ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
25 เม.ย.2560

แบงก์พาณิชย์ประกาศผลไตรมาส 1 ปี 2560

Line

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
          กรุงศรีแจ้งผลกำไรสุทธิ จำนวน 5.65 พันล้านบาท
          กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลกำไรสุทธิไตรมาส 1/2560 ที่โดดเด่น จำนวน 5.65 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนแม้ว่าได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านฤดูกาลของการชำระคืนเงินให้สินเชื่อ โดยปัจจัยขับเคลื่อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในไตรมาส 1/2560 มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
          สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญในไตรมาส 1/2560 - กำไรสุทธิ: จำนวน 5.65 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากไตรมาส 4/2559 และเพิ่มขึ้น 9.6% จากไตรมาส 1/2559
- รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย: เพิ่มขึ้น 4.3% จากไตรมาส 4/2559 ปัจจัยหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง กองทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ และกำไรสุทธิจากเงินลงทุน
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM): อยู่ที่ 3.82% ปรับตัวดีขึ้นจาก 3.79%ในไตรมาส 4/2559
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้: อยู่ที่ 48.8% ปรับตัวดีขึ้นจาก 49.9% ในไตรมาส 4/2559
- เงินให้สินเชื่อ: ลดลง 1.2% คิดเป็นจำนวน 16.84 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559
- การเติบโตของเงินรับฝาก: เพิ่มขึ้น 1.5% หรือจำนวน 17.17 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559
- สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs): อยู่ที่ 2.33% ในเดือนมีนาคม 2560 - อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้: อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่143.0%
- อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง: อยู่ที่ 14.4% เทียบกับ 14.2%ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559
 
          ในไตรมาส 1/2560 กรุงศรีมีกำไรสุทธิจำนวน 5.65 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น495 ล้านบาท หรือ 9.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2559 ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานและการลดลงของเงินสำรอง  หากเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2559 กำไรสุทธิไตรมาส 1/2560 เพิ่มขึ้นจำนวน 489 ล้านบาท หรือ9.5%

          เงินให้สินเชื่อจำนวน 1.43 ล้านล้านบาท ลดลง 16.84 พันล้านบาท หรือ1.2% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 ทั้งนี้ การลดลงของเงินให้สินเชื่อในไตรมาส 1/2560 มาจากปัจจัยด้านฤดูกาลในการชำระคืนเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจขนาดใหญ่ และการหดตัวตามปัจจัยด้านฤดูกาลในการใช้จ่ายของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเติบโตต่อเนื่องที่ 2.9% และ 2.0% ตามลำดับ

          เงินรับฝาก มีจำนวนทั้งสิ้น 1.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.17 พันล้านบาทหรือ 1.5% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2559 การเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประจำที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี จำนวน 23.05 พันล้านบาท

          ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 3.82% ในไตรมาส 1/2560 สะท้อนถึงการบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนเงินทุนต้นทุนต่ำ

          อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อยู่ที่ 2.33% ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 143.0%

          นายโนริอากิ โกโตะกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "กรุงศรียังคงเดินหน้าสร้างความเติบโตโดยสามารถรายงานผลกำไรสุทธิที่โดดเด่นในไตรมาส 1/2560 ตอกย้ำการดำเนินภารกิจสำคัญในการขยายสินทรัพย์ ลดต้นทุนทางการเงินและเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย  การดำเนินงานที่แข็งแกร่งมีปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานและการลดลงของเงินสำรอง สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของกรุงศรีและพอร์ตสินเชื่อที่สมดุล"

          นายโกโตะ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจในปี 2560 ว่า "จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรก เราคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปในทิศทางบวกในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตแข็งแกร่ง และแนวโน้มการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ เราคาดว่าภาคการบริโภคจะขยายตัวโดยได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นและหนี้ครัวเรือนที่ลดลง ภายใต้สมมติฐานดังกล่าว ธนาคารจึงยังคงคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 3.3%ซึ่งจะส่งผลสนับสนุนต่อการขยายตัวของสินเชื่ออย่างครอบคลุมที่ 6-8% ในปี 2560"

          ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 กรุงศรีซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าของไทย มีสินเชื่อรวม 1.43 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.13 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 1.86 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 191.28 พันล้านบาทหรือเทียบเท่า 14.4% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 11.9%

          Bangkok Bank
          ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/ 2560 จำนวน 8,305 ล้านบาท
          ในไตรมาส 1 ปี 2560 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการขยายตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าว  ธนาคารจึงยังคงยึดหลักการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง พร้อมทั้งรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นและการขยายธุรกิจในอนาคต เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน

          ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2560 จำนวน8,305 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ปีก่อนที่ 8,317 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 16,277ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.35 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 10,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 โดยเพิ่มขึ้นที่ค่าธรรมเนียมจากบริการกองทุนรวมและบริการประกันผ่านธนาคาร และค่าธรรมเนียมจากบริการอิเล็กทรอนิกส์และการโอนเงิน ขณะที่กำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศและกำไรสุทธิจากเงินลงทุนลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน11,082 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.8 จากการรับรู้ค่าใช้จ่ายประมาณการหนี้สินสำหรับภาระผูกพันลดลง

          ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 1,923,953 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.9 จาก  สิ้นปี 2559 โดยเป็นการลดลงของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีก สินเชื่อลูกค้าบุคคล และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ

          สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 มีจำนวน 77,772 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 3.5 ของเงินให้สินเชื่อรวม ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดและตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1 ปี 2560 มีการตั้งสำรองจำนวน 5,806 ล้านบาททำให้เงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัย  จะสูญของธนาคารอยู่ที่ 124,446 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.5 ของเงินให้สินเชื่อ

          ด้านเงินกองทุน หากนับกำไรสุทธิสำหรับงวดกรกฎาคมถึงธันวาคม 2559 และกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2560 หักด้วยเงินปันผลที่จะจ่ายในเดือนพฤษภาคม2560 รวมเข้าเป็นเงินกองทุนแล้ว อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 19.0 ร้อยละ 17.2 และร้อยละ 17.2 ตามลำดับ สำหรับส่วนของเจ้าของ ณ วันที่ 31 มีนาคม2560 มีจำนวน 385,910  ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.9 ของสินทรัพย์รวม และมูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 202.17 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 3.61 บาทจากสิ้นปี 2559

          SCB
          ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2560 จำนวน 11,912 ล้านบาท
          ไตรมาส 1 ปี 2560 จำนวน 11,912 ล้านบาท

          ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/2560 (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) มีผลกำไรสุทธิจำนวน 11,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.0%เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2559 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ รวมถึงการลดลงของค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย

          รายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามงบการเงินรวมในไตรมาส 1/2560 มีจำนวน 22,561 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.1% จากไตรมาส 1/2559 เป็นผลมาจากการขยายตัวของสินเชื่อ6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

          รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยตามงบการเงินรวมในไตรมาส 1/2560 มีจำนวน 10,624 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 33.2% จากไตรมาส 1/2559 เป็นผลจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ดีขึ้นจากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย

          อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2560 อยู่ที่ 2.70%เพิ่มขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2559 ส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อเคหะและสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับไตรมาสนี้ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 5,010 ล้านบาท หรือ 1.03% ของสินเชื่อรวม ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 133.4% ณสิ้นไตรมาส 1/2560 จาก 122.8% ณ สิ้นไตรมาส 1/2559

          นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงผลประกอบการว่า "ผลประกอบการของไตรมาสแรกปี2560 อยู่ในระดับที่ดี ซึ่งธนาคารจะเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งต่อไปด้วยภารกิจเปลี่ยนแปลงองค์กร หรือ SCB Transformation เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด (The Most Admired Bank) นอกจากนี้ธนาคารยังจะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพพนักงานให้สามารถปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถใหม่ๆ เพื่อรองรับรูปแบบของธุรกิจและความต้องการของลูกค้าในอนาคต"

          ธนาคารกสิกรไทย
          ธนาคารกสิกรไทย แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 60 กำไร10,171 ล้านบาท
          นายปรีดี ดาวฉายกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยประกาศผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี2560 โดยธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5.45%

          ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส1 ปี 2559 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 525 ล้านบาท หรือ 5.45% เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 888 ล้านบาท หรือ 4.00% โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ3.41%อย่างไรก็ตาม รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 2,034 ล้านบาท หรือ 11.59%ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย และรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่ลดลง รวมถึงการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 39.44%

          ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส4 ปี 2559 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,171 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 73 ล้านบาท หรือ 0.71% ส่วนใหญ่เกิดจากธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและภาษีเงินได้จำนวน23,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2,830 ล้านบาท หรือ 13.77% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ลดลงจำนวน 2,382 ล้านบาท หรือ13.53% นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 364 ล้านบาท หรือ 2.40%ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ รายได้สุทธิจากการรับประกันภัย และรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ39.44%

          ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 ธนาคารและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน2,847,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 จำนวน 1,336ล้านบาท หรือ 0.05%ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม2560 อยู่ที่ระดับ 3.31%ขณะที่สิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 3.32% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม2560 อยู่ที่ระดับ 134.94% ขณะที่สิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 130.92%สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31มีนาคม 2560 อยู่ที่ 17.51% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่15.03%

          ธนาคารธนชาต
          ธนชาตประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี2560
          นายสมเจตน์  หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  ธนาคารธนชาตจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ในไตรมาส 1 ปี 2560 ธนาคารธนชาตและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน3,272 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น1.30% จากไตรมาสก่อน ในขณะที่เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิเติบโตขึ้น15.05% โดยเป็นผลมาจาก การมุ่งเน้นความแข็งแกร่งของคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง การบริหารค่าใช้จ่ายสำรองอย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มขึ้น

          ของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ สำหรับสินทรัพย์รวมของธนาคารได้ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อน สาเหตุหลักมาจาก สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อรายย่อยมีการปรับเพิ่มตัวขึ้น และเงินลงทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับ สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารธนชาตและบริษัทย่อยปรับตัวลดลงเป็นไตรมาสที่ 11 ติดต่อกัน โดยมีNPL Ratio คงเหลืออยู่ที่ 2.21% และ Coverage Ratio ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่156.80% ด้านเงินกองทุน ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.55%"

          นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนชาตมีนโยบายเชิงรุกที่จะทำให้ลูกค้ามาใช้บริการของธนาคารธนชาตให้เป็น "ธนาคารหลัก (Main Bank)"เพราะได้ทำการศึกษาลูกค้าอย่างลึกซึ้งจึงรู้จักและเข้าใจความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มแต่ละประเภท โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินและมุ่งเน้นให้ได้รับความสะดวกสบายและความเป็นธรรมแก่ลูกค้าในทุกๆ กลุ่ม ให้ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินที่ดีที่สุดเท่านั้น ทั้งนี้ ธนาคารได้ลงทุนเพื่อสร้างบุคลากรของธนาคารให้มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อพนักงานสามารถให้คำแนะนำและคำปรึกษาที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ลูกค้าได้อย่างตรงจุด รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการให้บริการแก่ลูกค้าที่สะดวกและมีความหลากหลายเหมาะแก่ลูกค้าแต่ละกลุ่มด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการบริการที่กระชับเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าในการใช้บริการของธนาคาร นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนชาตได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการวางอุปกรณ์ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National ePayment) ร่วมกับอีก 4 ธนาคารในนาม กลุ่มธนาคารพันธมิตร TAPS (Thai Alliance Payment System)เพื่อวางเครือข่ายการติดตั้งเครื่องชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์รองรับการใช้จ่ายได้อย่างทั่วถึง และอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้ามากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลนี้

          นายปีเตอร์ เบสซี่รองประธานกรรมการบริหารและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า "พฤติกรรมของผู้บริโภคมีแนวโน้มในการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตนเองมากขึ้น ธนชาตจึงได้พัฒนาช่องทางการให้บริการผ่านการเปิดตัวรูปแบบสาขาขึ้นใหม่ 2 รูปแบบ โดย Thanachart Express ที่สาขามันนี่ปาร์ค ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ชั้น 4ได้มุ่งเน้นให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วยตนเองผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักพร้อมให้บริการคำแนะนำปรึกษาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพสูงด้านการเงินและการลงทุน ขณะที่ Thanachart Next ที่สาขาสยามพารากอนนั้น ได้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินที่ทันสมัยและครบวงจร มีการให้บริการทั้งแบบเคาน์เตอร์และตู้ให้บริการอัติโนมัติ พร้อมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินที่จะส่งมอบบริการให้แก่ลูกค้าอย่างมืออาชีพ เพื่อตอกย้ำนโยบายของธนชาตในการมุ่งสู่การเป็นธนาคารหลัก (Main Bank) ของลูกค้าอย่างแท้จริง"

          CIMB THAI
          ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 2560 จำนวน 121.2 ล้านบาทผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปี 2560
          นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 3,129.9 ล้านบาทลดลง 184.7 ล้านบาท หรือร้อยละ5.6 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2559 สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้อื่นร้อยละ 59.3 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 3.0 และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 27.6 กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สงสัยจะสูญลดลงร้อยละ11.3 เป็นจำนวน 1,382.6 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน สุทธิกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 0.5 กำไรสุทธิลดลงจำนวน 206.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 63.0 เป็นจำนวน121.2 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันสาเหตุหลักเกิดจากสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระหว่างงวด

          เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2560 และ 2559 รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 92.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.6 ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ รายได้ธุรกรรมเช่าซื้อและสัญญาเช่าทางการเงิน และ ค่าธรรมเนียมจากการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 72.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 เป็นผลจากการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดีขึ้น และรายได้อื่นลดลง 349.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 59.3 ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของธุรกรรมบริหารเงินประกอบกับการลดลงของกำไรจากการจำหน่ายหลักทรัพย์เผื่อขาย สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ

          ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนปี 2560 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2559 ลดลงจำนวน 8.0 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.5 สาเหตุส่วนใหญ่
          มาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์ และค่าภาษีอากรสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 55.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2559 อยู่ที่ ร้อยละ 53.0 เป็นผลจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน
          อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest MarginNIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 3.77 เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปี2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.72 เป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

          วันที่ 31 มีนาคม 2560 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 200.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 217.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.8 จากสิ้นปี 2559 ซึ่งมีจำนวน 223.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 92.3 จากร้อยละ 92.4 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559

          สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 11.2 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 มีสาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในไตรมาส 1/2560 ประกอบกับธนาคารมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยง ที่มีประสิทธิภาพ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้ จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่

          อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 81.2เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 77.3 ตามนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 เงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.0 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 3.4 พันล้านบาท
          เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2560 มีจำนวน37.9 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 16.7 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 11.1

          ธนาคารกรุงไทย
          ธนาคารกรุงไทยมีกำไรจากการดำเนินงาน 18,403 ล้านบาท
          ธนาคารกรุงไทย ประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่1/2560 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2559 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน 18,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 144 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.79 ภายหลังหักสำรองหนี้สูญและภาษีเงินได้ มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร 8,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 992 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.16 ทั้งนี้รายได้หลักยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 479 ล้านบาท และธนาคารมีการบริหารต้นทุนอย่างเหมาะสม โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี ภาคการส่งออกสินค้าฟื้นตัว การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวขยายตัว การใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ

          ในไตรมาส 1/2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีเงินให้สินเชื่อ 1,913,287 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,198 ล้านบาท จากลูกค้าภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ มีเงินฝาก1,991,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,040 ล้านบาทจากสิ้นปี 2559 ธนาคารและบริษัทย่อยได้กันสำรองหนี้สูญ และขาดทุนจากการด้อยค่าจำนวน 7,460 ล้านบาทลดลง 1,163 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ เท่ากับร้อยละ 112.11 ลดลงจากร้อยละ 121.57 ณ 31 ธันวาคม2559

          ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ 31 มีนาคม 2560 จำนวน 100,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,254 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.15 จากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในบางอุตสาหกรรม อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ NPL Ratio (Net) เท่ากับร้อยละ 1.94 และ NPL Ratio (Gross) เท่ากับร้อยละ 4.36 ทั้งนี้ธนาคารได้ดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด มีความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อ รวมทั้งให้ความสำคัญในการติดตามหนี้อย่างรวดเร็ว และปรับโครงสร้างหนี้ตามความเหมาะสม

          ธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของและเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 243,521 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.01 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง เงินกองทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 311,466 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.64 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง

          สำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารที่ได้รับ Standard & Poor's ระยะยาว/ระยะสั้น BBB / A-2 Moody's Investors Service ระยะยาว/ระยะสั้น Baa1 / P-2
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย