หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

สัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้าน ตอนที่ 2

Line

สัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้าน ตอนที่ 2

Line
สัญญาเป็นนิติกรรมประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากการตกลงระหว่างบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป ที่แสดงเจตนาก่อให้เกิดผลผูกพันตามกฎหมายตามที่คู่สัญญาประสงค์ สาระสำคัญของสัญญาจึงต้องมีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป ต้องการแสดงเจตนาที่ถูกต้องตรงกัน และมีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดผลผูกพันในทางกฎหมาย

สัญญาประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญคือ บุคคลหรือคู่สัญญา หมายถึงบุคคลที่เป็นผู้ลงมือทำสัญญาและบุคคลที่ต้องรับผลของสัญญา ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ องค์ประกอบต่อมาของสัญญาคือวัตถุประสงค์ สัญญาทุกชนิดต้องมีวัตถุประสงค์เสมอ นอกจากนั้นสัญญายังต้องประกอบด้วยเจตนา ที่เป็นคำเสนอและคำสนองของคู่สัญญา และมีแบบหรือวิธีในการแสดงเจตนา ซึ่งอาจจะเป็นการแสดงเจตนาเป็นวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อสัญญามีองค์ประกอบครบถ้วน สัญญานั้นก็เป็นสัญญาที่ถูกต้องและมีผลตามกฎหมาย

ในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้านนั้น ก็สามารถนำหลักการเรื่องสัญญามาพิจารณาว่าถูกต้องและมีผลตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงบุคคลหรือคู่สัญญาในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้าน จะเห็นว่ามีบุคคลหรือคู่สัญญาคือเจ้าของบ้าน หรือมักระบุในสัญญาว่า “ผู้ว่าจ้าง” ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างฝ่ายหนึ่ง และผู้รับเหมาหรือบริษัทรับสร้างบ้านหรือมักระบุในสัญญาว่า “ผู้รับจ้าง” ซึ่งเป็นผู้รับจ้างอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายมีวัตถุประสงค์ต้องการจะก่อให้เกิดผลผูกพันกันในทางกฏหมายเรื่องการสร้างบ้าน โดยมีเจตนาที่เป็นคำเสนอและข้อสนองของคู่สัญญา และมีรูปแบบหรือวิธีการแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษร รูปแบบของสัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้าน จึงเป็นรูปแบบสัญญาที่ถูกต้องและมีผลตามกฎหมาย

โดยองค์ประกอบของสัญญาที่จะสมบูรณ์อีกประการก็คือ สัญญาต้องติดอากรณ์แสตมป์ จำนวน 0.001 ของมูลค่าก่อสร้างบ้าน เช่น สัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้านมูลค่างาน 3 ล้านบาท ก็จะต้องติดอากรณ์แสตมป์จำนวน 3,000 บาท ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นภาระของผู้รับจ้างจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ในทางปฏิบัติผู้บริโภคก็มักจะมิได้สนใจว่า “ผู้รับจ้าง” ได้ติดอากรณ์แสตมป์หรือจัดทำสัญญาโดยสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้รับจ้างก็มักหลบเลี่ยงเพื่อลดค่าใช้จ่าย...ทำให้สัญญาไม่สมบูรณ์ แต่จะพบว่าเมื่อใดก็ตามที่เกิดกรณีพิพาทขึ้นระหว่างผู้รับจ้างกับผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างก็จะนำอากรณ์แสตมป์มาติดสัญญาในภายหลัง เพื่อให้สัญญาสมบูรณ์และนำไปพิสูจน์ในชั้นศาล ถือเเป็นเล่ห์วิธีที่ผู้รับจ้างพยายามเอาเปรียบผู้บริโภค

สำหรับสัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้านนั้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้พยายามที่จะผลักดันให้ธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา เพื่อที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจที่จะระบุข้อความสำคัญที่ “ต้องมี”หรือ”ห้ามมี”ในสัญญาเพื่อที่ผู้บริโภคจะได้รับสัญญาโดยไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line