ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
12 มิ.ย.2561

แบงก์รัฐลดหนี้เน่า3หมื่นล้านบาท

Line

 

หนี้ลด3หมื่นล.

         สศค.ชี้ไตรมาสแรกแบงก์รัฐ หนี้เสียทั้งระบบอยู่ที่ 2.3 แสนล้าน ลดลง 3 หมื่นล้านเทียบปีก่อน ยอดสินเชื่อทั้งระบบ อยู่ที่ 4.63 ล้านล้าน

         สศค.ชี้ไตรมาสแรกแบงก์รัฐ หนี้เสียทั้งระบบอยู่ที่ 2.3 แสนล้าน ลดลง 3 หมื่นล้านเทียบปีก่อน ฟันกำไรแล้วกว่า 2 หมื่นล้าน

         สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยผลดำเนินงานสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ ไตรมาสแรกปี 2561 ว่า ยอดสินเชื่อของ ทั้งระบบอยู่ที่ 4.63 ล้านล้านบาท ขยายตัว 7.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.88% จากเดือนก่อนหน้า ด้านเงินรับฝากทั้งระบบอยู่ที่ 4.75 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.82% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 1.47% จากเดือนก่อนหน้า

         ขณะที่กำไรสะสมทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาสแรกอยู่ที่ 2.06 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 1.29 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่มีกำไร 1.41 หมื่นล้านบาท

         สำหรับยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ทั้งระบบอยู่ที่ 2.31 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.11% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 0.86% และลดลง 1.1 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

         นอกจากนี้ ยอดสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ทั้งระบบในเดือน มี.ค.อยู่ที่ 2.29 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.07% ของสินเชื่อรวม ด้านปริมาณสินเชื่อต่อยอดเงินฝากในระบบ หรือ L/D ในเดือน มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นที่ 97.57% จากเดือน ก.พ. 2561 ที่มีอัตรา 97.18% รวมทั้ง เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ บีไอเอส ของทั้งระบบอยู่ที่ 12.85% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเอ็นพีแอล 11.87%

         ก่อนหน้านี้ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินเปิดศูนย์ควบคุมและบริหารจัดการหนี้ 80 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเกาะติดลูกหนี้หลังปล่อยสินเชื่อไปแล้ว

         ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารออมสินมีหนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.05% ณ สิ้นปี 2560 หรือราว 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้หากไม่เร่งติดตามมีโอกาสที่เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 5 หมื่นล้านบาท หากไม่ดำเนินมาตรการป้องกัน

         ด้าน นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. กล่าวว่า มีเอ็นพีแอลจำนวน 4.31 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4.21% และคาดว่าในปี 2561 จะลดให้เหลือ 4%

         ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. มีหนี้เอ็นพีแอลอยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีบัญชี 2560 หรือที่อยู่ในระดับกว่า 4.3% ของสินเชื่อรวม โดยในปีบัญชี 2561 ตั้งเป้าหมายลดเอ็นพีแอลให้เหลือที่ระดับไม่เกิน 4%

         ด้านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ มีเอ็นพีแอล ณ สิ้นไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.67% คิดเป็น วงเงิน 3,290 ล้านบาท และได้ปรับปรุงกระบวนการทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้สินเชื่ออย่างมีคุณภาพมากขึ้น

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
(วันที่ 11 มิถุนายน 2561)