ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
10 ก.ย.2561

สั่งคุมเข้มสินเชื่ออสังหาฯ-ห่วงอุปทานล้นแบงก์ผวา ดีมานด์เทียม พุ่ง

Line
​          สถาบันการเงิน ส่งสัญญาณคุมเข้มปล่อยกู้อสังหาฯ หลังพบดีมานด์เทียมพุ่ง "แบงก์กรุงเทพ" เข้มทั้งสินเชื่อผู้ประกอบการ -รายย่อย ชี้เริ่มเห็นสัญญาณอันตรายกลุ่มคอนโดมิเนียม หลังพบยอดจองเต็มแต่ยอดโอนกลับไม่มี หวั่นซ้ำรอยวิกฤติ ด้าน "กสิกร-กรุงไทย" ลั่นระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้อยู่แล้ว


          นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังและชะลอการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้กับ ผู้ประกอบการ รวมทั้งสินเชื่อที่ให้กับรายย่อยเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยด้วย เนื่องจากปัจจุบันเริ่มเห็นภาวะล้นตลาด(โอเวอร์ซัพพลาย) จากอุปทานที่มากเกินไป ประกอบกับเริ่มมีอาคารชุด (คอนโดมิเนียม) สร้างเสร็จแต่ขายไม่ออกจำนวนมากขึ้น หรือมียอดจองซื้อเต็ม แต่กลับไม่มียอดโอน สะท้อนถึงภาวะ "ดีมานด์เทียม"

​          นอกจากนี้จะเห็นว่า กลุ่มผู้ประกอบการเริ่มแข่งกันทำโปรโมชั่นมากขึ้น ทั้งลด แลก แจก แถม เพื่อจูงใจให้คนมาซื้อคอนโดมิเนียม สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงสัญญาณโอเวอร์ซัพพลาย เป็นสัญญาณอันตราย ซึ่งในอดีตไทยก็เคยเผชิญวิกฤติดังกล่าว ดังนั้นการปล่อยสินเชื่อ ของธนาคารพาณิชย์จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น

​          "เราระวังปล่อยกู้ทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่ง ผู้ประกอบการที่สร้างคอนโด และผู้กู้ รายย่อย เพราะโอเวอร์ซัพพลายเริ่มเยอะ เริ่มเห็นคอนโดขายไม่ออกเยอะ ยอดจอง มี แต่ไม่ได้มาซื้อจริงๆ โอนจริงๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดดีมานด์เทียม ทำให้เราต้อง ระมัดระวังทั้งคู่ ซึ่งต่างจากบ้านแนวราบ ที่ยังเห็นว่ายังไม่ได้ส่งสัญญาณการเกิดปัญหาในเวลานี้  ดังนั้นแม้ว่าการเข้าไปปล่อยกู้ใน ภาคอสังหาฯจะทำกำไรดีให้กับแบงก์ แต่เราก็ไม่ควรมองด้านนี้ ควรต้องระวัง ไม่ควรปล่อยซี้ซั้ว เพราะเห็นมาเยอะแล้วในอดีต ที่ทำให้เกิดวิกฤติ" นายเดชากล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แบงก์ต้อง พิจารณามากขึ้น เมื่อเข้าไปปล่อยสินเชื่อ ให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ คือ เรื่องทำเล ที่แบงก์ต้องพิจารณา อย่างรอบคอบก่อนปล่อยกู้ โดยเฉพาะ คอนโดตามแนวรถไฟฟ้า หรือหากเป็น ทำเลที่คอนโดมีมากเกินไป สองคือ เรื่องสภาพคล่อง หรือเงินลงทุนของผู้ประกอบการ ว่ามีเพียงพอตามเกณฑ์หรือไม่ เพราะหากมีทุนไม่มากพอก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ ไม่ใช่ใช้ทุนแบงก์ทั้งหมด ข้อนี้ก็อาจให้สินเชื่อไม่ได้

​          นายเดชา ยังกล่าวอีกว่า การให้ สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to value ratio-LTV) ปัจจุบันธนาคาร ก็ดูแลอย่างรัดกุม ให้การปล่อยสินเชื่อ ให้กับรายย่อย ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่ธปท. กำหนด

​          "ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีแอลของธนาคารในภาคอสังหาริมทรัพย์ ของธนาคารปัจจุบัน ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ทั้งสองด้าน ทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้กู้รยย่อย เพราะเรามีการสั่งทีมให้ระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะดีมานด์ที่เข้ามาซื้อคอนโดไม่ได้มาจากความต้องการซื้อเพื่ออยู่จริงทั้งหมด แต่มาหวังซื้อเพื่อเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ด้วย" นายเดชากล่าว

​          นายอลงกต บุญมาสุข ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายบริหารพันธมิตรและ ส่งเสริมการตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้ส่งสัญญาณเตือนให้ ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญทำให้ ภาคธนาคารพาณิชย์ หันมาระมัดระวังการปล่อย สินเชื่อประเภทนี้เพิ่มขึ้น

​          โดยในส่วนของ ธนาคารกสิกรไทย ได้ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ประเภทนี้อยู่แล้ว หลักๆ ยังให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของผู้กู้ โดยดูจากรายได้ และหนี้ต่อรายได้ เป็นหลัก รวมไปถึงวงเงินการให้สินเชื่อ เช่น LTVที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ธทป.กำหนดมาโดยตลอด      สำหรับปีนี้ ธนาคารยังคงควบคุมเอ็นพีแอลในส่วนอสังหาริมทรัพย์ไม่ให้เกิน4% และตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ (นิวโลน) ปีนี้ราว4.5หมื่นล้านบาท

​          นายผยง ศรีวณิช กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ธนาคารให้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว ไม่ได้เร่งปล่อยกู้มากเกินไป อีกทั้งการปล่อยกู้ของธนาคารก็ยึดตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. ต่อเนื่อง
โดย  LTV ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ตลอด ไม่ได้ให้สูงเกินกว่า 90-95% แต่หากรวม สินเชื่ออื่นๆ เช่นสินเชื่อเอนกประสงค์ ก็อาจมีเกินได้ แต่ที่ผ่านธนาคารไม่มีการหย่อนเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อลงไป ซึ่ง หลักเกณฑ์ที่ธนาคารดูเพื่อใช้พิจารณาปล่อยกู้คือสภาพคล่องของผู้ประกอบการ หรือผู้กู้เป็นอย่างไร ก่อสร้างคอนโดมาแล้วมีโอกาสขายได้หรือไม่ หาก ผู้ประกอบการมีเครดิตที่ดี และพิสูจน์ได้ว่า หากสร้างคอนโดมาแล้วจะมี ยอดจอง และยอดโอนเต็ม ธนาคาร ก็สามารถปล่อยกู้ได้
 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
(วันที่ 10 กันยายน 2561)