ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
10 ต.ค.2559

ด่วนเจ้าพระยาบี้เจ้าท่า-รฟม. เร่งสร้างท่าเรือในแม่นํ้าให้ครบ 17 แห่ง

Line

 

        เรือด่วนเจ้าพระยาจี้ติดแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 17 แห่งของกรมเจ้าท่าหลังพบเป็น “แพลนแล้วนิ่ง”เร่งป้อนฟีดเดอร์ให้รถไฟฟ้า 3-4 เส้นทาง วอนรัฐเร่งจัดพื้นที่ท่าเรือให้มีจุดจอดแล้วจรให้เข้าถึงบริการได้สะดวกและง่ายขึ้น ด้านรฟม.เร่งเทงบ 90 ล้านจ้างศึกษาออกแบบท่าเรือพระนั่งเกล้าก่อนเดินหน้าก่อสร้างแล้วเสร็จทันเปิดให้บริการภายในปลายปีหน้า

        นายเจริญพร เจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าปัจจุบันเรือด่วนเจ้าพระยาวิ่งให้บริการ 43 ลำให้บริการแต่ละวัน 180 เที่ยว มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 2-3 หมื่นคนต่อวัน ประการสำคัญหากแผนการพัฒนาโครงการก่อสร้างท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 17 แห่งของกรมเจ้าท่าดำเนินการได้สำเร็จคาดว่าจะมีผู้โดยสารหันมาใช้บริการทางเรือเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันนี้

        ทั้งนี้เรือด่วนเจ้าพระยาหวังว่าจะเป็นฟีดเดอร์ป้อนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆที่มีแนวเส้นทางผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ สายสีม่วง(เตาปูน-บางใหญ่)ที่สถานีสะพานพระนั่งเกล้า สายสีน้ำเงิน(บางซื่อ-ท่าพระ) ที่บางโพ สายสีแดง(บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ที่สะพานพระราม 6 ปัจจุบันให้บริการเฉพาะสถานีสะพานตากสินที่เชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าบีทีเอสเท่านั้น ส่วนในอนาคตจะเพิ่มสายสีน้ำเงิน(หัวลำโพง-บางแค) ที่สถานีสนามไชย ใกล้ปากคลองตลาด สายสีม่วงส่วนต่อขยาย(เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ)ที่สถานีพระปกเกล้า-วงเวียนเล็ก

        ประการสำคัญอยากนำเสนอให้ภาครัฐเข้าใจถึงปัจจัยการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารที่มีอยู่ 2-3 ปัจจัยคือ ระบบรถไฟฟ้าต้องสมบูรณ์ ครบทั้งเส้นทาง ท่าเรือต้องได้รับการพัฒนา และมีการจัดสายการเดินเรือให้สอดคล้องกับรถไฟฟ้า ปัจจุบันส่วนที่เห็นถึงความล่าช้าคือกรมเจ้าท่าไม่ดำเนินการพัฒนาท่าเรือทั้ง 17 แห่งตามแผน เช่นเดียวกับสถานีพระนั่งเกล้าของรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เปิดให้บริการแล้ว แต่ท่าเรือเชื่อมโยงยังไม่ได้ก่อสร้าง

        “รัฐควรส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการเดินเรือ ท่าเรือและระบบรถไฟฟ้าด้วยการก่อสร้างจุดพักรถ จุดจอดแล้วจรรองรับไว้ตามท่าเรือที่สามารถเชื่อมโยงกับสถานีรถไฟฟ้าทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะให้เข้าถึงการใช้บริการได้ง่ายและสะดวก โดยในภาพรวมยังพบว่าท่าปากเกร็ดมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หากรถไฟฟ้าสายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี) เปิดให้บริการคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ โดยปัจจุบันได้จัดเรือเพิ่มจากท่านนทบุรีไปยังท่าปากเกร็ดจาก 7 ลำเป็น 10 เที่ยวต่อวัน”

        นายเจริญพร กล่าวถึงแผนการรุกธุรกิจของกลุ่มบริษัทในเครือด้านการเดินเรือว่า ล่าสุดได้จัดซื้อแบบเรือที่จะนำไปใช้บริการนักท่องเที่ยวของบริษัทในเครือ (บริษัทเจ้าพระยาทัวร์ริสโบท จำกัด) รูปแบบเรือลักชัวรี มีขนาดใหญ่ ใช้ความเร็วได้มากขึ้นแต่มีคลื่นน้อยลง คาดว่าปี 2560 จะต่อเรือแล้วเสร็จแล้วเร่งนำมาให้บริการโดยเร็วต่อไปโดยมีแผนจะนำไปใช้รองรับโครงการไอค่อนสยาม

        “ปัจจุบันมีเรือให้บริการเพื่อการท่องเที่ยวจำนวน 6 ลำ และอยู่ระหว่างการจัดซื้อใหม่จำนวน 3 ลำลำละประมาณ 35 ล้านบาท เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจเนื่องจากหากเป็นเรือโดยสารจะโดนควบคุมอัตราค่าโดยสารที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงกับปัจจุบันอยู่บ่อยครั้งจึงสร้างรายได้ไม่ได้ตามแผน”

        ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างการเร่งว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า รวมวงเงินทั้งสิ้น 90 ล้านบาทให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ก่อนที่จะเร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปลายปี 2560

 
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198
(วันที่ 6 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559)