ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
19 มิ.ย.2560

7 แบงก์รัฐจับมือกำหนดดอกเบี้ยหวัง 'ชี้นำตลาด'

Line

 

          ธอส.เผย 7 แบงก์รัฐเตรียมผนึกกำลังหวังเป็นผู้นำตลาดด้านอัตราดอกเบี้ย ระบุ จะพยามคงอัตราดอกเบี้ย แม้กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามเฟด ขณะที่ฉัตรชัย สั่งปรับแนวทางปล่อยสินเชื่อบ้านครึ่งปีหลัง เหตุครึ่งปีแรกยังห่างเป้า โดยเพิ่มราคาบ้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็น 3 ล้านบาท จากเดิม 2 ล้านบาท

          นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า มีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา และเฟดยังส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้ ซึ่งจากการประชุมระหว่างผู้บริหารสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (สภาแบงก์รัฐ) ล่าสุด มีข้อสรุปร่วมกันว่า หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหาร 7 แบงก์รัฐ เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายของธนาคารร่วมกัน จากเดิมต่างคนต่างพิจารณา และอิงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่

          โดย 7 ธนาคารรัฐประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกาตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)
          สถาแบงก์รัฐจ่อคงกบ.กู้ปีนี้

          ทั้งนี้ ข้อสรุปในเบื้องต้นจากการหารือร่วมกับระหว่างผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ผ่านสภาแบงก์รัฐ คือ จะพยายามคงดอกเบี้ยเงินกู้ในปีนี้ โดยจะปรับขึ้นให้ช้าที่สุดหาก กนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่หาก กนง.ลดดอกเบี้ย แบงก์รัฐพยายามลดดอกเบี้ยเงินกู้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยธนาคารรัฐพยายามชี้นำตลาดในเรื่องดอกเบี้ยบ้าง เพราะ 3 ธนาคารรัฐ คือ ออมสิน ธ.ก.ส. และ ธอส. มีพอร์ตสินเชื่อ รวมกันกว่า 5 ล้านล้านบาท ถ้าเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่รวมกัน 5 แห่ง ถือว่ามีระดับใกล้เคียงกัน

          "แบงก์รัฐหารือกัน โดยจะมีการรวมพลังเพื่อชี้นำตลาดในเรื่องดอกเบี้ย ดังนั้น ต่อไปหาก กนง. มีมติเรื่องดอกเบี้ย ผู้บริหารแบงก์รัฐ 7 แห่ง จะนัดหารือร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางดอกเบี้ยของแบงก์รัฐทันที ในส่วนของ ธอส.หากดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ปรับขึ้น 1-3 ครั้ง ธอส.ยังสามารถตรึงดอกเบี้ยและหากต้องปรับขึ้นจะปรับเพียงครั้งเดียวในอัตรา 0.125-0.25% ต่อปี"

          การตรึงดอกเบี้ยดังกล่าว อาจจะกระทบต่อต้นทุนบ้าง แต่เป็นการดำเนินการภายใต้นโยบายรัฐบาลมอบให้ธนาคารรัฐทำธุรกิจแบบไม่ต้องเน้นกำไรสูงสุด ธอส.คาดว่าในปีนี้ กำไรธนาคารลดลงประมาณ 1,000 ล้านบาท จากนโยบายไม่เน้นกำไร และธนาคารออกแพคเกจสินเชื่อต่ำหลายตัว แต่ภาพรวมกำไร ธอส.ในปีนี้ยังสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท

          ธอส.รับปีนี้สินเชื่อยังห่างเป้า

          สำหรับการปล่อยสินเชื่อธอส.ในช่วงที่ผ่านมาว่า ยังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยในปี2560 ธอส.มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 178,224 ล้านบาท ล่าสุดปล่อยในสินเชื่อไปได้เพียง 35-37% ของเป้าหมาย จากปกติต้องปล่อยได้แล้ว 45% ของเป้าหมาย ดังนั้น ธนาคารจึงปรับแนวทางการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยขยายราคาบ้านแพคเกจสินเชื่อพิเศษเป็นบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท จากเดิมกำหนดราคาบ้านต่ำกว่า 2 ล้านบาท โดยมีแพคเกจสินเชื่อรองรับในช่วงครึ่งปีหลัง เช่น สินเชื่อสานรักกำหนดดอกเบี้ย 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ขยายราคาบ้าน เป็น 3 ล้านบาท จาก 2 ล้านบาทรวมถึงขยายวงเงินปล่อยกู้เป็น 5 หมื่นล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ 8 พันล้านบาท และมีการขยายไปแล้วอีก 1.2 หมื่นล้านบาท

          นอกจากนี้ เพิ่งเปิดตัวสินเชื่อบ้าน FOR HOME อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีเพียง 3.43% ต่อปี วงเงินปล่อยกู้ 1 หมื่นล้านบาท หากหมดวงเงินกู้ดังกล่าวแล้ว ธนาคารเตรียมเงินไว้อีก 4 หมื่นล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษประมาณกว่า 3% โดยจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยชัดเจนในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าแพคเกจสินเชื่อทั้งหมดออกมาในช่วงครึ่งปีหลัง จะทำให้การปล่อยสินเชื่อธนาคารทั้งปีได้ตามเป้าหมายวางไว้

          "การปล่อยสินเชื่อปีนี้ที่ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากในปี 2559 รัฐมีนโยบายลดภาษีค่าธรรมเนียมการโอนจดจำนอง และมีสินเชื่อพิเศษกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมา ทำให้ฐานในปีที่ผ่านมาสูง และการกำหนดเป้าหมายในปีนี้ต้องอิงฐานในปีที่ผ่านมาจึงสูง ถ้าตัดรายการพิเศษการปล่อยสินเชื่อปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา"

          ครึ่งปีหลังดันแพจเกจสินเชื่อดบ.พิเศษ

          ในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารจะยังคงมีแผนจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ออกมารองรับผู้ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการมีบ้านอย่างต่อเนื่อง พร้อมมั่นใจว่าจะสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายระยะยาวภายใต้การบริหารในปี 2563 โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็น 1 ใน 3 ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบ มีสินเชื่อรวม 1.15 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 1.2 ล้านล้านบาท

          ส่วนโครงการดูแลที่อยู่อาศัยรองรับสังคมวัยชรา หลังจากออกสินเชื่อไปก่อนแล้ว ด้วยการให้ลูกกตัญญูสำหรับคนทำงานกู้เงินเงื่อนไขผ่อนปรนและให้บิดา มารดาอยู่อาศัยด้วยกัน วงเงิน 10,000 ล้านบาท เมื่อกฎหมายของ ธอส.ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่ม คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ในช่วง 4 ปีแรก วงเงิน 5,000 ล้านบาท ขณะนี้ประสานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาโมเดลสินเชื่อผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังหารือกับการเคหะแห่งชาติส่งเสริมการปรับปรุงที่อยู่อาศัย เช่น บ้านริมคลอง และสร้างที่อยู่อาศัญใหม่ นำร่องจังหวัดปัตตานี ทั้งบางละมุง และแฟลตดินแดง

          สำหรับผลการดำเนินงานสิ้นสุด ณ วันที่ 31 พ.ค. 2560 หรือหลังจากครบรอบ 1 ปีในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่รวมได้ 163,382 ล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 947,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.60% เงินฝากรวม 802,937 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.04% สินทรัพย์รวม 994,721 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.25% โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 50,872 ล้านบาท คิดเป็น 5.37% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลง 0.40% หรือ 456 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.32% (เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน) กำไรสุทธิ (พ.ค. 2559- พ.ค. 2560) 11,193 ล้านบาท

          "โดยภาพรวมของผลการดำเนินงานที่ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรยังคงเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องด้วยกลไกหลักของธนาคาร"


ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
(วันที่ 19 มิถุนายน 2560)