ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
18 ก.พ.2557

เศรษฐกิจอึมครึมอสังหาฯแห่ตุนเงินสด ลดความเสี่ยงหวั่นโอนบ้านสะดุด

Line

ธุรกิจอสังหาฯท่องคาถาไม่ประมาท แห่ตุนเงินสดตั้งรับความเสี่ยง-กำลังซื้อคอนโดฯหดตัว บิ๊กแบรนด์ "พฤกษาฯ-คิวเฮ้าส์-เอพีฯ-LPN" ขอกำเงินสดเพิ่ม 50-100% ด้านรายกลางไม่น้อยหน้า ค่าย "ธนาสิริฯ-กานดาฯ-เปี่ยมสุข" ปรับกลยุทธ์เน้นเสริมสภาพคล่องธุรกิจ รองรับค่าใช้จ่ายยาวเงินเดือนพนักงาน+พัฒนาโครงการถึง 2 ปี พี่ใหญ่ "แลนด์ฯ" ชี้ทางรอดอสังหาฯ ต้องดูแลรายรับ-ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

ผู้สื่อข่าวสำรวจแผนธุรกิจเชิงตั้งรับในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อเกือบ 4 เดือน โดยพบว่านอกจากการควบคุมค่าใช้จ่าย ชะลอเปิดโครงการใหม่ ขณะนี้บริษัทพัฒนาที่ดินหลายรายได้ใช้กลยุทธ์เพิ่มกระแสเงินสดในมือมากขึ้น เพื่อรับมือความเสี่ยงหากเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นเวลานานที่อาจมีผลกระทบต่อปัญหาขาดสภาพคล่องในอนาคต

รายใหญ่เพิ่มแคชโฟลว์ตั้งรับ

แหล่งข่าวจากบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือคิวเฮ้าส์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาได้ระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ทำให้มีกระแสเงินสดในมือมากขึ้น จากเดิม 800-1,000 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 1,700-1,800 ล้านบาท เพียงพอรองรับการจ่ายเงินเดือนพนักงานและก่อสร้างโครงการได้ 3-4 เดือน โดยเป็นนโยบายเพื่อตั้งรับความเสี่ยงหากกำลังซื้อที่อยู่อาศัยชะลอตัว

จากความไม่มั่นใจสถานการณ์การเมือง เพราะการชุมนุมการเมืองรอบนี้ยืดเยื้ออย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน

ทั้งนี้ คิวเฮ้าส์ตั้งงบฯซื้อที่ดินปี 2557 จำนวน 4 พันล้านบาท แต่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันคงต้องชะลอการซื้อที่ดินออกไปก่อน ส่วนการเปิดตัวโครงการใหม่ หากเป็นบ้านเดี่ยวราคาตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปและคอนโดมิเนียม แนวโน้มจะชะลอออกไปเช่นกัน

นายภูมิพัฒน์ สินาเจริญ รองกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า จากช่วงครึ่งปีหลัง 2556 บริษัทมีกระแสเงินสดเฉลี่ย 1.5-2 พันล้านบาท รองรับการใช้จ่ายพัฒนาโครงการได้ 2 เดือน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 2.5 พันล้านบาท รองรับการใช้จ่ายได้ 3 เดือน โดยกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นมาจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยช่วงไตรมาส 4/56 ที่ผ่านมา

"สถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทต้องควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ส่วนงบฯซื้อที่ดินยังเตรียมไว้เท่าเดิมคือ 6 พันล้านบาท ก็เป็นการลงทุนที่ต้องใช้อย่างระมัดระวังเป็นอย่างมากในปีนี้"

แหล่งข่าวจาก บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้เพิ่มปริมาณเงินสดในมือเพื่อรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจฝืด โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งเสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 2 พันล้านบาท ให้กับนักลงทุน จึงมีเงินสดในมือเพิ่มจากปลายปีก่อน 1-2 พันล้านบาท ปัจจุบันเป็น 2-3 พันล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติจากธนาคาร แต่ยังไม่ได้เบิกจ่ายอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นเงินสำรองไว้อีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากในช่วงที่มีเหตุการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ การถือเงินสดไว้ในมือย่อมจะเป็นหลักประกันว่าสามารถพัฒนาโครงการได้ครบตามแผนที่ประกาศไว้ อย่างไรก็ตามจะต้องไม่มากเกินไปเพราะจะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น

LPN ตุนเงินสดยาว 6 เดือน

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนรับมือเหตุการณ์ชุมนุมยืดเยื้อซึ่งยังประเมินไม่ได้ว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ โดยตั้งแต่ต้นปีเพิ่มกระแสเงินสดในมือจาก 800 ล้านบาท เป็น 1 พันล้านบาท เพื่อให้เพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายในองค์กรและก่อสร้างโครงการไปได้อีก 6 เดือน โดยเป็นแผนตั้งรับแบบเดียวกับช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินสหรัฐเมื่อปี 2551

ทั้งนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่กินเวลานานส่งผลต่อความเชื่อมั่นการซื้อที่อยู่อาศัย โดยวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา บริษัทเปิดขายคอนโดฯใหม่ 2 โครงการ คือ ลุมพินีวิลล์ อ่อนนุช 46 และลุมพินีวิลล์ อ่อนนุช-พัฒนาการ ทำยอดขายในวันเปิดตัวรวมกันประมาณ 500 ล้านบาท หรือ 50% ของจำนวนยูนิตเฉพาะที่เปิดขาย ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย

"ถ้าเกิดวิกฤตจริง ๆ ต้องกลับมาวางแผนบริหารกระแสเงินสดให้ดี วิธีการคือจัดลำดับโครงการที่จะก่อสร้างให้เสร็จก่อน-หลัง โครงการไหนที่ใกล้แล้วเสร็จจะใช้กระแสเงินสดที่มีเร่งสร้างให้จบเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้า และนำเงินมาใช้หมุนเวียนสร้างโครงการอื่น ๆ ต่อไป" นายโอภาสกล่าว

รายกลางสำรองเงินสดเพิ่ม

นายปรีชา กุลไพศาลธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เปี่ยมสุข พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า ได้เพิ่มกระแสเงินสดในบริษัทจากเดิม 70-80 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานได้ 2 ปี ตั้งรับความเสี่ยงจากการชุมนุมการเมืองที่ยังประเมินไม่ได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

ส่วนการควบคุมค่าใช้จ่ายหลังจากนี้จะติดตามยอดขายบ้านอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีโครงการอยู่ระหว่างเปิดขาย 7 โครงการ เดือนมกราคมที่ผ่านมามียอดขายเฉลี่ยโครงการละ 15-20 ล้านบาท หากยอดขายปรับลดลงเหลือเดือนละ 10 ล้านบาทต่อโครงการ จะลดปริมาณการสร้างบ้านต่อโครงการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจมีบริษัทพัฒนาที่ดินรายกลางที่เพิ่มเงินสดในมือ อาทิ บมจ.ธนาสิริกรุ๊ป เพิ่มจาก 150 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท กรณีสถาบันการเงินหยุดปล่อยกู้สามารถใช้จ่ายได้จาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน

กานดาฯตุนเงิน-ชะลอคอนโดฯ

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า สภาวะปกติบริษัทมีกระแสเงินสดสำรองในมือตลอดเวลาประมาณ 100 ล้านบาท สำหรับปีนี้เตรียมตั้งรับโดยบริหารกระแสเงินสดเฉลี่ยเพิ่มเป็น 150-200 ล้านบาท

กลยุทธ์ทำธุรกิจในยุคเศรษฐกิจไม่ค่อยดีอย่างนี้ จะต้องทำหลาย ๆ อย่างควบคู่กันไป โดยเฉพาะการทบทวนแผนธุรกิจทุก 15 วัน เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายลงทุนและบริหารรายรับ โดยก่อนหน้านี้เพิ่งจะลงทุนรวม 500 ล้านบาท ในการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนก่อสร้างสำเร็จรูปหรือพรีแฟบและลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานเข้าโครงการที่แสมดำ ปีนี้จึงมีความคล่องตัวที่จะบริหารกระแสเงินสดได้ดีขึ้น

การปรับตัวยังรวมถึงตัดสินใจชะลอเปิดตัวโครงการคอนโดฯ 2 ทำเล ที่ภูเก็ต และโซนพระราม 7 ถนนจรัญสนิทวงศ์ มูลค่าโครงการรวม 1,000 ล้านบาท โดยทั้งสองโครงการได้รับอนุมัติผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว แต่จังหวะตอนนี้กำลังซื้อชะลอตัว จึงไม่รีบร้อนที่จะต้องเปิดตัวใหม่แต่อย่างใด

แลนด์ฯแนะดูแลสภาพคล่อง

นายอดิศร ธนนันท์นราพูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การรับมือเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ไม่ว่าบริษัทขนาดใหญ่หรือเล็กคงจะต้องกลับมาดูแลเรื่องสภาพคล่อง บริหารรายรับ-รายจ่ายให้สมดุลเพื่อไม่ให้ขาดทุน

ปัจจุบันแลนด์ฯมีกระแสเงินสดในมือ 600 ล้านบาท เพียงพอจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง และยังไม่มีแผนเพิ่มเงินสดในมือ เนื่องจากใช้นโยบายสร้างบ้านเสร็จก่อนขาย จึงไม่ต้องสำรองเงินเผื่อไว้มากนัก ถึงแม้จะมีแผนเปิดตัวโครงการคอนโดฯอย่างต่อเนื่องก็ตาม

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 18 กุทภาพันธ์ 2557
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1392660354