ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
04 มี.ค.2562

ดีเดย์ผังเมือง อีอีซี บังคับใช้ ก.ค.62

Line


         นางสาวสิทธิเพ็ญ สิทธัตถพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปี 2562 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5-10% จากปี 2561 โดยตลาดอาคารชุดจะมีความต้องการมากกว่าบ้านจัดสรร เนื่องจากชาวต่างชาติสามารถซื้อเพื่อครอบครองกรรมสิทธิ์ได้ ซึ่งแรงหนุนการเติบโตมาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐบาล และการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4% ซึ่งช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 มียอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยใน 46,156 ยูนิต เป็นอาคารชุด 39% และเป็นบ้านจัดสรร 61% จำนวนนี้ เพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีจำนวน 36,600 ยูนิต ด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 85,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีมูลค่า 66,364 ล้านบาท และคาดว่าการลงทุนที่อยู่อาศัยจะเริ่มกลับมาหลังจากที่การลงทุนในพื้นที่ทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โครงการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น เพราะจะนำกำลังซื้อกลุ่มใหม่เข้ามาเป็นกลุ่มแรงงานทักษะสูง จากเดิมเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรม ซึ่งรูปแบบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรองรับก็จะเป็นเปลี่ยนไป

          นางพจนีย์ ขจรปรีดานนท์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองรวม กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ได้นำเสนอผังเมืองรวม อีอีซี ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว ซึ่งได้มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องไปแล้วส่วนหนึ่ง และจะมีการทำต่อเนื่องอีก จากนั้นจะรวบรวมนำมาสรุปและปรับปรุงแก้ไข ก่อนเสนอให้ กพอ. พิจารณาอีกครั้ง และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ไม่เกินเดือนกรกฎาคม 2562

          นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า พื้นที่อีอีซียังมีโอกาสในโครงการที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นทำเลที่มีศักยภาพ 2 ด้าน ด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ที่จะทำให้เกิดการจ้างงานและก่อให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้เข้าไปซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรในพื้นที่อีอีซีแล้ว แต่เมื่อรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้น รถไฟทางคู่ที่จะเข้ามาเชื่อมต่อ รวมทั้งการคมนาคมทางถนนที่ครบวงจร คนที่ต้องการที่อยู่อาศัยหากที่ดินในใจกลางอีอีซีแพงมากคนอาจจะเลือกไม่ซื้อที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น หรือไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่ทำงาน แต่จะขยับออกมา เพราะที่อยู่อาศัยอาจจะได้ราคาถูกกว่า คุณภาพดีกว่าในวงเงินเดียวกัน เช่น บางนา สมุทรปราการก็ได้ แล้วนั่งรถไฟความเร็วสูงไปทำงานเหมือนญี่ปุ่นที่คนนั่งรถไฟไปทำงานที่โตเกียวหรือโอซากา

          "ผู้ประกอบการที่ต้องการเก็งกำไรที่ดินอีอีซีต้องระวัง เพราะการพัฒนาจะกระจายตัวออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ ตามผังเมืองรวมอีอีซีจะแบ่งพื้นที่เป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนสำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาต่าง ๆ จึงจะมีพื้นที่ให้พัฒนาที่อยู่อาศัยอีกมาก ทั้งนี้ ต้องติดตามว่าการพัฒนาโครงการอีอีซีและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลนี้จะต่อเนื่องไปยังรัฐบาลหน้าด้วยหรือไม่" นายอธิปกล่าว
 
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
(วันที่ 4 มีนาคม 2562)