ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
20 ม.ค.2561

แบงก์มั่นใจดูแล‘บาท’ พ้นบัญชีดำสหรัฐฯแน่

Line

 

          นักเศรษฐศาสตร์ประสานเสียงไทยห่างไกลถูกสหรัฐฯตอบโต้ แม้ติดอยู่ในบัญชีชาติที่แทรกแซงค่าเงินเพื่อประโยชน์ทางการค้า “ทีเอ็มบี” เชื่อเกาหลีใต้-เม็กซิโก ถูก “ทรัมป์” เชือดก่อน สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดฟันธง ค่าเงินบาทปีนี้แข็ง 5% แตะ 31 บาทต่อดอลลาร์           

          รายงานข่าวของสื่อต่างประเทศระบุว่าไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ เพราะเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเกินจริง เพื่อประโยชน์ทางการค้า คาดว่าผลการพิจารณาจะมีการเผยแพร่ในเดือนเมษายน 2561           

          นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ายังไม่น่าเป็นห่วงว่าไทยจะถูกสหรัฐฯใช้มาตรการตอบโต้ แม้จะมีชื่อติดอยู่ในบัญชีประเทศที่ใช้ค่าเงินเพื่อประโยชน์ทางการค้าต่อสหรัฐฯก็ตาม           

          สหรัฐฯตั้งกติกาว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ประเทศคู่ค้าหากเข้า 2 ใน 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1. ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯเกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 2. มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 3%ต่อจีดีพี และ 3.มีการซื้อสกุลเงินต่างประเทศปริมาณอย่างน้อย 2% ต่อจีดีพี ภายในระยะเวลา 112 เดือน           นายนริศ กล่าวว่า เงินทุนสำรองของไทยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้น 3% ต่อจีดีพี ไม่ได้สะท้อนว่ามาจากการแทรกแซงค่าเงิน แต่มาจากการส่งออกที่ขยายตัวดีและมีรายรับเป็นเงินสกุลดอลลาร์ และหากวิเคราะห์ภาพรวมทั้ง 3 ปัจจัยพบว่าไทยอยู่ในอันดับ 13 ซึ่งไม่ได้เป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯเป็นหลัก แต่เชื่อว่าน่าจะจับตาเป็นพิเศษประเทศที่เกินดุลการค้าอันดับต้นๆ ในเชิงมูลค่าที่สูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯหลายเท่า เช่น แคนาดา และ เม็กซิโก           

          อย่างไรก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)น่าจะมีวิธีบริหารจัดการที่แอกทีฟมากขึ้นตามเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่การบริหารจัดการของธปท.อาจจะต้องทำควบคู่ไปกับการส่งสัญญาณด้วย เพื่อลดการคาดหวังหรือคาดการณ์ของตลาด แต่ถ้าหากไม่ส่งสัญญาณ มาตรการที่ธปท.ใช้หรือเข้าไปดูแลอาจไม่เพียงพอ           

          ขณะเดียวกันธปท.อาจขอความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย (TBA) หรือธนาคารพาณิชย์ในการออกโปรแกรมชั่วคราวมาช่วยลดต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนโดยการทำ Forward หรือชดเชยในส่วนของ Swap Point ที่ติดลบ จิติพล พฤกษาเมธานันท์           

          นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า โอกาสที่ไทยจะโดนจับตาน้อยมาก เพราะปัจจุบันเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนมาก ประเทศที่ควรถูกสอบว่าทำค่าเงินตัวเองให้อ่อนเพื่อช่วยการค้าควรเป็นสหรัฐฯ ไม่ใช่ไทย           

          ประเด็นที่ 2 คือ ท่าทีของทรัมป์เมื่อปีก่อน เชื่อว่าจะไม่มีการกีดกันทางการค้า แต่จะเป็นการขู่ให้ซื้อของจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมากกว่า ปีนี้ก็มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเปลี่ยนท่าทีเพราะสหรัฐฯก็ยังขาดดุลการค้าหนักขึ้น ผศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ           

          นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตคณะกรรมการธปท.กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาต่อเนื่อง จากส่งออกโตและนำเข้าตํ่า และมีเงินทุนไหลเข้าตราสารหนี้ ซึ่งธปท.เข้าไปบริหารจัดการเป็นระยะๆ           

          สำหรับปีนี้การบริหารควรผสมผสานแนวทางเพื่อช่วยผ่อนคลายหรือลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาท รัฐบาลต้องเร่งรัดการนำเข้าและจัดการบริหารหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ นักวิเคราะห์ตลาดเงินรายหนึ่งกล่าวว่า หากธปท.แทรกแซงค่าเงินตามที่ถูกกล่าวหาจริง แต่ทำไมค่าเงินบาทในปี 2560 ยังคงแข็งค่าเกือบ 10%           

          นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า กระแสข่าวว่าไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษนั้นเป็นเรื่องที่ธนาคารต่างชาติบางแห่งหยิบยกประเด็นมานำเสนอเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นประเด็นอะไรที่น่ากังวลมากนัก           

          อย่างไรก็ดีการแทรกแซงค่าเงินบาทนั้น จะต้องเห็นเงินบาทนั้นกลับข้างทันที แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าไปแล้วกว่า 2% ซึ่งสิ้นปีคาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่า 5% เงินบาทวานนี้(16 ม.ค.) เคลื่อนไหวในกรอบ 31.91-31.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทิศทางยังแข็งค่าต่อเนื่อง
ที่มา  www.thansettakij.com
(วันที่ 19 มกราคม 2560)