ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
16 พ.ค.2561

THBA หวั่นแรงงานเขมรเผ่นกลับบ้าน แนะระบบพรีแฟบแก้โจทย์แรงงานขาดแคลน

Line
          THBA หวั่นแรงงานกระเพื่อม หลัง “สมเด็จฮุนเซน” ปลุกเร้าแรงงานกัมพูชากลับบ้าน นายก ส.ไทยรับสร้างบ้าน ชี้คนไทยปฎิเสธทำงานก่อสร้าง เพราะงานหนัก เผยรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ไม่พร้อมปรับตัว ขณะที่ดีเวลลอปเปอร์ และรับสร้างบ้านชั้นนำ อาทิ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ พฤกษา พีดีเฮ้าส์ ทิ้งห่างไปไกล เชื่อตลาดรับสร้างบ้าน 6 เดือนแรก ขยายตัวตามคาด 8,000 ล้านบาท 

          นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกมาเรียกร้องให้แรงงานชาวกัมพูชาที่กำลังทำงานอยู่ในประเทศไทย ให้เดินทางกลับไปทำงานในบ้านเกิด โดยเฉพาะแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบัน กัมพูชาขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก เหตุเพราะมีโครงการลงทุนต่างๆ เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก โดยการออกมาประกาศของสมเด็จฮุนเซนในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมกับชาวกัมพูชาที่เข้ามาค้าแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจหรือเลือกจะทำงานก่อสร้างกันแล้ว แม้ว่าจะได้ค่าแรงแพง นั่นก็เพราะเป็นงานที่หนักเหนื่อย และสกปรก ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทที่ต้องใช้ทักษะ หรือกรรมกรก่อสร้างก็ตาม ฉะนั้น หากแรงงานกัมพูชาส่วนหนึ่งเดินทางกลับตามคำเรียกร้อง ปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น การปรับค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นเพื่อแย่งชิงแรงงานก็จะย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีก 

          “สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ประเมินว่า นับวันปัญหาแรงงานขาดแคลน และค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น หากผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายใด ไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจหรือผลประกอบการก็จะค่อยๆ ถดถอยลง หรือรับงานได้น้อยลง และอาจถึงขั้นจะต้องออกจากธุรกิจนี้ไป เพราะการดำเนินธุรกิจและแข่งขันจะยากลำบากมากขึ้น เหตุผลหลักๆ เป็นเพราะว่า ในปัจจุบัน และในอนาคต พฤติกรรมหรือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ การตอบสนองจากสินค้าและบริการ คือ “คุณภาพ สะดวก รวดเร็ว” ซึ่งการก่อสร้างรูปแบบเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์ และควบคุมได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ระบบพรีแฟบ หรือโครงสร้างสำเร็จรูป ก็เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วประเทศแล้ว สังเกตได้จากการที่ดีเวลอปเปอร์ และบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ เช่น กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, แสนสิริ, พฤกษา, แลนดี้โฮม และ พีดีเฮ้าส์ ฯลฯ ที่ใช้ระบบพรีแฟบ หรือโครงสร้างสำเร็จรูป ต่างมีมูลค่าแชร์ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น และขยายตลาดได้ทั่วประเทศ”

          สถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งในปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดส่วนใหญ่ยังคงใช้ระบบก่อสร้างรูปแบบเดิมๆ คือ หล่อคอนกรีตในที่ หรือการผูกเหล็ก ประกอบไม้แบบ และเทคอนกรีตโครงสร้าง ณ สถานที่ก่อสร้างนั้น โดยยังคงต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก สวนทางกับดีเวลอปเปอร์ที่ต่างเปลี่ยนมาใช้ระบบพรีแฟบกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว อย่างไรก็ตาม ระบบพรีแฟบ หรือโครงสร้างสำเร็จรูปนั้น ยังไม่เป็นที่นิยมของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านมากนัก สาเหตุเพราะว่าไม่คุ้นเคย และที่สำคัญ คือ ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทั้งการออกแบบด้านวิศวกรรม, สถาปัตยกรรม, การคำนวณต้นทุน, การผลิต การขนส่งจากโรงงานไปยังสถานที่ก่อสร้าง และการติดตั้งที่ต้องอาศัยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ ฯลฯ
 
  

 
          นายสิทธิพร นายกสมาคมฯ แนะว่าปัจจุบันมีโรงงานรับจ้างผลิตที่เป็นมืออาชีพ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ สามารถผลิตตามออเดอร์ หรือความต้องการของลูกค้าได้ ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่ต้องการหันมาใช้ระบบพรีแฟบ จึงไม่จำเป็นจะต้องลงทุนสร้างโรงงานผลิตของตัวเองเหมือนในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะอาศัยความเชี่ยวชาญของกันและกันในการสร้างบ้านทุกหลัง เหลือเพียงแค่ผู้ประกอบการกำหนดวิสัยทัศน์ และเร่งปรับตัวเอง เพื่อให้พร้อมจะดำเนินธุรกิจต่อไปในระยะยาว เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ระบบพรีแฟบทั้งแบบโครงสร้างคอนกรีต และโครงสร้างเหล็ก จะเข้ามาแทนที่ระบบก่อสร้างแบบเดิมๆ มากขึ้น และช่วยให้การส่งมอบคุณภาพงานสร้างบ้านทุกหลังเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภคมากขึ้น ภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านก็จะมีความเป็นมืออาชีพ และน่าเชื่อถือในวงกว้างเพิ่มมากขึ้นตามกัน


          ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในช่วง 4 เดือนเศษที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค. 2561) ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ หรือคิดเป็นมูลค่า 6 เดือนแรก 7,500-8,000 ล้านบาท สำหรับความต้องการสร้างบ้านในต่างจังหวัด พบว่าในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. นี้ หลายๆ จังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง เริ่มมีความต้องการ และกำลังซื้อดีขึ้นมาก เช่น เชียงราย, ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, สุรินทร์, นครราชสีมา และสระบุรี ฯลฯ
 


ที่มา : mgronline.com
(วันที่ 16 พ.ค. 61)