ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
16 ม.ค.2562

ธปท.ตั้งรับศก.ป่วนสั่งจับตาอสังหาฯ....

Line
             ธปท.ชี้ปี 2562 นโยบายการเงินโลก สงครามการค้าทำให้ความเสี่ยงสูง มั่นใจเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังรับมือได้


 

             นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผ่านรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยฉบับล่าสุดปี 2018 ว่า ในปี 2019 เศรษฐกิจการเงินโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงต่อเนื่อง ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินโลก ความก้าวหน้าของนวัตกรรมการเงินและเทคโนโลยี ทำให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกได้รุนแรงและรวดเร็ว

             อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบางภาคส่วนที่ยังเปราะบาง รวมทั้งออกมาตรการป้องกันไม่ให้ลุกลามกระทบเสถียรภาพระบบการเงินได้

             ทั้งนี้ ภาพรวมปีที่ผ่านมามีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก (G3) และผลกระทบมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ความผันผวนในตลาดการเงินโลกและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

             อย่างไรก็ตาม ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

             นอกจากนี้ แม้ว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติตตามความเสี่ยงบางจุดที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้นและอาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่สถาบันการเงินแข่งกันปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง เอื้อต่อการเก็งกำไรภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง ธปท.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อดูแลภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและไม่ให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์จนเกินพอดี ขณะที่ยังต้องติดตามภาวะอุปทานค้างต่อไป

             นอกจากนี้ พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น จะนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรในวงกว้าง สะท้อนจากการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ยังไม่มีสัญญาณปรับลดลง สหกรณ์ออมทรัพย์ยังขยายตัวสูงต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับระบบการเงิน เร่งออกตราสารหนี้และใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มขยายการลงทุนออกจากธุรกิจหลักดั้งเดิมและลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น


ที่มา : www.posttoday.com
(วันที่ 16 มกราคม 2562)