ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
20 ธ.ค.2561

ดอกเบี้ยขึ้น! ในรอบ 7 ปี อีกร้อยละ 0.25 เป็น ร้อยละ 1.75 มีผลทันที

Line
            คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ทำให้จากร้อยละ 1.50 เป็น ร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที


 ดอกเบี้ยขึ้น! ในรอบ 7 ปี  อีกร้อยละ  0.25 เป็น ร้อยละ 1.75 มีผลทันที

            การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี สิ่งที่จะตามมา คือ กลุ่มสินเชื่อ หรือ เงินกู้ ที่มีดอกเบี้ยลอยตัว เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อส่วนบุคคล จะปรับขึ้นตามด้วย  "ซึ่งจะมีผลทำให้การจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น ระยะเวลาการปลดหนี้ก็จะช้าลง" รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่กู้เงินกับธนาคารก็จะต้องส่งอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ก็อาจมีผลไปถึงต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้นตามด้วย



            การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ของแบงก์ชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระ รัฐบาลไม่มีอำนาจมากำกับดูแล ได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาตั้งแต่ต้นปี 2561 แล้ว และเหตุผลที่การประชุม กนง.ครั้งนี้ เสียงส่วนใหญ่ ปรับขึ้นดอกเบี้ย นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า ทาง กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง และเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานานในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพและกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

            กรรมการ 5 เสียง ส่วนใหญ่ จึงเห็น “ความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากที่ผ่านมาให้ลดน้อยลง จึงมีมติเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้” พร้อมกับประเมินว่าการขยายตัวเศรษฐกิจได้ต่อเนื่องเป็นไปตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง
 


 
            ส่วนกรรมการ 2 ท่านที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ ร้อยละ 1.50 มองว่า “ยังมีปัจจัยเสี่ยงคือความไม่แน่นอนจากต่างประเทศและอาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จึงควรรอประเมินความชัดเจนของผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและความยั่งยืนของแรงส่งจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศไปอีกระยะหนึ่ง” ประกอบกับมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไป ได้ดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในบางจุดไปบ้างแล้ว
 


 
            ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทย คณะกรรมการ กนง. มองว่า มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพ แม้การส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง และมาตรการกีดกันทางการค้า ระหว่างสหรัฐฯ และจีน

            ขณะที่การท่องเที่ยวชะลอลงโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน แต่... “เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้น” จากแรงส่งในประเทศทั้งเรื่องการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ครัวเรือน แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐเพิ่มเติม แม้ว่า "รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรลดลงบ้างและยังมีแรงกดดันจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง" ก็ตาม


            สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังมีความล่าช้าในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง

            อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ กนง. จะติดตามความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่าง สหรัฐฯ และจีน ที่อาจจะกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปียังมีแนวโน้มทรงตัว แต่มีความเสี่ยงด้านต่่าจากความผันผวนของราคา พลังงานและราคาอาหารสด

            หากเทียบอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยหยิบยกมา พบว่า ไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เช่น อินโดนีเซียอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 6% ฟิลิปปินส์ 4.75% จีน 4.35% มาเลเซีย 3.25%  เป็นต้น

            ต้องจับตาดูว่า เมื่อแบงก์ชาติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว จากนี้แบงก์พาณิชย์เจ้าไหนจะขานรับปรับขึ้นตามบ้าง

ที่มา : www.pptvhd36.com
(วันที่ 20 ธันวาคม 2561)