ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
11 ธ.ค.2560

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคพุ่ง เดือน พ.ย. สูงสุดในรอบ 33 เดือน

Line

          เมื่อเร็วๆ นี้ ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ ของไทยในเดือนพฤศจิกายน โดยตัวเลขที่น่าสนใจตัวหนึ่งคือดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 78.0 จาก 76.7 ในเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 33 เดือน ส่งผลให้ปีนี้คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตเติบโตได้ถึง 4%

ผู้บริโภคเริ่มมั่นใจใช้จ่าย ดันเศรษฐกิจทั้งปีโต 4%

          การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นั้น จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4 โดยคาดว่ามีโอกาสจะเติบโตได้ถึง 4.6-4.7% ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้เติบโตแตะระดับ 4% ได้ คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้เริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้น และในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตจะเริ่มแตะระดับ 100 ซึ่งเป็นค่าของระดับปกติได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561

ปัจจัยบวกจากมาตรการช้อปช่วยชาติ-บัตรคนจน

          ปัจจัยที่ช่วยเอื้อให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เช่น มาตรการช้อปช่วยชาติ ที่ใช้กับกลุ่มเป้าหมายในระดับกลางขึ้นไป และโครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่ใช้กับกลุ่มเป้าหมายในระดับฐานราก ซึ่งทั้ง 2 มาตรการนี้จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายตามมาตรการช้อปช่วยชาติประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกเดือนละประมาณ 5 พันล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ให้เพิ่มอีก 0.2-0.3% มาเป็น 4.6-4.7% นอกจากนี้ภาคท่องเที่ยว และการส่งออกก็ยังเติบโตได้ดี ซึ่งทำให้ภาพรวมทั้งปีนี้มีความเป็นไปได้มากถึง 75% ที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ถึง 4%




 
คาดการณ์ปี 61 เศรษฐกิจมีโอกาสโตถึง 4.5%

          แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 4.2% แต่หากนโยบายของภาครัฐสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม เร่งกระจายเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจฐานรากด้วยการตามเม็ดเงินต่าง ๆ ที่ยังค้างท่ออีกราว 1.5 แสนล้านบาท ทั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับในปี 2561 ที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดจากการทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก 5-8 หมื่นล้านบาท รวมกับเม็ดเงินจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งรวมแล้วประมาณ 5 แสนล้านบาท จะมีส่วนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2561 ให้โตได้ถึง 4.5%

          อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่อาจส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน อาทิ การแข็งค่าของเงินบาทในระดับที่มากกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้ส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและการส่งออกในอนาคต ราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และผู้บริโภคยังกังวลเรื่องปัญหาค่าครองชีพ และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด
 
ที่มา : www.ddproperty.com
(วันที่ 11 ธันวาคม 2560)