ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
13 พ.ย.2560

สินเชื่อ SMEs-บ้าน ดึง “หนี้เสีย” พุ่งสูงสุดไตรมาส 4

Line

           แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการเติบโตแบบกระจุกตัวทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนไม่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิดหนี้เสียขึ้น โดยเฉพาะใน SMEs รายเล็ก ๆ ที่ยังปรับตัวไม่ทัน รวมถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ผู้บริโภคบางส่วนความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ของปี 2560 พบว่า คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ภาพรวมสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ต่อสินเชื่อรวมสูงขึ้นกว่าไตรมาส 2 และคาดว่าไต่ไปอยู่จุดสูงสุดในไตรมาส 4

สินเชื่อ SMEs-บ้าน ค้างชำระพุ่ง
           ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ภาพรวมสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นแบบทรงตัวที่ 2.97% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.95% มียอดคงค้าง 428,000 ล้านบาท โดย NPL ที่เพิ่มขึ้น มาจากคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SME ที่ด้อยลง มาอยู่ที่ 4.63% จากไตรมาสก่อน 4.42% และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ 3.26% จากไตรมาสก่อน 3.06% ทั้งนี้ สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (สินเชื่อที่ค้างชำระเกินกว่า 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 2.72% จาก 2.55% ในไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นทุกสินเชื่อ ทั้งสินเชื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่

           ทั้งนี้ NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเร่งปล่อยกู้สินเชื่อบ้าน และการแข่งขันกันทำโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำช่วง 3 ปีแรก เมื่อพ้นกำหนด 3 ปี ดอกเบี้ยลอยตัว จึงทำให้ความสามารถชำระเงินคืนน้อยลง เกิดเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น ส่วนการให้สินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ยังมีปัญหาโอเวอร์ซัพพลายในบางพื้นที่ เช่น ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง

 

 


           สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ทรงตัวที่ 3.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ยังคงมีการระดมทุนผ่านการออกตราสาร โดยหากรวมสินเชื่อ และการระดมทุนผ่านตราสารหนี้จะขยายตัวที่ 4.5%

           โดยในไตรมาส 3 ปี 2560 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 46,700 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2559 จากการกันสำรองเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 584,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันอยู่ที่ 166.2%

ย้ำ NPL ไตรมาส 4 ถึงจุดสูงสุด
           ธปท. คาดว่า NPL ในไตรมาส 4 น่าจะเป็นจุดที่สูงสุด จากนั้นน่าจะเริ่มทรงตัวก่อนและทยอยลดลง เพราะการจัดการ NPL ต้องใช้เวลาบริหารจัดการ แต่จากไตรมาส 3 แม้ NPL จะเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลงมาก และหากพิจารณาเป็นรายธุรกิจจะพบว่า SMEs ที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและส่งออกเริ่มดีขึ้น ที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็น SMEs รายเล็ก ที่ยังปรับตัวไม่ทัน โดยในปี 2561 คาดว่า NPL จะปรับตัวลดลงอยู่ที่ประมาณ 2.6%

           ส่วนระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ มีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปได้ โดยในปี 2561 คาดว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมลดลงจากนโยบายพร้อมเพย์ แต่หากสามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นรายได้จากดอกเบี้ยน่าจะดีขึ้น ขณะเดียวกันหากสถานการณ์ NPL เริ่มทรงตัว ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองก็จะไม่เพิ่ม ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

 

ที่มา : http://www.ddproperty.com
(วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560)