ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
15 พ.ย.2561

ลุ้นสนช.พิจารณาภาษีที่ดิน-บ้าน ยันไม่กระทบรายย่อย...

Line
         

​          ลุ้น “สนช.” ถกผ่านพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดบังคับใช้ 1 ม.ค.63 ยันเจ้าของที่อยู่อาศัยหลังแรกและเกษตรกรรายย่อย 99.9% ไม่ได้รับผลกระทบ เหตุยกเว้นมูลค่าที่ดินให้ 50 ล้านบาทแรก ชี้ช่วยรัฐโกยภาษีเพิ่มปีละหมื่นล้าน
พฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน 2561 เวลา 06.15 น.

​          เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง วาระ 2 และ 3 ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ โดยกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 และเริ่มเก็บภาษีจริงได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป โดยเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้วจะเข้ามาทดแทนกฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ และ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ช่วยสนับสนุนให้การเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีประสิทธิภาพมากขึ้น

​          สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเพดานอัตราภาษีที่ดินเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมกำหนดไว้ 0.15%  ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย 0.3%  ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรม สันทนาการ และอื่นๆ 1.2% และที่ดินรกร้างว่างเปล่า 3% อย่างไรก็ตาม อัตราเก็บภาษีจริงจะต้องออกเป็นกฎหมายลูก ซึ่งได้มีการพิจารณาเป็นที่เรียบร้อยเพื่อบรรจุไว้ในบทเฉพาะกาลของกฎหมาย เพื่อใช้เก็บภาษีจริงใน 2 ปีแรก โดยที่ดินเพื่อการเกษตรสำหรับบุคคลธรรมดาเว้นภาษีในส่วนมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ทำให้เกษตรกร 99.9% ทั้งประเทศได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท จะเก็บ 0.01% หรือล้านละ 100 บาท พร้อมกับเว้นการเก็บภาษีให้ 3 ปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบ ส่วนเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคลให้เก็บภาษีตั้งแต่บาทแรกที่ 0.01%

​          ส่วนที่ดินเพื่ออยู่อาศัยบ้านหลังแรกที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้น ซึ่งคิดเป็น 99.9% เช่นกัน ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.02% หรือ ล้านละ 200 บาท ซึ่งมีผู้บ้านที่ต้องเสียภาษีประมาณ 1 หมื่นกว่าหลังเท่านั้น สำหรับบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป ต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรกที่ 0.02%

​          ขณะที่ ที่ดินเพื่อการพาณิชย์มูลค่าเกิน 50 ล้านบาท เสีย 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท ส่วนที่เกิน 200 ล้านบาท เสียภาษี 0.4% หรือล้านละ 4,000 บาท ซึ่งจะไม่กระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะฐานการเก็บภาษีจะคิดแต่ราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น ไม่รวมราคาเครื่องจักร เหมือนกับที่ต้องเสียตาม พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ โดยที่ดินประกอบการโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล สนามกีฬา สนามกอล์ฟ จะได้บรรเทาภาษีสูงสุดถึง 90%

​          นายพรชัย กล่าวว่า สำหรับภาษีที่ดินที่ทิ้งว่างเปล่าจะเก็บภาษี 0.3% และเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก 3 ปี หากยังไม่ใช้ประโยชน์ ซึ่งตามข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินพบว่ามีที่ดินทิ้งไว้ไม่ได้ทำประโยชน์ทั่วประเทศ 8.31 ล้านไร่ จากที่ดินทั้งประเทศประมาณ 300 ล้านไร่ นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องเสียภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร ที่อยู่อาศัย และเพื่อการพาณิชย์ หากมีภาระต้องเสียมากกว่าที่เคยเสียตามกฎหมายเก่า กฎหมายยังกำหนดให้บรรเทาภาระภาษีส่วนเกิน ในปีแรกจะเก็บ 25% ปีที่สอง 50% ปีที่สาม 75% และปีที่สี่ 100%

​          “การเก็บภาษีระบบปัจจุบันจาก พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ท้องถิ่นเก็บภาษีได้ปีละ 900 ล้านบาท และ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 เก็บภาษีได้ปีละ 2.9 หมื่นล้านบาท รวมเป็นปีละ 3 หมื่นล้านบาท แต่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะมาใช้แทนกฎหมายเก่าทั้ง 2 ฉบับ จะทำให้สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปีที่ 4 ที่กฎหมายเริ่มมีผลบังคับใช้ให้เก็บภาษี หรือเก็บภาษีได้ปีละไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท” นายพรชัย กล่าว  ...
ที่มา : www.dailynews.co.th
(วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561)