ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
17 มี.ค.2560

เริ่มนับหนึ่ง(อีกครั้ง) วางยุทธศาสตร์ การพัฒนาที่อยู่อาศัย

Line

         รัฐบาลกำลังเดินหน้าวางยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579 เป็นเสมือนพิมพ์เขียวในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในระยะยาวอย่างบูรณาการ แม้จะต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีเพียงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการเคหะแห่งชาติที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยตามกำลังความสามารถที่มีอยู่ ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้อำนาจที่มีอยู่เต็มมือของรัฐบาล ทำให้พอมองเห็นโอกาสและเส้นทางที่จะเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้

 

วาง 6 ยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย

         เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะกำกับดูแลหน่วยงานผลิตที่อยู่อาศัยอย่างการเคหะแห่งชาติ ในฐานะแม่งานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยของประเทศ โดยจะต้องมีการบูรณาการ การดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เปิดเวทีฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาปรับแผนยุทธศาสตร์ที่ยกร่างไว้ให้สามารถนำไปสู่แผนปฏิบัติได้จริง

         “นายกรัฐมนตรีมีดำริให้กำหนดกรอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาวของประเทศ เพื่อให้เป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการอยู่อาศัยของประชาชน ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมุ่งเน้นการบูรณาการ และการสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าว

         สำหรับร่างยุทธศาสตร์ที่ตั้งเป็นตุ๊กตาเอาไว้ มีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วในปี 2579 มีปริมาณที่อยู่อาศัยที่กลุ่มเป้าหมายรับภาระได้ (Affordable housing for all) อย่างเพียงพอ รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และได้รับความคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลอย่างเท่าเทียม และเสมอภาค

         นอกจากนี้ ที่อยู่อาศัยจะต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และตั้งอยู่ในชุมชนที่มีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่เหมาะสมเพียงพอต่อการอยู่อาศัย มีการบริหารจัดการการอยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่องส่งเสริมกระบวนการบริหารจัดการการอยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

         ทั้งหมดจะถูกขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุนการพัฒนาที่ดิน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่สอดคล้องและเกื้อกูลต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างระบบการเงินและระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างขีดความสามารถและส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการอยู่อาศัย และยุทธศาสตร์ที่ 6 เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย แต่ละยุทธศาสตร์จะมีมาตรการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 41 มาตรการ ที่จะนำพาไปสู่เป้าหมาย

เอกชนหนุนคอนโดเช่าในเมือง

         ขณะที่มุมมองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องบูรณาการการทำงานไปด้วยกัน โดย ชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยจะต้องเชื่อมโยงกับแผนงานด้านอื่นๆ ในหลายมิติ ตั้งแต่ใน 5 ปีแรก ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในปี 2573 รวมถึงไทลแลนด์ 4.0 ในปี 2575 เป็นต้น

         ขณะที่ตัวแทนจากภาคเอกชน เลิศมงคล วราเวณุชย์ เลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย มองว่า การเคหะฯ พัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยซึ่งได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีกลไกทางการเมืองที่ทำให้การเคหะฯ ตัดสินใจผิดพลาดไป แต่ในสภาวะทางการเมืองขณะนี้ที่เอื้อให้เราสามารถทำอะไรได้อย่างเด็ดขาด จึงควรที่จะต้องดำเนินการที่จะทำให้นโยบายสามารถขับเคลื่อนไปได้ตามที่วางไว้

         วรเดช ศิวเตชานนท์ ประธานบริหาร บริษัท อี อาร์ เอ แฟรนไชส์ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันโปรดักต์ของการเคหะฯ มีบางอย่างที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ จึงควรเน้นในการพัฒนาสินค้าในตลาดเช่า เพื่อทำให้ราคาต่ำลง และอยู่ในใกล้หรือในเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่ทำงานอยู่ในเมือง

         ด้าน ชาญณรงค์ บุริสตระกูล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า บทบาทที่ควรส่งเสริม คือ การสร้างนโยบายหรือกำกับให้ช่วยกันพัฒนา เป็นแผนใหญ่ของการสร้างเมืองที่ควรคงรักษาหรือสิ่งที่ควรเปลี่ยนไป และที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อยควรสร้างใหม่หรือปรับปรุง รวมทั้งพัฒนาเรื่องรูปแบบการเดินทางและระบบขนส่งสาธารณะ

         ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันที่จะพัฒนาอย่างจริงจังโดยมีเป้าหมายเดียวกัน โดยต้องสร้างระบบการคุ้มครองผู้ที่ลงทุนเพื่อให้ผู้ที่ลงทุนเข้ามาร่วมมือ เป็นการสร้างแรงดึงดูดให้กับเอกชน และการพัฒนาเมืองจัดพื้นที่ที่อยู่อาศัยให้เพียงพอสำหรับจำนวนคนที่จำเป็นต้องอยู่อาศัย ควรจัดการพื้นที่ดินที่นำมาใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนและผู้ที่พักอาศัยเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่อยู่อาศัย

         ด้าน ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า ที่อยู่อาศัยต้องเป็นวาระระดับชาติ มียุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งชาติ มีกระทรวงรับผิดชอบที่ชัดเจน โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่ต้องการให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยอย่างพอเพียง

         ประเด็นสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1) ที่ดิน การกระจายการถือครองที่ดิน มีความมั่นคงในการถือครองที่ดินโดยการเช่า 2) การเงิน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในระยะยาวจากภาครัฐ การสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้มีรายได้น้อย ธนาคารเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยกู้เงิน รัฐอุดหนุนภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อย การเงินรูปแบบใหม่ๆ 3) กฎหมาย ระเบียบ ควรมีความยืดหยุ่นสามารถพัฒนาแก้ไขได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน การออกกฎหมายให้ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผน การออกแบบชุมชนเมืองร่วมกันและกระจายสู่ท้องถิ่น รวมถึงกฎหมายจะต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนและมีประสิทธิผล

         4) การบูรณาการภาครัฐ มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และมีกลไกขับเคลื่อนการทำงานที่ชัดเจน 5) ระบบฐานข้อมูลมีการบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกัน มีความทันสมัย และต่อเนื่อง 6) กระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และ 7) การปรับบทบาทการเคหะแห่งชาติในอนาคต นำไปสู่การบริหารชุมชนและการเป็นผู้กำกับดูแลเชิงนโยบาย ทั้งนี้การเคหะแห่งชาติจะนำข้อมูลดังกล่าว รวมถึงคำแนะนำและข้อเสนอแนะต่างๆ มาจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ต่อไป
 

ที่มา : posttoday.com
(วันที่ 17 มีนาคม 2560)