ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
23 มี.ค.2560

ภาษีที่ดินเลื่อนใช้มีผลปี 62 ปรับลดเพดานที่รกร้างเหลือ 2%

Line


          ครม. ไฟเขียว พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลุยเก็บที่ดินรกร้างว่างเปล่าหวังลดความเหลื่อมล้ำ -เร่งการใช้ประโยชน์ที่เกิดความคุ้มค่า เผยกฎหมายใหม่ช่วยรัฐมีรายได้ภาษีเพิ่มจาก 2 หมื่นล้านบาทเป็น 6 หมื่นล้านบาท คาดปี 62 บังคับใช้

          พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอและส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

          โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ…..ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยกเว้นทรัพย์สินจากการจัดเก็บภาษีฐานภาษี อัตราภาษี การคำนวณภาษี การลดหรือยกเว้นภาษี โดยยกเลิกพระราชบัญญัติโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และพระราชบัญญัติกำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2529 และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างของภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และช่วยกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะให้อำนาจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เป็นผู้จัดเก็บภาษีดังกล่าวและเป็นการยกเลิก พรบ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฏหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ใช้บังคับมานาน โดยมีรมว.มหาดไทยและรมว.คลังรักษาการตามพ.ร.บ.นี้

ทั้งนี้กฏหมายดังกล่าวจะมีการจัดเก็บภาษี 4 ประเภท ประกอบด้วย

1.ที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรอัตราภาษีไม่เกิน 0.2% ของฐานภาษี

2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยอัตราภาษีไม่เกิน 0.5%

3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นจากข้อ1และ 2 อัตราภาษีไม่เกิน 2%

4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งร้างไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพให้มีอัตรภาษีไม่เกิน 2% ของฐานภาษี

          “จากที่มีความพยายามแก้ไขกฎหมายกันมานาน ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ทำให้ประเทศไทยมีการเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งร่างเดิมจะเก็บภาษีที่รกร้าง 5% แต่หลังจากกฤษฏีกาแก้ไขและรับฟังความเห็นจึงแก้ไขเป็นจัดเก็บที่อัตรา 2 % ของฐานภาษี และกรณียังไม่ใช้ประโยชน์จะมีการจัดเก็บเพิ่ม 0.5 % ทุก 3 ปีจนเต็มเพดานที่ 5 % ซึ่งการจัดเก็บอัตราดังกล่าว จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและยังเป็นการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า”

          อย่างไรก็ตาม ร่างกฏหมายนี้หากผ่านสภานิติบัญญัติในปี 2559 แล้ว จะสามารถดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ตั้งแต่ ม.ค. 2562 เนื่องจากต้องให้กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทำผังและรายละเอียดการเก็บภาษีและการจัดเก็บภาษีจะเริ่มที่เดือนม.ค. เป็นปีภาษี

          นอกจากนี้กฏหมายดังกล่าวยังกำหนดให้มีการบรรเทาความเดือดร้อนได้ด้วย คือกรณีที่มีความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ หรือสภาพแห่งท้องที่กระทรวงการคลังสามารถตราเป็นพระราชกฤษฏีกาลดภาษีได้ แต่ต้องไม่เกิน 90% ของฐานภาษีที่ต้องเสีย และในกรณีที่ดินใดใช้ประโยชน์หลากหลายให้อปท.จัดเก็บภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ตามที่กระทรวงการคลังและมหาดไทยร่วมกันประกาศกำหนด นอกจากนั้นกรณีที่มีการคำนวณการเก็บภาษีผิดพลาดให้จ่ายคืนประชาชนพร้อมดอกเบี้ย 1% และกรณีที่ยังไม่ชำระภาษีที่ดินดังกล่าวจะไม่สามารถโอนหรือเปลี่ยนมือได้ แต่อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่คาดว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มจาก 2 หมื่นล้านบาทเป็น 6 หมื่นล้านบาท