ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
29 พ.ค.2560

คลังเร่งสรุปมาตรการ 'ช่วยคนจน'

Line

              คลังเร่งสรุปมาตรการ "ช่วยคนจน" รายได้ต่ำ 3 หมื่น/ปีเน้นลดภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาบุตร-กยศ.ปล่อยกู้ตรงเฉพาะกลุ่ม
สศค.ชงมาตรการเพิ่มสวัสดิการคนจนให้ระดับนโยบายได้พิจารณาแล้ว เผยในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี จะเน้นลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตและเพิ่มรายได้ อาทิ ลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาบุตร และให้กยศ.ปล่อยกู้เฉพาะกลุ่ม ส่วนที่รายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี จะเน้นให้ได้รับสวัสดิการด้านการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำและค่าไฟ

​              นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้สรุปมาตรการสวัสดิการของรัฐที่จะให้เพิ่มกับผู้ที่ได้รับสิทธิจากการลงทะเบียนคนจนในรอบปี 2560 ซึ่งมีจำนวนราว 14 ล้านคน แก่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว โดยมาตรการที่เสนอไปนั้น มีจำนวนหลายรายการ ซึ่งจะครอบคลุมความช่วยเหลือด้านสวัสดิการแก่กลุ่มคนจนต่างๆ ทั้งที่เป็นคนจนในเขตเมืองและคนจนที่อยู่ต่างจังหวัด ส่วนจะเป็นมาตรการใดบ้างนั้น ทางปลัดกระทรวงการคลังและระดับนโยบายคงจะต้องหารือกันอีกครั้งก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

​              สำหรับกลุ่มคนที่ยากจน โดยมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีนั้น ควรได้รับการสนับสนุน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิต โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการศึกษา เพื่อสร้างคนคุณภาพให้สังคม ซึ่งตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีอยู่ราว 4 ล้านคนนั้น จะเป็นกลุ่มคนที่กระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือให้คนเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

​              ตัวอย่าง มาตรการที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา เช่น กรณีคนจน ที่มีลูกและลูกต้องเข้าโรงเรียนภาคบังคับของรัฐบาล แม้ในปัจจุบัน รัฐจะอุดหนุนค่าเล่าเรียนให้เรียนฟรีในการศึกษาภาคบังคับก็ตาม แต่ผู้ปกครองก็ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในด้านอุปกรณ์การศึกษา รวมถึง เสื้อผ้ารองเท้าด้วย ซึ่งรัฐอาจเข้าไปช่วยในส่วนนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสเรียนจนจบภาคบังคับ

​              กรณีคนยากจน ที่สามารถส่งลูกเรียนต่อในสายอาชีพ หรือ ระดับปริญญาตรี ซึ่งรัฐไม่ได้อุดหนุนค่าเล่าเรียน ทางกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็สมควรที่จะให้คนกลุ่มนี้กู้ เป็นลำดับแรกในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ หรือ ไม่คิดอัตราดอกเบี้ยเลยปัจจุบัน กยศ.ให้เงินกู้แก่นักเรียน นักศึกษา ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเพียง 1% กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ยาวนานถึง 15 ปี โดยให้ผู้กู้ต้องชำระหนี้หลังจากจบการศึกษาแล้ว 2 ปี

​              การออกแบบสวัสดิการให้แก่คนมีรายได้น้อย ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบสวัสดิการให้คนมีรายได้น้อย ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ซึ่งรัฐจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ด้วยรถเมล์,รถไฟฟรี รวมถึง การอุดหนุนค่าน้ำประปา ในปัจจุบันไม่เกิน 5 หน่วยต่อครัวเรือน ส่วนค่าไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อครัวเรือน เป็นต้น

​              สำหรับยอดผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยล่าสุด มีคนมาลงทะเบียนรวม 14.1 ล้านคน ซึ่งกระทรวงการคลัง กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อมูลว่าคนเหล่านี้ เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะจ้างนักศึกษา 6 หมื่นคนออกเดินสำรวจ เพื่อการตรวจสอบซ้ำอีกด้วย

​              ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า แนวทางช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่มีรายได้ไม่ถึงเส้นความยากจน 3 หมื่นบาทต่อปีนั้น ธ.ก.ส.กำลังนำตัวเลขผู้ลงทะเบียนกับธ.ก.ส.ทั้งหมดกว่า 7.6 ล้านรายมาคัดกรอง ซึ่งในเบื้องต้นพบว่า กลุ่มประชาชนผู้ที่รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี มีสัดส่วนเกือบครึ่ง หรือประมาณ 3.62 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 1.3 ล้านราย ผู้ว่างงาน 1.3 ล้านราย นักศึกษา 7 หมื่นราย ขณะนี้ กำลังพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือ รวมถึง กำลังพิจารณาให้สินเชื่อว่า จะดำเนินการอย่างไร แนวทางที่จะดำเนินการคือสนับสนุนการมีอาชีพ หรือปรับเปลี่ยนอาชีพให้มีรายได้อย่างถาวร จากตัวเลขพบว่ามีกลุ่มที่ว่างงานจำนวนมากดังนั้นมีแนวคิดว่าถ้าเป็นทายาทเกษตรกรอาจจะจัดหาสินเชื่อพิเศษให้ รวมถึงการให้ทุนเพื่อไปประกอบอาชีพ

 
ที่มา : bangkokbiznews.com
(วันที่ 29 พฤษภาคม 2560)