ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
16 มี.ค.2560

ยุบไฮสปีด-อัพเกรดแอร์พอร์ตลิงก์วิ่งทะลุระยอง

Line

          รัฐเร่งลงทุนรถไฟเชื่อม "ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา" ดูดนักลงทุนบูม EEC พร้อมรื้อใหญ่ไฮสปีดเทรน ควบรวม ระบบแอร์พอร์ตลิงก์ ขยายเส้นทางถึงระยอง ประหยัดงบได้ถึง 40,000 ล้านบาท ดึงเอกชน PPP ก่อสร้าง ระบบ ขบวนรถ จับตา "CP-BTS" ชิงดำ ชี้เป้า 16 บริษัทชั้นนำดึงลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ

​          ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานภายหลังการประชุม คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) สิ้นสุดลง โดยมีข้อเสนอจาก กรศ.ให้รวมโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง ให้เป็นโครงการเดียวกัน มีผู้เดินรถรายเดียวกัน (Single Project Single Operator) เพื่อให้เชื่อมโยง 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ในฐานะเมืองการบินภาคตะวันออก (Special EEC Zone : Eastern Aerotropolis หรือ EEC-EA) เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ

ยืดแอร์พอร์ตลิงก์ถึงระยอง

​          ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คณะกรรมการได้ให้เวลาการรถไฟฯ 2 เดือนพิจารณาความเหมาะสม รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กับรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193 กม. จะใช้ระบบไหนมารองรับการเดินทางเชื่อมระหว่าง 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา

​          รวมถึงศึกษารูปแบบลงทุน PPP เนื่องจากโครงการนี้จะให้เอกชนร่วม PPP ทั้งงานโยธา ระบบ และขบวนรถ เหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) โดยรับสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินค่าก่อสร้าง ส่วนเอกชนได้สัมปทานเดินรถและพัฒนาเพื่อเชิงพาณิชย์สถานีระยะเวลา 30-50 ปี

​          "เป้าหมายก็คือ ต้องนั่งรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน จากดอนเมืองไปถึงอู่ตะเภาแบบไร้รอยต่อ โดยที่ผู้โดยสารไม่ต้องลงเปลี่ยนถ่ายรถที่สถานีลาดกระบัง ซึ่งเป็นจุดต้นทางของรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ดังนั้นรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์จึงเป็นโครงการที่เหมาะสมที่สุด โดยสร้างไปถึงอู่ตะเภาและระยอง ซึ่งช่วงในเมืองจากดอนเมือง มักกะสัน สุวรรณภูมิ จะวิ่งด้วยความเร็ว 160-180 กม./ชม. แต่เมื่อเลยลาดกระบังแล้วก็เพิ่มความเร็วเป็น 200-250 กม./ชม. เท่ากับไฮสปีดเทรนได้ และให้เอกชนรายเดียวเป็นผู้เดินรถ" แหล่งข่าวกล่าว

ลดต้นทุน 40,000 ล้านบาท

​          แหล่งข่าวกล่าวไปอีกว่า นอกจากนี้ ต้นทุนก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ จะ "ถูกกว่า" ไฮสปีดเทรนสายกรุงเทพฯ-ระยอง ประมาณ 40,000 ล้านบาท หรือจาก 152,528 ล้านบาท มาอยู่ที่ 110,000-120,000 ล้านบาท

​          "ถ้าไม่มีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะทำให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไม่ครบถ้วน จึงต้องเร่งสรุปเพื่อเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุน ที่ผ่านมากลุ่ม CP ก็สนใจจะเข้ามาลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-ระยอง ส่วนกลุ่ม BTS สนใจจะลงทุนแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง"

จับตา CP-BTS ชิงดำ

​          ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่ม CP ได้ส่งรายงานผลสำรวจพื้นที่และข้อเสนอแนะให้กับการรถไฟฯ หลังยื่นข้อเสนอแสดงความสนใจลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง โดยร่วมกับพันธมิตรคือ บจ.ซิติก คอนสตรัคชั่นจากฮ่องกง บริษัทด้านก่อสร้าง ออกแบบ ที่ปรึกษา มีสถาบันการเงินสนับสนุน และ บจ.ไหหนาน กรุ๊ป เชี่ยวชาญด้านก่อสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ

​          ผลการลงพื้นที่พบว่า แนวเส้นทางทับซ้อน 4 โครงการ คือ ต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ไปสนามบินอู่ตะเภา, รถไฟไทย-จีนช่วงฉะเชิงเทรา-มาบตาพุด, รถไฟไทย-ญี่ปุ่นจากกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ทำให้มีข้อจำกัดในการก่อสร้าง จึงมีข้อเสนอว่า ถ้าจะทำให้โครงการเร็วขึ้น บริษัทจะลงทุนเฉพาะงานระบบรถและขอเช่ารางของการรถไฟฯแทน

ปั้นสถานีมักกะสันศูนย์กลาง

​          แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม กรศ.ยังให้มีการปรับปรุงแอร์พอร์ตลิงก์ปัจจุบันรองรับ และให้สถานีมักกะสัน เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การเชื่อมโยงกรุงเทพฯกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือการเป็น "EEC Gateway" และส่งเสริมการเชื่อมโยง 3 สนามบินโดยรถไฟอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสันให้รองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น

ชี้เป้าบริษัทระดับโลก

​          สำหรับการชักจูงนักลงทุนรายสำคัญของโลกให้เข้ามาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น ล่าสุดคณะกรรมการบริหารระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ได้กำหนดให้มี "ผู้รับผิดชอบ (Account Man-agement)" ในแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อจัดทำแผนเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) โดยกำหนดรายชื่อนักลงทุนที่จะเป็นเป้าหมาย ดังต่อไปนี้

​          1) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ได้แก่ บริษัท Tesla (สหรัฐ), บริษัท Shanghai Motor (จีน), บริษัท BMW (เยอรมนี), บริษัท Suzuki (ญี่ปุ่น), บริษัท Mercedes-Benz (เยอรมนี) 2) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป้าหมายคือ บริษัท Foxconn (ไต้หวัน) 3) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ บริษัท Reliance Group (อินเดีย), บริษัท Otsuka (ญี่ปุ่น) 4) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ บริษัท Kuka (ญี่ปุ่น)

​          5) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร บริษัทเป้าหมายนักลงทุนคือ บริษัท Fujifilm (ญี่ปุ่น) 6) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน บริษัท Airbus (ฝรั่งเศส), บริษัท Boeing(อังกฤษ), บริษัท Tianjin(จีน) และ 7) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมดิจิทัล บริษัท Lazada (สิงคโปร์), บริษัท Alibaba (จีน), บริษัท IZP Group (จีน)

​          โดยสิทธิประโยชน์ที่จะเปิดการเจรจาตรงกับบริษัทเหล่านี้จะอยู่ภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560-พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พ.ศ. 2560 และร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

 
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
(วันที่ 16 มีนาคม 2560)