ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
17 ม.ค.2562

คสช.เร่งเครื่องงบฯปี’63 คลังแจกเป้ารายได้ 2.75 ล้านล้านบาท

Line

 

           ก่อนจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช.ได้เริ่มทำงบประมาณปีใหม่ คือ ปีงบประมาณ 2563 ไว้แล้ว โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบจัดทำงบประมาณรายจ่ายที่ 3,200,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีงบประมาณก่อนหน้า 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.7%


           “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วย 1.รายจ่ายประจำ 2,358,410.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% คิดเป็นสัดส่วน 73.7% ของงบประมาณทั้งหมด 2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 62,709.5 ล้านบาท คิดเป็น 2% ของงบประมาณ 3.รายจ่ายลงทุน 691,200 ล้านบาท คิดเป็น 21.6% ของงบประมาณ 4.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 87,680 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.7% ของงบประมาณ

           ทั้งนี้ เป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุล 450,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการประมาณการรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 200,000 ล้านบาท อยู่ที่ 2,750,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.8% โดยมาจากการที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า รัฐบาลจะเก็บรายได้รวม 3,256,500 ล้านบาท แต่เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร อากรถอนคืนกรมศุลกากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีการส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้ว จะเหลือประมาณการรายได้สุทธิที่ 2,750,000 ล้านบาท ดังกล่าว

           “ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่า คลังประมาณการรายได้ โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัวได้ที่ 4% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.5%

           แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า ได้มีการตกลงเป้าจัดเก็บรายได้ของแต่ละหน่วยงาน โดยในส่วน 3 กรมภาษี คาดว่าในปีงบประมาณ 2563 จะจัดเก็บรายได้ภาษีที่ 2,855,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156,200 ล้านบาท จากคาดการณ์การจัดเก็บได้จริงในปีงบประมาณ 2562 หรือเพิ่มขึ้น 5.8%

           “รายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2563 เพิ่มขึ้น 200,000 ล้านบาท มีสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของประมาณการรายได้กรมศุลกากร ส่วนราชการอื่น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่ประมาณการรายได้ของกรมสรรพสามิตลดลง จากฐานที่ต่ำกว่าประมาณการ” แหล่งข่าวระบุ

           สำหรับการเก็บรายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2562 บนข้อสมมุติฐานทางเศรษฐกิจ ณ เดือน พ.ย. 2561 คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2,550,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดการณ์ว่า การเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นจะสูงกว่าประมาณการ จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม เมื่อเดือน ส.ค. และ ต.ค. ปี 2561 ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้ายังขยายตัวดี และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันดิบ และราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงกว่าตอนที่ทำประมาณการ

           “แต่ในปีงบประมาณ 2562 คาดว่า การจัดเก็บภาษีเบียร์ ภาษีน้ำมัน และภาษีสุรา จะจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากผลการจัดเก็บในปีงบประมาณ 2561 ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งเป็นฐานในการทำงบประมาณปี 2562” แหล่งข่าวชี้

           ซึ่งล่าสุด กรมสรรพสามิต ได้ลดเป้าหมายจัดเก็บภาษีปีงบประมาณ 2562 ลงเหลือราว 584,000 ล้านบาท จากประมาณการเดิมที่ 622,600 ล้านบาท

           ด้าน “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร บอกว่า ไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2562 กรมเก็บรายได้ 412,391 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 41,709 ล้านบาท หรือ 11.3% และสูงกว่าเป้า 28,006 ล้านบาท หรือ 7.3% ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมายที่ 2,000,000 ล้านบาท

           ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยนำเทคโนโลยี data analytics มาช่วยวิเคราะห์ เพื่อหาผู้ประกอบการรายใหม่ซึ่งอยู่นอกระบบ บูรณาการข้อมูลภายในและภายนอก เพื่อเชื่อมโยงไปยังรายได้ที่แท้จริงของผู้ประกอบการรวมถึงปรับปรุงระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับและตรวจสอบ (RBA) เพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์ครบถ้วน และปรับปรุงระบบ criteria เพื่อคัดกรองรายชื่อผู้ประกอบการที่มีความผิดปกติให้หน่วยปฏิบัติตรวจสอบข้อเท็จจริงและแนะนำภาษีอากรต่อไป รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการเร่งรัดหนี้ภาษีอากร

           “ประภาศ คงเอียด” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจส่งรายได้แผ่นดิน 65,513 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 13,570 ล้านบาท หรือ 26% ของเป้าหมาย ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2562

           อย่างไรก็ตาม จากแผนการคลังระยะปานกลางที่วางไว้ นอกจากรัฐบาลจะต้องเก็บรายได้ให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้แล้ว คลังยังต้องเร่งรัดผลักดันกฎหมายที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เช่น ภาษีอีเพย์เมนต์ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ทั้งระบบ ทั้งในส่วนของรายได้ภาษีและรายได้จากทรัพย์สิน ตลอดจนปรับปรุงระบบอิเล็กทรอนิกส์และพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ติดตามการจัดเก็บภาษีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ ขยายฐานภาษี และปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และความเหมาะสมกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปด้วย   

ขอบคุณข้อมูลจาก www.prachachat.net
(วันที่ 17 มกราคม 2562)