ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
27 มี.ค.2562

“แบงก์ชาติ” ย้ำ! คุม LTV กระทบอสังหาฯ ระยะสั้น

Line

            แบงก์ชาติย้ำ! คุม LTV สินเชื่อบ้าน 1 เม.ย. สกัดความเสียหายระบบการเงินชาติ หลังแนวโน้มหนี้ครัวเรือนพุ่ง เชื่อกระทบตลาดอสังหาฯ เพียงระยะสั้น

            นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน (รส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “จับสัญญาณเสี่ยง ออกกฎคุมเข้มสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์” ภายในงานสัมนา Property Focus 2019 โอกาสการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ที่ผ่านมา แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์มีความสำคัญต่อการขยายตัวของภาพรวมเศรษฐกิจไทย เพราะนับเป็นสัดส่วน 6% ของจีดีพีประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องหลายส่วน ทั้งธุรกิจก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

            ทั้งยังเอื้อต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน จากการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม พบที่ผ่านมา สถาบันการเงินต่าง ๆ มีการแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างดุเดือดในช่วงดอกเบี้ยต่ำ ก่อให้เกิดความหย่อนยานในมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ดี ในลักษณะให้วงเงินเกินมูลค่าสินทรัพย์มากกว่า 100% ประมาณ 1 ใน 4 ในรูปแบบสินเชื่อ Top-Up เสริมสินเชื่อเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือเบี้ยประกันเข้าไป อีกส่วนสินเชื่อเงินทอนดังกล่าวยังเอื้อให้เกิดการลงทุนในภาคอสังหาฯ สูงขึ้น กลายเป็นการสะสมหนี้ครัวเรือนมหาศาล ซึ่งจะมีผลต่อความเปราะบางและเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้

            “สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนประมาณ 1ใน 5 ของสินเชื่อทั้งระบบ ปีที่ผ่านมามีมูลค่ามากกว่า 4.4 ล้านล้านบาท จากสินเชื่อทั้งระบบ 20.3 ล้านล้านบาท จำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด เพราะ 2 ใน 3 ของวิกฤตการเงินทั่วโลก มักเริ่มต้นมาจากภาคอสังหาฯ สินเชื่อ คือ ต้นตอ”


            ขณะที่ มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่เตรียมบังคับใช้ในช่วงวันที่ 1 เม.ย. 2562 กำหนดวางเงินดาวน์ 6-10% สำหรับสัญญาที่ 1 ซึ่งไม่กระทบสำหรับกลุ่มผู้ซื้อทั่วไป แต่จะคุมเข้มในกลุ่มลูกค้าที่กู้มากกว่า 1 สัญญา ลักษณะผ่อนหลายสัญญาในเวลาเดียวกัน หลังพบลูกค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงเฉลี่ย 1 แสนบาทต่อเดือน แต่สัญญาณการผิดนัดสัญญาก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน จึงกำหนดวางเงินดาวน์ 10% กรณีสัญญาแรกซื้อมาแล้วเกิน 3 ปี แต่หากไม่ถึง 3 ปี จำเป็นต้องวางเงินดาวน์สูง 20% ส่วนกลุ่มที่ 3 ปรับเปลี่ยนสำหรับกลุ่มที่ซื้อบ้านระดับราคา 10 ล้านบาท กำหนดวางเงินดาวน์ 30% คาดกลุ่มนี้ไม่น่าได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะปกติมีการซื้อสดและวางดาวน์ที่สูงอยู่ก่อนแล้ว

            ทั้งนี้ ธปท. ขอยืนยันว่า มาตรการที่ออกมาเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังยังเห็นผู้ประกอบการขยายภาคอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งอาจเป็นการตอบรับดีมานด์เทียม ระดับราคาสูงเกินจริง มาตรการดังกล่าวจะช่วยสกัดกั้นกลุ่มนักลงทุนเก็งกำไรได้ พร้อมต้องการเสริมสร้างวัฒนธรรมการปล่อยสินเชื่อที่ดี ยกระดับมาตรฐานที่ถูกต้อง ฉุดการแข่งขันที่รุนแรงของสถาบันการเงิน ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวได้

            ขณะเดียวกัน จะช่วยลดแนวโน้นหนี้ภาคครัวเรือน ภาระการผ่อนต่อเดือนที่สูงเกินกำลังของประชาชน และต้องการให้ผู้กู้มีวินัยการออมเงินก่อนซื้อบ้าน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต ท้ายที่สุด ยังจะทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในอนาคตปรับสู่สมดุล เป็นราคาที่เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงในตลาด โดยผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เชื่อว่าจะเป็นเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น เพื่อให้ทุกฝ่าย ทั้งผู้กู้ ภาคสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการ ปรับสู่สมดุลที่เหมาะสมมากขึ้น

            “ย้ำว่า มาตรการ LTV คล้ายเป็นการพัดควันให้จาง เป็นการกำกับเฉพาะจุด ไม่ได้กระทบประชาชนส่วนใหญ่ 90% เชื่อจะมีผลดีในระยะยาว ส่งผลให้ราคาซื้อขายสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น แบงก์เองก็มีมาตรฐานที่ดี”
 
ที่มา : thansettakij.com
(วันที่ 27 มีนาคม 2562)