ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
14 ธ.ค.2560

เวิลด์แบงก์เผย ไทยหลุดพ้นความยากจน ก้าวสู่ความมั่งคั่ง

Line

 

          ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ได้เปิดเผยถึงรายงานแนวโน้มการเติบโตแบบมีส่วนร่วมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในระยะยาว ชื่อ Riding the Wave: An East Asian Miracle for the 21st Century ซึ่งพบว่า ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเป็นผู้นำที่แสดงวิธีให้เห็นว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วและการมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจจะช่วยลดความยากจนอย่างชัดเจนได้ ซึ่งช่วยให้คนเกือบล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจน โดยในรายงานระบุว่าประเทศไทยซึ่งอยู่กลุ่มเดียวกับมาเลเซีย ได้เริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และกำลังก้าวสู่ความมั่งคั่ง

คนไทยอีก 5.8 ล้านคนยังไม่พ้นความยากจน

          สถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยในปัจจุบันใช้เส้นความยากจนที่เป็นทางการคือ 2,667 บาท/คน/เดือน หากมองย้อนไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาความยากจนในภาพรวมของประเทศไทยลดลงมาก โดยจำนวนคนจนได้ลดลงประมาณ 28 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว จากจำนวนผู้ยากจน 34.1 ล้านคนในปี 2531 เหลือเพียง 5.8 ล้านคนในปี 2559 สัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 65.2 เป็นเพียงร้อยละ 8.6 ในปี 2559

          พิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า กลุ่มประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุดในประเทศไทย ในจำนวนนี้ 38.7% เป็นคนจน และคนที่เกือบจนซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการตกเป็นคนจนได้ง่าย โดยพบว่า มีแนวโน้มลดลงมากจาก 39.2 ล้านคนในปี 2531 เหลือเพียง 11.6 ล้านคนในปี 2559

          ทั้งนี้ ความยากจนยังกระจุกตัวอยู่ในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12.96% ภาคใต้ 12.35% และภาคเหนือ 9.83% ของประชากรในแต่ละภาค โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 ลำดับแรกในปี 2559 ได้แก่ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และน่าน ตามลำดับ

แก้จนด้วยเศรษฐกิจยั่งยืน-ลดความเหลื่อมล้ำ

          นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า จากรายงานฉบับดังกล่าวได้นำเสนอโมเดลใหม่ในการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งเน้นการเติบโตอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ

          โดยรัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถลดความยากจนได้ต่อเนื่อง จำนวนประชากรที่อยู่ใกล้เส้นความยากจน 11 ล้านคน ลดลงมาต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจนเหลือจำนวน 7 ล้านคน แต่ยังมีประชากรฐานรากระดับล่าง ประมาณ 29 ล้านคน หรือประมาณ 40% ของประชากรทั้งหมด ต้องได้รับการดูแลด้วยการเพิ่มรายได้ ซึ่งประกอบด้วยเกษตรกร แรงงาน ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งรัฐบาลจะใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพิ่มรายได้ เพิ่มการจ้างงาน และเพิ่มหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน คู่ขนานกับการสนับสนุนให้ประชาชนออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติรองรับผู้สูงอายุ

          นอกจากนี้ สภาพัฒน์ ยังได้พิจารณาตัวชี้วัดสถานการณ์ความยากจนในด้านมิติอื่นที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของตัวเงิน แต่สะท้อนการมีโอกาสทางสังคม และการเข้าถึงบริการของภาครัฐ มาร่วมในการวัดด้วย ได้แก่ “ดัชนีความก้าวหน้าคน” ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเข้าถึงโอกาสทางสังคม และการเข้าถึงบริการภาครัฐในด้านต่าง ๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม และคมนาคมและการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความจนเงิน จนโอกาส และสภาพแวดล้อมการดำเนินชีวิต ในการจัดทำนโยบายในแก้ปัญหาความยากจน และช่วยเหลือคนจน

          ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทยที่กำลังก้าวผ่านความยากจน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผลสำรวจกับในชีวิตจริงของประชาชนจะสอดคล้องกันหรือไม่ แต่จากความพยายามของภาครัฐ อาทิ การใช้โนบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน 11.4 ล้านคน การส่งเสริมการฝึกอาชีพ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ก็ได้แต่หวังว่าจะเห็นผลในไม่ช้า


ที่มา : www.ddproperty.com
(วันที่ 14 ธันวาคม 2560)