ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
26 พ.ย.2561

ภาษีไม่ระคายทุนยักษ์! ชี้ชัดที่รกร้างใช้เวลา 28 ปี เต็มเพดานเรียกเก็บ 3%

Line

 

          ทุนยักษ์สะสมแลนด์แบงก์ไม่ระคายภาษีที่ดิน รอช็อปที่แปลงใหญ่ สมาคมอสังหาฯ ระบุ อัตราเบาหวิว 3 ปี ไม่ทำประโยชน์ เสีย 0.03% เชื่อใช้เวลา 28 ปี ถึงเต็มเพดาน

          ยังเป็นประเด็นพูดถึงเป็นวงกว้าง กรณีการกำหนดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเฉพาะประเภทที่ดินรกร้าง ไม่ทำประโยชน์ ปัจจุบัน เริ่มมีเจ้าของที่ดินนำที่ดินออกให้เช่า-ขาย แต่ในทางกลับกัน นายทุนใหญ่ที่สะสมที่ดินกลับไม่ได้รับผลกระทบ เพราะอัตราภาษีตํ่า และเชื่อว่า ทุนยักษ์เหล่านี้ยังคงเดินหน้าเก็บที่ดินราคาถูกต่อไป

          นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ อุปนายกและเลขาธิการ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นักลงทุนรายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดิน โดยเฉพาะที่รกร้าง เนื่องจากเพดานถูกปรับลด จากเดิมที่เคยพูดถึง 5-7% เหลือเพียง 3% และยังอุ้มด้วยการเรียกเก็บขั้นตํ่าในอัตรา 0.3% ทุก 3 ปี หากไม่ทำประโยชน์


          จากการคำนวณ พบว่า ท้องถิ่นจะต้องใช้เวลาเรียกเก็บภาษีเต็มเพดาน 3% จากที่ดินรกร้าง หากไม่ทำประโยชน์ นานถึง 28 ปีต่อราย ดังนั้น จึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของนักสะสมที่ดิน หากจะซื้อเก็บแลกกับภาษีที่จ่ายต่อปีไม่มาก ในมุมกลับกัน หากต้องการเสียภาษีตํ่าลงไปอีก ก็พลิกแพลงให้ชาวบ้านปลูกผลผลิตฟรี เพื่อเป็นที่เกษตร อีกทางก็ลงทุนเอง ปลูกพืชล้มลุก หรือให้ชาวบ้านเช่า

          "มีบริษัทยักษ์ใหญ่สะสมที่ดินในประเทศไม่กี่ราย เชื่อว่าวันนี้ถูกแปลงสภาพไปหมดแล้ว และหากต้องการใช้ภาษีตัวนี้หยุดการถือครอง มองว่า ไม่มีประโยชน์ แต่กลับเป็นอุ้มคนรวยแทน คนมีที่ดินมรดกอยากมีบ้านหลังที่ 2 ใกล้เมือง กลับถูกเสียภาษี"

อย่างไรก็ดี หากต้องการให้ทุนใหญ่คายที่ดินจริง กฎหมายควรเด็ดขาด เรียกเก็บกันที่ 7% ขึ้นไป แบบต่างประเทศ โดยไม่มีลดหย่อน อีกทั้งต้องปรับราคาประเมินให้สูงใกล้เคียงตลาด จึงจะสมนํ้าสมเนื้อ ส่วนผู้ที่กระทบน่าจะเป็นกลุ่มรายได้ไม่สูง คนชั้นกลาง มีที่อยู่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด ที่อาจได้รับมรดกและที่ดินกลางเมืองราคาแพง


          สำหรับที่ดินใจกลางเมืองที่ยังไม่ทำประโยชน์ ยังมีหลายแปลง แต่มีมูลค่าสูง เช่น ที่ดินสวนชูวิทย์ ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เนื้อที่ 10 ไร่ กลางสุขุมวิท เชื่อว่า หากไม่พัฒนาเองก็ให้เช่า เช่นเดียวกับสนามกอล์ฟใจกลางถนนรัชดาฯ ซอย 18 ซึ่งเป็นของเจ้าของหมู่บ้านอยู่เจริญ เข้าใจว่าจะนำที่ดินแปลงที่ว่าทำคอนโดมิเนียม เนื่องจากที่ดินตารางวาละเกือบ 1 ล้านบาท ส่วนที่ดินจีแลนด์เดิม ทำเลแยกพระราม 9 ที่ล่าสุด ค่ายเซ็นทรัลพัฒนาซื้อไป มีที่ดินรอการพัฒนากว่า 100 ไร่ เชื่อว่าจะเร่งพัฒนา เนื่องจากเป็นทำเลไข่แดงศูนย์กลางธุรกิจใหม่ รวมทั้งที่ดินทำเลพระราม 9 อีกแปลง เนื้อที่กว่า 40 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างอาบอบนวดจูเลียน่าและโครงการคอนโดมิเนียมค่ายศุภาลัยที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง อนาคตน่าจะอยู่ในมือนายทุนใหญ่

          ขณะที่ นายสุรเชษฐ กองชีพ นักวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า นักลงทุนรายใหญ่เตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ภาษีที่ดินจึงไม่กระทบหากประกาศใช้ ยกตัวอย่าง ค่ายไทยเบฟและบริษัทในเครือ มีบริษัทย่อย 400-500 แห่ง สะสมที่ดินกว่า 6 แสนไร่ และไม่แน่ใจว่า ปัจุบันมีการซื้อเพิ่มหรือไม่ อย่างไรก็ดี พบว่า ที่ดินทั้งหมดถูกใช้เป็นพื้นที่เกษตรแล้ว กลุ่มได้รับมรดกมีที่ดินย่านสุขุมวิทจะได้รับผลกระทบ และเกิดปรากฎการณ์นำที่ดินออกขาย เพราะไม่มีความชำนาญในการนำที่ดินออกพัฒนา

          ด้าน บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน ) ที่ผ่านมาได้สะสมแลนด์แบงก์และขายให้กับพันธมิตร อาทิ ฮ่องกงแลนด์ นักลงทุนจากฮ่องกง และนักลงทุนญี่ปุ่น เซกิซุยเคมิคอล และไตรมาส 4 ปีนี้ จะโอนที่ดินอีกแปลงทำเลรัชดาฯให้กับซูมิโตโมฟอร์เรสทรี

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,421