ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
10 ส.ค.2560

ขึ้นค่าทางด่วนปีหน้า 5-10 บ. BEMทิ้งทวนก่อนต่อสัมปทานรอบใหม่

Line
           เตรียมใจให้พร้อม ! ก.ย.ปีหน้าขึ้นค่าทางด่วนแน่ 5-10 บาท จากปัจจุบันจ่าย 50 บาท เผยถึงรอบคิวปรับทุก 5 ปี ตามสัมปทาน ประธานบอร์ด กทพ.ฟันธงเกิดข้อพิพาทกับ BEM เรื่องการปัดเศษขึ้น–ลง เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เร่งหาข้อสรุปต่อสัมปทานให้จบโดยเร็ว ก่อนสิ้นสุด ก.พ.ปี’63 ยึดกฎหมายและสัญญาเป็นหลัก 

 


 

           พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2561 จะครบกำหนดปรับค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1(เฉลิมมหานคร) และขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ระยะเวลา 30 ปี จะมีการพิจารณาปรับค่าผ่านทางขึ้นทุก 5 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) 

           “คงต้องปรับแน่ ๆ เพราะถึงรอบคิวตามสัญญา แต่จะปรับเท่าไหร่เท่านั้นเอง อยู่ที่ CPI ซึ่งครั้งนี้จะเป็นรอบสุดท้ายแล้ว เพราะสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2563″

           สำหรับปัญหาเรื่องการพิจารณาปรับเศษค่าผ่านทางที่ทั้ง กทพ. และ BEM มองต่างกันมาตลอดเรื่องการปัดเศษขึ้นหรือลงจนเกิดเป็นข้อพิพาทกันมานั้น พล.อ.วิวรรธน์กล่าวว่า มีความเป็นได้สูงที่การปรับค่าผ่านทางในปี 2561 นี้จะเกิดปัญหาเหมือนเดิม เนื่องจากต่างฝ่ายมีความเห็นไปคนละทาง ซึ่งฝ่าย กทพ.ก็ยึดแนวทางของอัยการสูงสุด 

           “เอกชนต้องเสนอมา ที่ผ่านมาก็ฟ้องกันไปมา รอบนี้ก็คงเหมือนเดิม เพราะมีการปรับเศษคนละแบบ แบบเดิมชี้คนละแบบ ฝั่งเราอัยการบอกให้ทำอย่างนี้ ฝั่งโน่นสัญญาบอกให้ทำอย่างนี้ให้ทำไง ในเมื่อพอให้เจรจาตกลงไม่ยอมผมไม่รู้ทำไงต้องปล่อยไป ถ้าเป็นผมมีโอกาสในเมื่อมีข้อพิพาท ความเห็นต่าง ตามอัยการของเก่า เราก็รู้ว่ามีการฟ้องร้องทำไม ไม่เอาส่วนต่างไปกองไว้ตรงกลาง ส่วนที่เห็นต่าง เพื่อว่าใครตัดสินซ้ายขวา จะได้มีตังค์“

           ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การปรับค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 จะครบกำหนดวันที่ 1 ก.ย. 2561 ตามสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับ BEM จะปรับขึ้นทุก 5 ปี ตามค่า CPI ซึ่งที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 5-10 บาท
 


           สำหรับอัตราค่าผ่านทางปัจจุบันปรับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2556 ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) รถ 4 ล้อ 50 บาท รถ 6-10 ล้อ 75 บาท มากกว่า 10 ล้อ 110 บาท ส่วนทางพิเศษศรีรัช ส่วน C รถ 4 ล้อ 15 บาท รถ 6-10 ล้อ 20 บาท มากกว่า 10 ล้อ 35 บาท ส่วน D รถ 4 ล้อ 25 บาท รถ 6-10 ล้อ 55 บาท มากกว่า 10 ล้อ 75 บาท

           ขณะเดียวกันจะมีทางด่วนอุดรรัถยา (บางปะอิน–ปากเกร็ด) ที่ BEM รับสัมปทานและมีรายได้ค่าผ่านทาง 100% จะครบกำหนดวันที่ 1 พ.ย. 2561 จากปัจจุบันช่วงแจ้งวัฒนะ–เชียงราก รถ 4 ล้อ 45 บาท รถ 6-10 ล้อ 100 บาท มากกว่า 10 ล้อ 150 บาท และช่วงเชียงราก–บางไทร รถ 4 ล้อ 10 บาท รถ 6-10 ล้อ 20 บาท มากกว่า 10 ล้อ 30 บาท 

           นอกจากนี้ พล.อ.วิวรรธน์ยังกล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการโครงการทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. 2563 ว่า ในหลักการต้องปฏิบัติตามกฎหมายรอการตีความจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 หรือไม่ เนื่องจากโครงการดำเนินการก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้และสัญญาสัมปทาน ขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างศึกษามี 3 แนวทาง คือ 1.ต่อสัญญาสัมปทานให้กับ BEM 2.เปิดประมูลใหม่ 3.กทพ.บริหารจัดการเอง เนื่องจากโครงการตกเป็นของ กทพ.แล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ต.ค.-พ.ย. 2560 นี้ 

           “หลักมีอยู่แค่นี้ เบี้ยวไม่ได้ แต่ยังพอมีเวลาเพราะสัญญาจะสิ้นสุดปี 2563 ยังไม่รู้จะได้ข้อสรุปในยุคผมหรือเปล่า แต่ผมจะทำให้เสร็จก่อนหมดวาระ ตามกฎหมายร่วมทุนบอกให้องค์กรอิสระทำข้อพิจารณาเสนอไป แต่มีอีกข้อหนึ่งในสัญญาว่าเมื่อหมดสัญญาสัมปทานต้องเจรจา ก็ต้องเจรจาได้ไม่ได้ค่อยว่ากัน ตอนนี้ยังไม่เริ่มเจรจา เพราะยังไม่หมดสัญญา ใครจะเจรจา เป็น กทพ.เจ้าของสัญญา หรือให้คณะกรรมการตามกฎหมายร่วมทุนก็ต้องมาดูกัน“

           “ยังไงต้องเจรจากับเอกชน เพราะเป็นสัญญาสัมปทาน เมื่อหมดแล้วต้องคุยผลประโยชน์ตอบแทนกันใหม่ แม้สัญญาจะเขียนไว้ อาจต่อ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปีก็ตาม เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา ปีนี้ยังไงก็ต้องรู้แนวทางที่แน่ชัด กทพ.จะเดินหน้ายังไง เรื่องนี้ก็ล่าช้ามานาน จริง ๆ ตามกฎหมายร่วมทุนใหม่ให้ดำเนินการก่อนครบสัมปทาน 5 ปี แต่เราเพิ่งจ้างที่ปรึกษาเมื่อปลายปีที่แล้ว“

           ปัจจุบัน กทพ. ได้รับส่วนแบ่งรายได้อยู่ที่ 60% และ BEM ได้รับอยู่ที่ 40% จนครบกำหนดอายุสัญญา ทั้งนี้หาก กทพ.เป็นผู้ดำเนินการเอง จะทำให้มีรายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน กทพ.มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 17,193.29 ล้านบาท มีรายจ่าย 9,872.63 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,320.66 ล้านบาท

           ส่วนปริมาณการจราจรบนทางด่วนทั้งโครงข่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านเที่ยว
 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
(วันที่ 10 สิงหาคม 2560)