ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
11 พ.ค.2560

แบงก์เข้มปล่อยกู้ "เกษตร-อสังหาฯ" โขก "ดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม" ตามดีกรีความเสี่ยง

Line

          ธปท.เผยผลสำรวจไตรมาสแรกแบงก์ เพิ่มความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อธุรกิจทุกขนาดธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม "เครื่องนุ่งห่ม-เกษตร-อสังหาฯ" ตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โขกเพิ่ม "ดอกเบี้ย-ค่าฟี" ให้สมน้ำสมเนื้อกับความเสี่ยง

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการสำรวจภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในไตรมาสแรก และไตรมาส 2 ปี 2560 ที่รวบรวมมาจากความเห็นของผู้บริหารระดับสูงด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน 54 แห่ง (ธนาคาร 28 แห่ง และน็อนแบงก์ 26 แห่ง) พบว่าแม้ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจจะดีขึ้นในไตรมาสแรกในทุกขนาดธุรกิจ และต่อเนื่องในไตรมาส 2 โดยเฉพาะภาคธุรกิจในกลุ่มอาหาร วัสดุก่อสร้าง และรับเหมา

          ขณะที่ไตรมาสแรกสถาบันการเงินยังคงเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อทุกขนาดธุรกิจ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2559 ตามมุมมองความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เกษตร และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 ยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในทุกขนาดธุรกิจเพิ่มขึ้นบ้าง

          โดยจากข้อมูล ธปท.ในการจัดดัชนี Margin for riskier loans พบว่าไตรมาสแรกดัชนีมีค่าติดลบมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยดัชนีดังกล่าวอยู่ในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ (สินทรัพย์ 200 ล้านบาทขึ้นไป) ติดลบที่ -28.9 จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ -15 ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี -15.9 จาก -10.9 ในไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ ดัชนีค่าธรรมเนียมที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Noninterest Charger) ติดลบเพิ่มขึ้นเช่นกัน ไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ -11.7 จากไตรมาสก่อน -2.3

          ทั้งนี้ จากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทำให้สถาบันการเงินมีการปรับเพิ่มมาร์จิ้นโดยคิดอัตราดอกเบี้ยการปล่อยสินเชื่อกับธุรกิจเอสเอ็มอีจนถึงธุรกิจรายใหญ่เพิ่มขึ้นเพื่อให้คุ้มครองกับความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ที่เพิ่มขึ้น

          นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปกติแบงก์จะมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เมื่อแบงก์เห็นว่าการปล่อยสินเชื่อมีความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงการคิดค่าธรรมเนียมจากการดำเนินการสินเชื่อเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าตรวจสอบทางการเงิน ค่าที่ปรึกษา ค่าวิ่งเต้นเอกสารต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แบงก์สามารถเรียกเก็บกับผู้ขอสินเชื่อได้

          นายลือชัย ชัยปริญญา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า การคิดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อแต่ละแบงก์มีมาตรฐานการคิดไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะมีการคิดดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียม โดยแบงก์ต้องดูตั้งแต่ขนาดธุรกิจ และเซ็กเตอร์ที่ปล่อยกู้ ธนาคารกรุงไทยก็มีมาตรฐานการคิดคำนวณดอกเบี้ย หรือค่าฟีในแต่ละกลุ่มสินเชื่อ แต่ละเซ็กเตอร์มาจากปัจจัยหลายด้านมาประกอบกัน เช่น ปัจจุบันภาครัฐหนุนโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มก่อสร้างรับเหมาต่าง ๆ ก็อาจมีปัจจัยบวกมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ และมีโอกาสได้สินเชื่อจากแบงก์หรือสิทธิ์ต่าง ๆ มากกว่ากลุ่มอื่น เป็นต้น

          ด้านนายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการด้านสินเชื่อเอสเอ็มอี ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า กรณีที่แบงก์และน็อนแบงก์คิดดอกเบี้ยหรือค่าฟีจากภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นนั้นอาจไม่ได้เหมือนกันทุกแบงก์ โดยธนาคารกสิกรไทยยืนยันว่าไม่ได้มีการชาร์จดอกเบี้ยหรือค่าฟีเพิ่ม เพราะแบงก์มีมาตรฐานการคิดดอกเบี้ยในแต่ละกลุ่มสินเชื่ออยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในไตรมาส 2 น่าจะเห็นการฟื้นตัวของสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้น ทั้งด้านความต้องการและคุณภาพสินเชื่อจากไตรมาสแรกที่สินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโตที่ 1.3% คิดเป็นยอดคงค้าง ณ สิ้นไตรมาสแรกที่ 6.3 แสนล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธุรกิจเอสเอ็มอีล่าสุดอยู่ที่ 5.03% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2559

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
(วันที่ 11 พฤษภาคม 2560)