ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
04 มี.ค.2557

ทุ่ม 1.7 แสนล.บูมสถานีบางซื่อ-ย่านพหลฯ ดึงเอกชนลงทุน ผุดบีอาร์ที-อุโมงค์เชื่อมห้างเซ็นทรัล-ปตท.

Line
ทุ่ม 1.7 แสนล.บูมสถานีบางซื่อ-ย่านพหลฯ ดึงเอกชนลงทุน ผุดบีอาร์ที-อุโมงค์เชื่อมห้างเซ็นทรัล-ปตท.
 
 
 
 
เปิดพิมพ์เขียวแสนล้านโครงข่ายคมนาคม บูมย่านพหลโยธิน-บางซื่อ ผุดบีอาร์ที-รถรางระยะทาง 10 กม. มูลค่ากว่า 7 พันล้าน เชื่อมห้างเซ็นทรัล เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ สวนจตุจักร สถานีรถไฟฟ้า 3 สาย "สีแดง-ใต้ดิน-บีทีเอส" พ่วงขุดอุโมงค์ทางเดินยาว 1.5 กม. เนรมิตพื้นที่ค้าปลีกใต้ดินกว่า 1.6 แสนล้าน เล็งดึงเอกชนร่วมลงทุนแลกสิทธิ์เช่าที่ดิน 127 ไร่ ยาว 30 ปี 
 
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สนข.ได้ข้อสรุปผลการศึกษาระบบเชื่อมต่อบริเวณศูนย์คมนาคมย่านพหลโยธิน พื้นที่ 2,325 ไร่ เพื่อรองรับการเดินทางเชื่อมโยงภายในและรอบนอกสถานีกลางบางซื่อให้มีความ สะดวกมากขึ้นตามแผนโครงการจะเปิดใช้ในปี 2560 โดยมี 2 รูปแบบ คือ 1.ระบบขนส่งขนาดรอง มีให้เลือกระหว่างรถราง (Tram) หรือบีอาร์ที ซึ่งเป็นรถเมล์ด่วน และ 2.สร้างอุโมงค์ทางเดินเชื่อมใต้ดิน 
 
ผุดบีอาร์ที-รถราง-อุโมงค์
 
โดย รถรางและบีอาร์ทีโครงสร้างมีทั้งยกระดับและระดับดิน แนวเส้นทางวิ่งเป็นวงกลมจากสถานีกลางบางซื่อผ่านรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีจตุจักร ห้างเซ็นทรัล อาคารเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ โครงการพัฒนาย่าน กม.11 สิ้นสุดที่สถานีจตุจักรของรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) 
 
ส่วนอุโมงค์รูปแบบเป็นทางเดินใต้ดิน3 ชั้น ระยะทาง 1.5 กม. บนพื้นที่ 127 ไร่ เชื่อมพื้นที่ 3 สถานี คือ สถานีกลางบางซื่อ รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีกำแพงเพชร สถานีจตุจักร และรถไฟฟ้าบีทีเอสจตุจักร จะพัฒนาเป็นแหล่งช็อปปิ้ง เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ที่จอดรถใต้ดินเหมือนในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น
 
"กำลังดูรายละเอียด ความเป็นไปได้ในการลงทุนและพัฒนาพื้นที่ บางส่วนให้เอกชนมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ เช่น อุโมงค์ทางเดิน จะทำสถานีให้เป็นหลายชั้น เปิดให้ทำเป็นร้านขายของเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงโปรเจ็กต์ได้ เพราะสถานีกลางบางซื่อคาดว่าจะมีคนมาใช้บริการมากในแต่ละวัน รวมทั้งมีพื้นที่ให้ร้านค้าบางส่วนที่ตลาดนัดจตุจักรมาขายด้วย" นายจุฬากล่าวและว่า 
 
ในอนาคตสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางด้าน ระบบราง ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟธรรมดา และรถไฟความเร็วสูง รูปแบบเหมือนกับสถานีเซ็นทรัลที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แต่จะมีพื้นที่ใหญ่กว่าหลายเท่า ดังนั้นถ้าจะปล่อยไม่มีการพัฒนาเลยคงเป็นไปไม่ได้ วิธีการคือเคลียร์การพัฒนาบริเวณนี้ใหม่โดยไม่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต่อสัญญาเช่าที่ดินอีก 
 
เฟสแรกลงทุน 3 พันล้าน
 
"จำ เป็นต้องจัดระเบียบการใช้ประโยชน์แปลงที่ดินทั้งย่านใหม่ โดยเจรจากับผู้เช่าเดิมให้มาเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ใต้ดินแทน แลกกับให้สัญญาเช่านานขึ้น ต่อไปสถานีกลางบางซื่อจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางทั้งรถเมล์ รถ บขส. รถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง คนจะเยอะมากเมื่อมีกิจกรรมในอุโมงค์ตลอดสองข้างทาง มู้ดจะแตกต่างกับไม่มีอะไรเลย"
 
นายวิจิตร นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร (สพร.) สนข.กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบที่บริษัทที่ปรึกษานำเสนอ เบื้องต้นให้เป็นระบบบีอาร์ที เพราะ ค่าก่อสร้างถูกและมีความคุ้มค่าการลงทุนมากที่สุดอยู่ที่ 19.25% เมื่อเทียบกับรถราง แต่ทั้งนี้ระบบรถรางเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลใหม่จะอนุมัติลงทุนรูปแบบไหน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2558-2560 เพื่อให้ทันเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อปี 2560 
 
สำหรับแนวเส้นทางออกแบบ ให้มีระยะทาง 10.3 กม. แยกเป็นโครงสร้างยกระดับ 3.14 กม. มีจุดเริ่มต้นวิ่งวนรอบสถานีกลางบางซื่อ เป็นที่ตั้งสถานีที่ 1-2 แล้วตัดเลาะเส้นทางไปตามแนวรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ยกข้ามทางด่วนและสวนจตุจักรมาถึงบีทีเอสหมอชิตที่จะเป็นจุดที่ตั้งของสถานี ที่ 3-4 จากนั้นสถานีที่ 5-13 จะเป็นระดับดินระยะทาง 7.16 กม. ใช้เงินลงทุนทั้งโครงการ 7,359.9 ล้านบาท 
 
เชื่อมบางซื่อ-เซ็นทรัล
 
"ที่ปรึกษาเสนอให้แบ่งก่อสร้าง 2 เฟส คือ ระยะแรกพัฒนาจากสถานีกลางบางซื่อ-ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว (สถานีที่ 1-6) ตามแผนจะเริ่มปี 2560 มูลค่าลงทุน 3,793.6 ล้านบาท ส่วนสถานีที่ 7-13 หรือเส้นทางจากเซ็นทรัลลาดพร้าว-สถานีกลางบางซื่อ ให้พัฒนาเป็นระยะที่ 2 เพราะพื้นที่ยังไม่ค่อยมีเหลือพัฒนามากนัก มูลค่าลงทุน 4,504.8 ล้านบาท โดยเป็นแผนลงทุนในปี 2565" 
 
นายวิจิตรกล่าวและว่า ส่วน อุโมงค์ใต้ดิน สนข.จะของบประมาณปี 2558 ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเนื่องจากใช้เงินลงทุนสูงเพราะรวมการลงทุนพัฒนา ส่วนพลาซ่าด้วย คาดว่าใช้เงินลงทุน 169,378 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างอุโมงค์ 1.5 กม. วงเงิน 55,180 ล้านบาท ค่าดำเนินการส่วนพลาซ่า 114,198 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี 
 
นาย วิจิตรกล่าวว่า ในส่วนพลาซ่าออกแบบพัฒนาบนพื้นที่ 127.5 ไร่ประกอบด้วย 1.พื้นที่สวนสาธารณะ มีอาคารพาณิชยกรรมขนาดเล็กกระจายอยู่รอบนอก 204,000 ตร.ม. 2.พื้นที่พัฒนาใต้ดิน เป็นทางเดินเชื่อมสถานีกลางบางซื่อ-รถไฟฟ้าใต้ดินและบีทีเอสที่หมอชิต 63.6 ไร่ พื้นที่เช่า 118,102.5 ตร.ม.รายละเอียดเชิงลึกมีการแบ่งพื้นที่เช่าเชิงพาณิชย์ 9 โซน (เอถึงเอช) ได้แก่ โซนเอ 23 ไร่ พื้นที่เช่า 21,204 ตร.ม., โซนบี 2 ไร่ พื้นที่เช่า 1,080 ตร.ม., โซนซี 3.6 ไร่ พื้นที่เช่า 1,260 ตร.ม., โซนดี 2.7 ไร่ พื้นที่เช่า 2,263 ตร.ม., โซนอี 2.5 ไร่ พื้นที่เช่า 2,263 ตร.ม., โซนเอฟ 9.2 ไร่ พื้นที่เช่า 3.609 ตร.ม., โซนจี 4.6 ไร่ พื้นที่เช่า 3,496 ตร.ม. และโซนเอช 11 ไร่ พื้นที่เช่า 13,950 ตร.ม.
 
ดึงเอกชนบูมค้าปลีกใต้ดิน
 
"การลงทุนอุโมงค์ทางเดิน เบื้องต้นจะให้เอกชนที่สนใจมาลงทุนทั้งหมดรวมถึงระบบบีอาร์ทีด้วย คิดเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 176,737 ล้านบาท โดยแลกสิทธิ์การเช่าพื้นที่พลาซ่าระยะยาว 30 ปี แบ่งรายได้บางส่วนให้การรถไฟฯเพราะเป็นเจ้าของที่ดิน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่จะตัดสินใจ แต่ถือว่าคุ้มเพราะคนจากรอบนอกที่ใช้โครงข่ายรถไฟฟ้าจะป้อนเข้ามาในย่านนี้ วันละกว่า 2 แสนคน" นายวิจิตรกล่าวและว่าในปี 2560 การเดินทางเข้า-ออกย่านนี้จะเพิ่มเป็น 297,844 เที่ยวคน/วัน จากปัจจุบัน 2 แสนเที่ยวคน/วัน หลังเปิดรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สีแดง (บางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ, หัวลำโพง-บางแค) สีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่)
 
 
 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 3 มีนาคม 2557
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1393823587