ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
21 ธ.ค.2561

แบงก์รัฐ จับมือตรึงดอกเบี้ย

Line
           "แบงก์รัฐ" จับมือ ตรึงดอกเบี้ยยาว เมิน กนง. ขึ้นดอกเบี้ย หวั่นกระทบรายย่อย-เอสเอ็มอี ด้าน สบน. ยืนยันดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นไม่กระทบเงินกู้รัฐ เหตุตั้งงบเผื่อดอกเบี้ยขึ้นไว้แล้ว ห่วงต้นทุนธปท.ขยับขึ้น


           นายฉัตรชัย  ศิริไล  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนี้ พยายามตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด เพื่อไม่ให้ กระทบต่อผู้กู้บ้าน ส่วนจะมีการปรับขึ้นเมื่อไหร่นั้น ธอส.ขอติดตามสถานการณ์ ดอกเบี้ยในตลาดก่อน ยืนยันว่า หากจะปรับขึ้นเป็นรายสุดท้ายของตลาด

           นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ธพว.ตรึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจนถึงสิ้นเดือนก.พ.2562 เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  ตรงนี้เป็นการดำเนินตามนโยบายรัฐ ที่ต้องการให้ธพว.สนับสนุนเงินทุน เอสเอ็มอีด้วยดอกเบี้ยต่ำที่สุด

           นายชาติชาย   พยุหนาวีชัย  ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ลูกค้ารายย่อยของธนาคาร จะยังไม่ได้รับผลกระทบจาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนใหญ่ลูกค้าธุรกิจรายย่อย และลูกค้าบุคคล ได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ยกเว้นสินเชื่อบ้าน ที่ปัจจุบันมี 3 แสนราย ครึ่งหนึ่งเป็น สินเชื่อแบบดอกเบี้ยคงที่ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยคาดว่า หลังจากนี้ธนาคารพาณิชย์คงต้องปรับดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก

           แต่สำหรับธนาคารออมสินจะเป็นธนาคารสุดท้ายที่จะปรับขึ้น เพราะบทบาทของธนาคารรัฐ จะไม่เป็นผู้นำในการปรับ ดอกเบี้ยขึ้น แต่หากเป็นแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ธนาคารออมสินจะเป็นคนแรกที่ปรับลดลง

           สำหรับทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ในครั้งต่อไป ซึ่งจะมีการประชุม กนง.ในเดือนก.พ.และในเดือน มี.ค.ปีหน้า เชื่อว่า ถ้าหาก กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง น่าจะเป็นเดือนมี.ค.หรือหลังการเลือกตั้งธนาคารออมสิน ยืนยัน ลูกค้ารายย่อยของธนาคาร จะยังไม่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้ หลังจาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย

           ส่วนใหญ่ลูกค้าธุรกิจรายย่อย และลูกค้าบุคคล ได้รับอัตราดอกเบี้ย Fix rate ยกเว้นสินเชื่อบ้าน ที่ปัจจุบันมี 3 แสนราย ครึ่งหนึ่ง เป็นสินเชื่อแบบดอกเบี้ย Fix และอีกครึ่งหนึ่ง เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยรายย่อย ส่วนใหญ่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่แล้ว เช่น Non bank สูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 28 % และสินเชื่อประชาชน ที่อยู่ระหว่าง 0.5 -1% ต่อเดือน เป็นอัตราที่สูงอยู่แล้ว

           นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กระทบการกู้เงินของรัฐบาลไม่มาก เนื่องจาก เงินกู้รัฐบาลส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะปานกลาง  และระยะยาว ซึ่งกำหนดดอกเบี้ยคงที่ไว้แล้ว

           สำหรับเงินกู้ระยะสั้น 1 ปีมีน้อยมาก และหากกู้ใหม่สำหรับพันธบัตรระยะสั้น จะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่ากับดอกเบี้ย นโยบายคือ 0.25% ส่วนเงินกู้ระยะ ปานกลางและระยะยาวจะน้อยกว่า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับ ภาวะตลาด และดูปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย
นายธีรัชย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตลาดคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้น เพราะทางกนง.ส่งสัญญาณมาตลอด ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ถือว่าจะต้องกังวล หรือตกใจอะไร โดยยืนยันว่าดอกเบี้ย นโยบายปรับขึ้นไม่กระทบต่อการจ่าย หนี้รัฐบาล เพราะได้รับจัดสรรงบประมาณชำระในส่วนดอกเบี้ยซึ่งคำนวณเผื่อกรณี ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นแล้ว โดยหลังจากนี้ สบน.เดินหน้ากู้เงินตามแผนที่วางไว้

           "เงินกู้ของสบน.เป็นหนี้ระยะยาว เฉลี่ย 10 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไว้ ดังนั้นจึงไม่ค่อยกระทบ แต่ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีเงินกู้ประมาณ 4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ระยะสั้น ดังนั้น จะทำให้ต้นทุนธปท.ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท" นายธีรัชย์ กล่าว
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
(วันที่ 21 ธันวาคม 2561)