ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
23 พ.ค.2560

"พัทยา-มาบตาพุด" คืบ 32% 13 รับเหมาเร่งเสร็จเร็วกว่าแผน

Line

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

          เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อปี 2559 ล่าสุดมอเตอร์เวย์สาย "พัทยา-มาบตาพุด" ซึ่งใช้วิธีการกระจายงานก่อสร้างเป็น 13 ตอน ทำให้ผลงานก่อสร้างรุดหน้า 32% เร็วกว่าแผนอยู่ 2.5% แม้ว่าจะมีบางพื้นที่ติดเรื่องเวนคืนและรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคก็ตาม

          "ธานินทร์ สมบูรณ์" อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมกำลังเร่งรัดงานก่อสร้างมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯกับภาคตะวันออก เงินลงทุนรวม 20,662 ล้านบาท เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมและการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฮับการค้าและลงทุนของภูมิภาค

          ที่ผ่านมา กรมได้เพิ่มประสิทธิภาพมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา โดยใช้เงินลงทุน 3,969 ล้านบาท ก่อสร้างด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางถาวรช่วงชลบุรี-พัทยา ให้เป็นระบบปิด จะแล้วเสร็จเดือน ต.ค. 2560

          อีกทั้งก่อสร้างทางใหม่เพิ่มช่วงแยกเข้าท่าเรือแหลมฉบังระยะทางกว่า 8 กม. วงเงิน 2,493 ล้านบาท ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือน เม.ย. 2559 เพื่อแก้คอขวดการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังให้สะดวกรวดเร็วขึ้น

          รวมถึงก่อสร้างเส้นทางใหม่จากพัทยา-มาบตาพุดระยะทาง32 กม. วงเงิน 14,200 ล้านบาท ซึ่งกรมใช้เงินจากกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางมาลงทุน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะนี้มีความก้าวหน้าแล้ว 32% จะแล้วเสร็จในปี 2562 ยังเหลือในส่วนของงานระบบ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางระบบควบคุมและบริหารการจราจร ด่านชั่งน้ำหนัก อยู่ระหว่างสำรวจ ออกแบบและเตรียมเปิดประมูล คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปีนี้

          "มอเตอร์เวย์สายนี้เป็นเส้นทางตัดใหม่ ขนาด 4 เลน พาดผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด มีจุดเริ่มต้นจะเชื่อมกับมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา ผ่าน อ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี สิ้นสุดที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง บริเวณ กม. 34 เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นโครงข่ายใหม่เชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกได้อย่างสมบูรณ์ และยังเป็นเส้นทางสายหลักที่สำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งทางรถไฟ และการขนส่งทางอากาศที่สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา จะช่วยส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวไทยเติบโต"

          เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศเพื่อไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนต่อไป
 

ที่มา : prachachat.net
(วันที่ 23 พฤษภาคม 2560)