเพียง 50 จาก 100,000 ชนิดเท่านั้น ที่ถูกประกาศว่ามีอันตราย สำหรับการดูแลเรื่องเชื้อราในบ้าน คุณควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบ โดยเฉพาะเพื่อพบข้อบ่งชี้ที่มองเห็นได้อย่างการเปลี่ยนสี การหลุดลอก ไปจนถึงกลิ่นอับ รวมถึงหากคุณมีอาการทางสุขภาพอย่างมีน้ำมูก ไอ ตาแห้ง มีผื่น คุณก็ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูเรื่องเชื้อราในบ้านเหมือนกัน
 
4.4 สารเคมีในบ้าน 
4.1.Phthalates หรือพาทาเล็ท  สารนี้เคยมีการนำมาศึกษา และพบว่า เด็กชายที่เกิดจากมารดาที่มีระดับสารพาทาเล็ทมาก มีความผิดปกติที่อวัยวะเพศ สารเคมีดังกล่าวไปรบกวนฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้มีการพัฒนาของหน้าอก นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม ก็มีระดับสารชนิดนี้สูงกว่าหญิงที่ไม่เป็นมะเร็ง สารพาทาเล็ท เป็นสารที่เราพบได้มากมายในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ ทั้งพื้นบ้าน ม่านห้องน้ำ หนังสังเคราะห์ และผลิตภัณฑ์พวก PVC ไวนิล สารพาทาเล็ท ทำให้พลาสติกมีความยืดหยุ่น นอกจากนั้น ยังเป็นสารที่นำไปใช้ในผลิตภัณฑ์จำพวกสี เช่น ยาทาเล็บ สี น้ำยาเคลือบเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งยังพบสารพวกนี้ ในบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นจำนวนมากด้วย วิธีการหลีกเลี่ยงก็คือการไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ไวนิล และเก็บอาหารไว้ในภาชนะแก้ว หรือสแตนเลสสตีล
 

 
4.2.Flame retardants หรือสารหน่วงการติดไฟ  เป็นสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อไทรอยด์ และการเจริญพันธุ์ของเพศหญิง และเนื่องจากไทรอยด์นั้น มีผลต่อสมอง ดังนั้น สารชนิดนี้ จึงมีผลกระทบต่อระดับไอคิวของเด็กด้วย สารชนิดนี้ พบได้ในเฟอร์นิเจอร์ พรม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้กับเด็ก เช่นหมอนให้นม ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า ผลิตภัณฑ์หลาย ๆ อย่างในบ้าน ที่ทำงาน และในรถ มีสารชนิดนี้เป็นส่วนประกอบ อีกทั้งยังพบว่า สารดังกล่าวนี้มีอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ อย่างคอมพิวเตอร์ ทีวี โทรศัพท์มือถือ และเครื่องเล่นวีดีโอเกม วิธีการหลีกเลี่ยงก็คือ ดูดฝุ่น ทำความสะอาดบ่อย ๆ จริง ๆ แล้วเราแทบไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารนี้ได้ จึงควรพยายามลดการแพร่กระจายของมัน เพราะสารนี้ จะออกมาจากฝุ่นในเฟอร์นิเจอร์ พรมปูพื้นรถ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการชำรุด
 
4.3 .Lead หรือสารตะกั่ว  เป็นเวลานานแล้วที่สารตะกั่วนั้นส่งผลต่อสุขภาพของเรา และทุกวันนี้ ก็มีการวิจัยพบว่าอันตรายจากสารตะกั่วนั้นเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อฮอร์โมน และความเครียดของคนเราด้วย สารตะกั่วนั้นเป็นโลหะพิษที่ปนเปื้อนอยู่ทั้งในน้ำดื่มที่ไหลผ่านท่อน้ำเก่า และน้ำในแทงก์น้ำ แม้จะผ่านการกรองแล้วก็ตาม การหลีกเลี่ยงนั้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่า ซึ่งดูดซับสารตะกั่วไว้ในปริมาณน้อย และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยนั้น หากเป็นบ้านเก่า ก็ควรได้รับการปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องใช้ เพื่อการอุปโภคและบริโภค
 
4.4 VOCs   หรือ Volatile Organic Compounds คือ สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ส่วนใหญ่มักใช้เป็นสารประกอบและสารตัวทำละลายในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่อยู่ในรูปของเหลวที่มีองค์ประกอบของคาร์บอนอินทรีย์ สามารถระเหยเป็นไอได้ง่ายในอุณหภูมิห้องและความดันปกติ เนื่องจากมีจุดเดือดต่ำและไวไฟ เมื่อระเหยสู่บรรยากาศ สามารถคงตัวอยู่ในอากาศได้เป็นระยะเวลานาน และสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งในอากาศ ดิน และน้ำ เราสามารถพบสาร VOCs ในชีวิตประจำวันของเราได้จาก อุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ  และจากผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น สีและกาว เครื่องหนัง ยากำจัดศัตรูพืช  น้ำหอม  สเปรย์ดับกลิ่น  ยาและเวชภัณฑ์ สีทาบ้าน, เคมีภัณฑ์ก่อสร้าง, น้ำยาซักแห้ง, สีและน้ำยาดัดผม, สารฆ่าแมลง, สารที่เกิดจากเผาไหม้ และจากควันไอเสียรถยนต์อีกด้วย  เราสามารถพบไอระเหย VOCs จากการใช้สารเป็นตัวทำละลายในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากที่สุดถึง 29% รองลงมาคือจากยานพาหนะ 28%

ผลกระทบต่อสุขภาพ          สาร VOCs สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ สัมผัสทางการหายใจ การกิน หรือกลืนเข้าไป และการสัมผัสทางผิวหนัง ซึ่งผลกระทบของสารอินทรีย์ระเหยต่อสุขภาพมีหลายด้านขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณสารอินทรีย์ระเหยนั้นๆ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการกดประสาทหลายอย่าง ได้แก่ การง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ ซึมเศร้า หรือหมดสติได้ เมื่อสูดหายใจเข้าไปจะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจเกิดการอักเสบของเยื่อเมือก และทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังและตา ถ้าได้รับสารชนิดนี้ติดต่อเป็นระยะเวลานาน จะเป็นอันตรายต่อตับและไต สารอินทรีย์ระเหยบางชนิด อาจมีผลต่อระบบพันธุกรรม ระบบฮอร์โมน ระบบสืบพันธุ์ และระบบประสาท และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ เป็นต้น

5.จัดบ้านให้สุขภาพดี
5.1 จัดมุมห้องให้ผ่อนคลาย ไม่เมื่อยสายตา ในส่วนของพื้นที่ที่ต้องใช้สายตาในการจ้องมองเป็นพิเศษ เช่น มุมห้องนั่งเล่นที่ต้องนั่งดูโทรทัศน์นานๆ พื้นที่ห้องทำงาน หรือมุมพักผ่อนส่วนตัว ควรมีการจัดเรื่องของแสงสว่างให้เหมาะสมและเพียงพอโดยไม่ทำให้สายตาเมื่อยล้า โดยควรหลีกเลี่ยงจากแสงภายนอกที่ส่องย้อนเข้ามาสู่ดวงตาโดยตรง จึงควรออกแบบให้ผนังด้านหลังที่วางโทรทัศน์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นผนังแบบทึบที่ปราศจากแสงส่องผ่านเข้าสู่ดวงตา แต่หากจำเป็นที่ต้องจัดวางในมุมนั้นก็ควรติดผ้าม่านเพิ่มเติมเพื่อบดบังแสงสว่างไม่ให้ส่องจ้าจนเกินไป
5.2 จัดแสงสว่างอย่างพอดี  ในบริเวณตามพื้นทางเดิน โถงบันได หรือภายในห้องน้ำที่เป็นมุมอับของบ้าน ควรมีการจัดให้มีแสงสว่างจากธรรมชาติอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยทำให้พื้นที่บริเวณนั้นดูสว่างอย่างทั่วถึงโดยไม่จำเป็นต้องใช้แสงสว่างจากไฟฟ้า และที่สำคัญยังสามารถช่วยลดการเกิดกลิ่นอับชื้นได้เป็นอย่างดี
 

 
5.3 โทนสีสบายตา การแต่งเติมโทนสีสดใสภายในบ้านอาจทำให้รู้สึกสดชื่นและไม่น่าเบื่อ แต่หากอยากมีบ้านที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและสบายตา การเลือกใช้โทนสีอ่อนๆ อย่างสีพาสเทล สีเอิร์ธโทนที่ดูอบอุ่น หรือสีคุมโทนภายในพื้นที่ต่างๆ ของบ้าน ก็จะช่วยให้บรรยากาศภายในบ้านดูน่าพักผ่อนมากยิ่งขึ้น   
5.4 ลดเสียงก้องในบ้าน สำหรับบ้านไหนที่มีความโปร่งโล่งเป็นพิเศษ หรือเป็นบ้านที่เพิ่งได้รับการสร้างเสร็จใหม่ๆ อาจเกิดเสียงก้องที่สะท้อนไปมาตามผนังจนทำให้รู้สึกรำคาญ สามารถแก้ไขได้ด้วยการนำวัสดุประเภทงานผ้า อย่างผ้าม่าน หรือวัสดุที่ดูดซับเสียงมาตกแต่งพื้นที่ภายในบ้าน ก็จะช่วยทำให้ปัญหาเสียงเหล่านั้นหมดไปได้ทันที
5.5 กลิ่นผ่อนคลายเพื่อสัมผัสสบาย  นอกจากบ้านที่สะอาดแล้ว กลิ่นหอมๆ ภายในบ้านที่ให้ความรู้สึกสบายยังมีผลต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพียงออกแบบบ้านโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้มีมุมอับชื้น จัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบ จัดวางหน้าต่างเพื่อให้มีอากาศถ่ายเทและหมั่นทำความสะอาดบ้านเป็นประจำทุกวัน ก็สามารถช่วยลดการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความหอมให้กับบรรยากาศภายในบ้านได้ง่ายๆ ด้วยการสร้างกลิ่นหอมอ่อนๆ อย่างการใช้สเปรย์กลิ่นดอกไม้จากธรรมชาติ น้ำมันหอมระเหย ก็สามารถช่วยสร้างบรรยากาศพิเศษให้กับการอยู่อาศัยภายในบ้านได้อย่างน่าประทับใจ
5.6 สีสันธรรมชาติ  เพราะบรรยากาศเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่อาศัย ดังนั้นการทำให้บ้านดูผ่อนคลายและรู้สึกสบายที่สุดจึงควรมาพร้อมสัมผัสจากความเป็นธรรมชาติ โดยอาจนำต้นไม้สีเขียวๆ ในกระถางใบเล็กมาจัดวางตามมุมห้องต่างๆ หรือเปิดหน้าต่างให้ได้รับแสงสว่าง สัมผัสเสียงลมใบไม้บ้าง ก็ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น
 
5.7 เย็นกาย สบายใจ สภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกสบายของคนเรามักอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 22-27 องศาเซลเซียส ซึ่งพื้นที่ในบ้านเมืองเราจำเป็นต้องอาศัยสภาพแวดล้อมจากร่มเงาของต้นไม้ รวมไปถึงการออกแบบบ้านให้มีช่องบานเปิดทางทิศเหนือและใต้เพื่อให้ลมสามารถพัดผ่านได้ นอกจากนี้การติดฉนวนกันความร้อนบนผนังและฝ้าเพดาน การใช้กระเบื้องดินเผาธรรมชาติที่ลานนอกบ้าน หรือใช้กระเบื้องแกรนิตโต้ภายในบ้านก็ช่วยเพิ่มความรู้สึกเย็นสบายได้เป็นอย่างดี 5.8 บ้านนี้ไม่มีฝุ่น ฝุ่น และ ไรฝุ่น นับเป็นตัวการร้ายที่ทำลายสุขภาพ หากต้องอยู่ในสภาวะท่ามกลางบ้านที่เต็มไปด้วยฝุ่นนานๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ตามมาได้ ทางที่ดีจึงควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุไม้ หรือหนังเป็นส่วนใหญ่ หรือตกแต่งด้วยผ้าม่านและพรมที่เป็นผ้าสังเคราะห์แทนการใช้ผ้าฝ้าย ที่สำคัญยังควรหมั่นทำความสะอาดบ้านด้วยการปัดกวาดฝุ่นเป็นประจำ ก็จะช่วยลดการสะสมฝุ่นลงได้



ขอขอบคุณข้อมูลโดย TerraBKK.com
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line