ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
23 เม.ย.2557

ส.ไทยรับสร้างบ้านแนะผู้ประกอบการเจาะลูกค้าสินเชื่อสร้างบ้าน

Line
 
 
 
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในช่วง 3 เดือนแรก ยอดขายลดลงชัดเจน 10-30% ผู้ประกอบการบางรายยังไม่มียอดขาย ชี้เข้าสู่ภาวะวิกฤต วอนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง หาทางป้องกันความเสียหายก่อนกระทบถึงผู้บริโภค พร้อมแนะผู้ประกอบการเจาะลูกค้าสินเชื่อสร้างบ้าน
       
       นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในช่วง 3 เดือนเศษที่ผ่านมา ปริมาณ และมูลค่าตลาดรวมทั่วประเทศปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่ตลาดเดิมอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มียอดขาย หรือยอดจองลดลงกว่าร้อยละ 10-30 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ยังพบว่าบางรายไม่มียอดขายมากว่า 3 เดือนแล้ว ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเข้าสู่สภาวะวิกฤตก็ไม่ผิดนัก สำหรับธุรกิจที่ผู้ประกอบการเกือบทั้งระบบคือ SMEs ซึ่งมีเงินทุนหรือสายป่านไม่ยาวนัก โดยอาจพิจารณาได้จากข้อมูลอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนี้ ได้แก่ การขอเลื่อนชำระหนี้ หรือเงินค่าสินค้าของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายสินค้าเริ่มรับรู้ และได้รับผลกระทบบ้างแล้ว
       
       “ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรช่วยกันเฝ้าระวังสัญญาณอันตรายนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ช่วยป้องกันมิให้เกิดความเสียหายจนอาจส่งผลกระทบไปถึงผู้บริโภคด้วยเป็นอันขาด เพราะนั่นจะทำให้ความน่าเชื่อถือที่อุตส่าห์สั่งสมกันมานานอาจต้องมาพังลงเพียงเพราะผู้ประกอบการบางรายเท่านั้น”
       
       สมาคมฯ พบว่า ผู้ประกอบการกลุ่มหนึ่งที่ปรับตัวได้ทันก่อนหน้านี้ด้วยการหันมาเจาะกลุ่มกำลังซื้อ หรือบุกตลาดพื้นที่ใหม่ๆ โดยเฉพาะที่ผ่านมา บรรดาผู้ประกอบการรับสร้างบ้านส่วนใหญ่อาจไม่ได้มุ่งเน้นที่จะสื่อสารกับผู้บริโภคบางกลุ่มอย่างจริงจัง ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ในต่างจังหวัด และต้องการใช้วิธี “กู้ยืม” จากสถาบันการเงิน หรือธนาคารผู้ให้บริการสินเชื่อ หรือปล่อยกู้ระยะยาวเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยหลังใหม่ ทั้งนี้ จากผลสำรวจความเห็นผู้บริโภคที่มีความต้องการสร้างบ้านในช่วง 3-12 เดือนข้างหน้า (จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 ราย) พบว่า ผู้บริโภคประสงค์จะขอใช้บริการ “สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย” กับธนาคารฯ เกือบร้อยละ 60 ในขณะที่อีกกว่าร้อยละ 40 พร้อมจะใช้เงินสด หรือเงินออมเพื่อปลูกสร้างบ้านหลังใหม่
       
       หากเปรียบเทียบข้อมูลกับกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยหลังใหม่ โดยการเลือกซื้อบ้านจัดสรร หรือคอนโดมิเนียม พบว่า มีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องเพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้กว่าร้อยละ 70-80 นิยมใช้สินเชื่อหรือกู้ยืมธนาคาร มากกว่าใช้เงินออม อย่างไรก็ดี ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภค 2 กลุ่มนี้แตกต่างกันก็คือ “ความรู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหน” บ้านหรือที่อยู่อาศัยที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันของผู้บริโภคกลุ่มที่ใช้บริการ “รับสร้างบ้าน” ซึ่งมีมากกว่ากลุ่มกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือบ้านจัดสรร นั่นเป็นเพราะเหตุผลที่ว่า
       
       1.ที่ดินที่ใช้สำหรับปลูกสร้างบ้าน และเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้นั้น ผู้กู้ยืมเป็นเจ้าของมาก่อน ซึ่งอาจจะได้มาจากมรดกตกทอดของบรรพบุรุษ หรือซื้อเก็บสะสมไว้นานแล้ว
       
       2.บ้านที่ก่อสร้าง ผู้กู้ยืมมีส่วนร่วมมาตั้งแต่เริ่มต้น เช่น การออกแบบบ้าน หรือเลือกแบบบ้าน การเลือกวัสดุ การควบคุม หรือดูแลระหว่างก่อสร้าง การมีส่วนร่วมที่พบและแก้ปัญหาร่วมกับผู้รับจ้าง กระทั่งก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ
       
       ในขณะที่คนซื้อบ้านจัดสรร หรือคอนโดมิเนียมไม่อาจเข้าถึง 2 สิ่งที่กล่าวถึงข้างต้น ฉะนั้น หากผู้บริหารธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่รับผิดชอบบริหารพอร์ตสินเชื่อบ้านสร้างเอง จึงควรเข้าใจด้วยว่า ทำไม? ตัวเลขหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการรับสร้างบ้านถึงได้ต่ำมาก เมื่อเปรียบกับตัวเลขหนี้เสียที่มาจากกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านจัดสรร
       
       “ในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้แนะนำ และกระตุ้นให้สมาชิกสมาคมฯ หันมามุ่งเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารเป็นพิเศษ และก็ต้องบอกว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยเมื่อปีที่แล้ว สินเชื่อสร้างบ้านของกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ มีมูลค่าเกือบ 400 ล้านบาท (จากยอดขายรวม 1,200 ล้านบาทเศษ) หรือคิดเป็นร้อยละ 30 สำหรับในปี 2557 นี้ สมาคมฯ คาดว่ามูลค่าการขอสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการกับสมาชิกสมาคมฯ น่าจะเติบโตขึ้นอีกร้อยละ 20-30 หรือประมาณ 500 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน นั่นคือ ความหวังที่สมาคมฯ ประเมินว่าสถานการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจเช่นปีนี้ โอกาสที่ธุรกิจรับสร้างบ้านจะเติบโตได้ ผู้ประกอบการต้องมีกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองตรงความต้องการลูกค้ามากขึ้น” นายกสมาคมฯ กล่าวทิ้งท้าย
       
       นายสิทธิพร สุวรรณสุต
       นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดี เฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด www.pd.co.th
 
 
 
ที่มา :ASTV ผู้จัดการออนไลน์  วันที่ 23 เมษายน 2557
http://goo.gl/7BhHp5