ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
07 ก.พ.2562

ดัชนีความเชื่อมั่นดีดตัวดีขึ้น หลังรัฐประกาศวันเลือกตั้ง

Line


           หอการค้าเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมกราคม 62 ดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน อยู่ในระดับ 80.7 ผลมาจากรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้ง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐมีสัญญาณดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คาดส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโต 3.5-4%

          นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2562 พบว่า การสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2562 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน จากระดับ 79.4 มาอยู่ที่ระดับ 80.7 เนื่องจากความชัดเจนของการเลือกตั้ง มีผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเสถียรภาพทางการเมืองของไทยในอนาคต สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเริ่มคลี่คลายลงและการที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในปัจจุบันกลับฟื้นตัวขึ้น และความเชื่อมั่นต่างๆ ในอนาคตเริ่มปรับตัวดีขึ้น

          แต่ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่มากนัก และยังมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะเรื่อง Brexit ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงละความผันผวนสูง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม


          ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 67.7 75.8 และ 98.7 ตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนธันวาคม 2561 ที่อยู่ในระดับ 66.3 74.6 และ 97.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

          สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 53.4 มาอยู่ที่ระดับ 54.5 แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ดีเท่าที่ควร ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 90.8 มาอยู่ที่ระดับ 92.3 ซึ่งยังปรับตัวอยู่ใกล้เคียงระดับ 100 (ซึ่งเป็นระดับปกติ) มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

          นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดีภาพรวมของการใช้จ่ายภาคประชาชนยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 นี้ แต่ในระบบยังมีเม็ดเงินจากการเลือกตั้งที่น่าจะช่วยดึงให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 0.3-0.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีน่าจะขยายตัวอยู่ที่3.5-4% และจะค่อยๆปรับตัวดีขึน ดังนั้น หอการค้าไทยจึงมองว่า การขยายตัวในปี 2562 นี้เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 4 – 4.2%

          สำหรับการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ มองว่าไม่คึกคัก คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดหมุนเวียนอยู่ที่ประมาณ 3,700 ล้านบาท ลดลง 3.17% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 2,318 บาท เนื่องจากสังคมปรับเข้าสู่ยุคดิจิตอล ทำให้มีการแสดงความรักผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งสินค้ามีราคาแพงขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี และคู่รักต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย

          ส่วนพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงวันมาฆบูชา คาดว่ามูลค่าเงินสะพัดอยู่ที่ 2,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.12% ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 1,642 บาท เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่ายิ่งเศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งต้องกลับมาทำบุญ และสินค้ามีราคาสูงขึ้นทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย
 

ที่มา : www.prachachat.net
(วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562)