ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
24 ก.พ.2557

"รับสร้างบ้าน"ปรับตัวรับการเมืองยืดเยื้อ

Line

     ได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ออกมาเตือนคู่ขัดแย้งทางการเมืองว่า ควรหันหน้ามาคุยกัน เพื่อจะหาทางออกวิกฤติการเมืองไทยครั้งนี้ เพราะขืนปล่อยให้สภาพการเมืองยืดเยื้ออยู่เช่นนี้ ต่อไปเรื่อยๆ อีกระยะหนึ่ง เชื่อว่า วิกฤติการเมืองก็จะขยายไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งคราวนี้แหละ ประเทศไทยก็จะพบกับความพ่ายแพ้ เพราะเศรษฐกิจดิ่งเหว และคงไม่อาจกู้คืนกลับมาได้ง่ายๆ หากคนไทยมีความขัดแย้งกันบาดลึก เข้าไปในใจจนยากจะเยียวยา โดยเฉพาะกับการที่ต่างฝ่ายต่างให้ร้ายกันไปมา ทั้งเรื่องจริงและเรื่องเท็จที่ถล่มกันอยู่ในสื่อโซเชียลมีเดียทุกวัน เฮ้อ...

     ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนเกริ่นให้ทราบว่า สัญญาณความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ของภาคธุรกิจรับสร้างบ้านเริ่มฟื้นกลับมา หลังผ่านวันเลือกตั้งมาได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่า การชะลอการตัดสินใจของผู้บริโภคในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องเพราะกังวลว่าจะเกิดความรุนแรง หรือเกิดเหตุนองเลือดขึ้นในช่วงวันเลือกตั้ง แต่เมื่อสถานการณ์จริงมิได้เป็นดังที่คาดการณ์ไว้ ทั้งในส่วนของผู้บริโภคและผู้ประกอบการต่างก็โล่งอก และโหมดของการใช้ชีวิตตามปกติก็เริ่มกลับคืนมา แต่ดังที่กล่าวกันว่า “การเมืองไม่มีอะไรที่แน่นอน” เพราะผ่านไปเพียงแค่สัปดาห์เดียว ก็มีเหตุความวุ่นวายเรื่องใหม่เข้ามา เมื่อชาวนาทั่วประเทศลุกฮือขึ้นมาทวงถามเงินค่าข้าวที่จำนำไว้กับรัฐบาล ซึ่งติดค้างมาเป็นระยะเวลา 2-3 เดือนมาแล้ว และประเด็นนี้ ดูจะเป็นเป้าหมายของคู่กรณีฝ่ายการเมือง ที่จะหยิบมาสร้างเงื่อนไขใหม่ทางการเมือง รวมทั้งแย่งชิงฐานเสียงของชาวนากันอย่างเมามัน

     หากประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งของ 2 ขั้วการเมือง ณ ปัจจุบัน เชื่อว่า ไม่น่าจะหาข้อยุติได้ในเร็ววันนี้ แต่การดำเนินชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้ ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ดังนั้นก็จำเป็นต้องปรับตัวและเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป ซึ่งก็มีวิธีคิดอยู่ 2 แนวทาง คือ
     1.เฝ้าติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิด
     2.ปล่อยวางเรื่องการเมืองแล้วโฟกัสเฉพาะธุรกิจ
 
     โดยแนวทางแรกนั้นก็เพื่อรับรู้สถานการณ์ทางการเมืองตลอดเวลา และหาทางปรับตัวตามให้ทัน ส่วนแนวทางที่สอง คือ มองปัญหาการเมืองให้เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ ยอมรับมันให้ได้ว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” ควรให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการของลูกค้า การเข้าถึงกำลังซื้อใหม่ๆ การปรับองค์กรให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างยืดหยุ่นกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ลองพิจารณาดูว่าแนวทางใดเหมาะสมกับสไตล์การบริหารธุรกิจของท่าน ที่จะฝ่าวิกฤตการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นไปได้อย่างรอดพ้นปลอดภัย ขอให้ผ่านไปได้นะครับ  

 

ที่มา :  เว็บไซด์สยามรัฐ คอลัมน์ มองผ่านเลนท์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 
http://www.siamrath.co.th