ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
30 พ.ค.2561

แบงก์รัฐ ตั้งทีมเร่งคุม หนี้เสีย สกัดเอ็นพีแอลพุ่ง

Line

 

          สคร.มั่นใจหนี้เสีย "แบงก์รัฐ" คุมได้ ชี้ "ออมสิน" เอ็นพีแอลต่ำสุดในระบบที่ 2% แม้เริ่มมีสัญญาณเพิ่มขึ้นจากการบริหารหนี้ครู ขณะ "ชาติชาย" สั่งคุมสิ้นปีไม่เกิน 2.5% ระบุศูนย์บริหารหนี้ที่จัดตั้งขึ้นมาช่วยดูแลได้ ด้าน ธ.ก.ส. เร่งฟื้นฟูหนี้เสียรายย่อยที่มีกว่า  2 หมื่นล้าน กลับมาเป็นหนี้ปกติ ส่วน "เอสเอ็มอีแบงก์" ตั้งเป้าสิ้นปีเอ็นพีแอลลดเหลือ 10%

          ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (เอสเอฟไอ) หลายแห่ง เริ่มทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยธนาคารออมสิน จัดตั้งศูนย์ควบคุมหนี้เสีย 80 แห่งทั่วประเทศ หลังแนวโน้มเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจากการบริหารหนี้ครู ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมปรับโครงสร้างทีมงานส่วนกลาง-ภูมิภาค เพื่อเข้าช่วยเหลือเกษตรกรรายได้น้อยและเอสเอ็มอี หวังลดภาระหนี้และป้องกันปัญหาหนี้เสียเพิ่ม

          นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า แม้แบงก์รัฐหลายแห่งจะตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสีย แต่เท่าที่ติดตามสถานการณ์หนี้เสียในขณะนี้พบว่า ยังอยู่ระดับที่แต่ละแห่งสามารถบริหารจัดการได้ กรณีที่ธนาคารออมสินจัดตั้งศูนย์ติดตามหนี้ ก็ถือเป็นแนวทางการบริหารจัดการหนี้ที่ดี ขณะที่ปัจจุบันธนาคารก็มีหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำ

          ส่วนแบงก์รัฐแห่งอื่นที่มีหนี้เสียในระดับที่สูงกว่า เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) หรือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เมื่อทั้งสองแห่งได้เข้า กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ระดับหนี้เสียก็ทยอย ดีขึ้น ดังนั้นภาพรวมหนี้เสียแบงก์รัฐก็ไม่น่าเป็นห่วง

          นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการหนี้ของธนาคาร ไม่ได้หมายความว่า หนี้เสียของธนาคารมีแนวโน้ม จะเพิ่มขึ้น แต่การตั้งศูนย์ฯก็เพื่อเข้าไปบริหารจัดการหนี้เดิมให้ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตหนี้เสียของธนาคารจะดีขึ้น

          "เราเองมีหนี้เสียน้อยกว่าในระบบ เรียกได้ว่าต่ำสุด และสามารถจัดการได้ดีที่สุด ในมุมของการบริหารจัดการหนี้เสีย แทนที่แต่ละสาขาจะแก้กันเอง เราก็รวมศูนย์แล้วจัดการ โดยนำระบบข้อมูลมา บริหารจัดการ ให้มีประสิทธิภาพ"

ตั้งศูนย์คุมหนี้ไหลไม่เกิน1%

          ทั้งนี้ ศูนย์ฯนี้จะมอนิเตอร์ว่า หนี้ที่มีอยู่  มียอดการชำระเป็นอย่างไร เมื่อค้างชำระเป็นเวลา 7 วัน ทางศูนย์ฯจะติดตามหนี้ทันที เช่นกรณีหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ซึ่งก็คือ หนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ในอดีตไม่ได้รวมศูนย์ หนี้จะไหลไปเป็นหนี้เสียประมาณ 3% แต่เมื่อตั้งศูนย์ฯแล้ว อาจจะไหลไปเพียง 1% หรือ ป้องกันได้ถึง 99% เรียกว่า มีประสิทธิภาพมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม เขาประเมินแนวโน้มหนี้เสียของธนาคารว่า อาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ถือว่า อยู่ในระดับปกติ ควบคุมได้ โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มจากหนี้ที่ปล่อยใหม่ แต่เพิ่มจากการปรับปรุงเกณฑ์การชำระหนี้ในส่วนของครู ทำให้หนี้เสียอาจจะเพิ่มขึ้นได้ โดยทั้งปีมองว่า หนี้เสียอาจจะขยับไปอยู่ที่ 2.4-25%

          "การปรับเกณฑ์การชำระหนี้ของครู อาจกระทบให้หนี้เสียเพิ่ม แต่ไม่ผิดปกติซึ่งเดิม เราจะมีค่าจ้างเรียกเก็บ 1%ถ้าเรียกเก็บไม่ได้ จะเอา 1% มาชำระหนี้ หนี้เสียไม่เกินอะไร แต่เราไปลงนามกับ รมว.ศึกษาว่า เราจะไม่ชำระหนี้แทนครูที่ผิดนัดแล้ว แต่เราจะเอามาลดดอกเบี้ยให้ครูที่ดีมีวินัยแทน ก็อาจจะมีผลให้เกิดหนี้เสียบ้าง แต่จะพยายามคุมให้อยู่ 2.4-2.5% แต่ก็ยังต่ำสุดในระบบ ก็ไม่มีอะไรน่าห่วง"

          ปัจจุบันธนาคารออมสินมีพอร์ตหนี้ครูมี 4 แสนล้านบาท หรือ 20% ของสินเชื่อรวม 2.1 ล้านล้านบาท มีหนี้เสียประมาณ 1%

เอสเอ็มอีแบงก์ลดหนี้เสียเหลือ10%

          นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ ประเมินว่า ในปีนี้ระดับหนี้เสียของธนาคารจะปรับลดลงเหลือราว 1.5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณกว่า 10% จากพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หนี้เสียของธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2558 ระดับหนี้เสียอยู่ที่ประมาณ 40% ปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 37% ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 18%

          หนี้เสียที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าไปบริหารจัดการหนี้เสียที่มีอยู่เดิม และปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ในจำนวนหนี้เสียในขณะนี้ที่มีอยู่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้เสียที่เกิดขึ้นก่อนปี 2558 ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 3 พันล้านบาท เป็นหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา หรือราว 1% ของสินเชื่อรวม

          อย่างไรก็ดี ในจำนวนหนี้เสียประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ดังกล่าวนั้น ในปีนี้ ธนาคาร มีแผนจะขายทอดตลาดหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีประมาณ 9,000 ล้านบาท คาดว่า จะสามารถตัดขายได้ประมาณ 4 พันล้านบาท หรือประมาณเกือบ 50% ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีเม็ดเงินส่วนนี้กลับเข้ามาเป็นรายได้

ยอดขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนเพิ่ม

          สำหรับสถานการณ์สินเชื่อของธนาคาร เขากล่าวว่า มีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น แต่ไม่ได้ดีทั้งกลุ่ม จะดีเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและการท่องเที่ยว รวมทั้ง ธุรกิจใหม่ๆ เช่น สื่อออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ สินเชื่อใหม่ในขณะนี้ สามารถปล่อยไปได้แล้วประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เป้าหมายทั้งปีจะปล่อยที่ 3.5 หมื่นล้านบาท เชื่อว่า จะทำได้ตามเป้าหมาย

ธ.ก.ส.เร่งช่วยหนี้เสียคนจน

          นายสมศักดิ์ กังธีรวัฒน์ รองผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวว่า ระยะที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ธนาคารมีมาตรการเข้าไปช่วยลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีภาระหนี้หนักและได้มาลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการรัฐ โดยจะดำเนินการผ่านการยืดหนี้ ฟื้นฟูอาชีพเพื่อให้มีรายได้ที่ดีขึ้น ฉะนั้น ในภาพรวมของการบริหารจัดการหนี้เสียนั้น เราจะพยายามคุมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 4% จากสิ้นปีบัญชี 2560 ที่อยู่ในระดับกว่า 4.3%

          ปัจจุบัน ธนาคารมีหนี้เสียอยู่ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสียที่เกิดจากรายย่อยราว 40% คิดเป็นมูลหนี้กว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนี้เสียที่เกิดกับคนจนที่มาลงทะเบียนรับสวัสดิการรัฐเพิ่ม หนี้กลุ่มนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟู เพื่อปรับสถานะมาเป็นหนี้ปกติ คาดว่า จะเริ่มฟื้นฟูอาชีพเพื่อสร้างรายได้หลังเดือน มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ หนี้เสียรายใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากเอสเอ็มอีเกษตร จะมีจำนวนไม่เกิน 1%

          กรณีราคาสินค้าเกษตรบางรายการปรับลดลงในระยะที่ผ่านมาจะก่อให้เกิดภาระหนี้เสียเพิ่มหรือไม่ เขากล่าวว่า กรณีราคายางพารา ขณะนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว ไม่น่าเป็นห่วง ซึ่งระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ได้มีมาตรการไปช่วยเหลือพอสมควร โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีอาชีพเสริมในสวนยางพารากว่า 1.2 แสนราย ทำให้ชาวสวนยางยังมีรายได้

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
(วันที่ 30 พ.ค. 61)