ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
05 เม.ย.2562

เงินเฟ้อ Q2 จ่อ 1.01% แล้งกระทบสินค้าเกษตร-น้ำมันขึ้นราคา

Line

          สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร ทำให้ราคาสินค้า ผัก ผลไม้ หลายรายการปรับสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 1/2561 ขยายตัว 0.74% ขณะที่ไตรมาส 2 เข้าช่วงแล้งเต็มตัว ประกอบกับช่วงเดือนสงกรานต์ และเข้าช่วงเปิดเทอม เป็นแรงส่งให้เงินเฟ้อไตรมาส 2 มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 1.01% จากกรอบเงินเฟ้อทั้งปี 2562 ที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 0.7-1.7%

ราคาผักมี.ค.ขยับขึ้น 9.54%

​          สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนมีนาคม 2562 เท่ากับ 102.37 เพิ่มขึ้น 0.41% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และเพิ่มขึ้น 1.24% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2561 ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2562) เพิ่ม 0.74%

​          สำหรับสาเหตุที่เงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2562 ปรับเพิ่มขึ้น มาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 2.38% โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผักสด สูงขึ้น 9.54% ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 4.58% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 4.70% ไข่ และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 0.81% เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 2.81% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.74% อาหารบริโภคในบ้าน สูงขึ้น 0.75% นอกบ้าน สูงขึ้น 1.85%

​          ส่วนหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.58% หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 0.79% โดยน้ำมัน สูงขึ้น 2.27% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.32% เคหสถาน สูงขึ้น 0.61% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.33% เป็นต้น ขณะที่หมวดยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.01%

แล้งกระทบผลผลิตเกษตร

​          ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อเดือนมีนาคมมาจากปัญหาภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตออกมาน้อย โดยเฉพาะดัชนีราคาผักสดในเดือนมีนาคม ราคาสูงขึ้น 9.54% ขณะที่เฉลี่ย 3 เดือน สูงขึ้น 1.78% สำหรับสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น คะน้า ผักชี และมะนาว หากดูราคามะนาวเฉลี่ยที่ราคาต่ำสุดลูกละ 3 บาทที่จ.เพชรบูรณ์ และราคาเฉลี่ยสูงสุดลูกละ 6 บาท ที่จ.สงขลา ส่วนราคาที่กรุงเทพฯ เฉลี่ยลูกละ 5.3 บาท และยังต้องจับตาแนวโน้มราคากลุ่มผักอาจจะสูงขึ้นต่อ ส่วนไข่ไก่ราคาขายเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 2.40 บาทต่อฟอง ราคาสูงสุดเฉลี่ย 3.63 บาทต่อฟอง รวมไปถึงสุกร ที่ต้องติดตามจากปัญหาภัยแล้งด้วย ส่วนราคาน้ำมัน เพิ่มขึ้น 2.27%

​          ขณะที่ราคาผลไม้ปรับลดลงสวนทางกับราคาผัก โดยดัชนีราคาในเดือนมีนาคม ลดลง 0.52% และดัชนีราคา 3 เดือนเฉลี่ยลดลง 1.36% เป็นผลมาจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตกำลังทยอยออกสู่ตลาด จึงทำให้ราคาสินค้าหลายรายการลดลง เช่น ลองกอง ส้มเขียวหวาน กล้วย และมะม่วง เป็นต้น

​          นอกจากนี้ไตรมาส 2 ยังมี “ปัจจัยราคาน้ำมัน” และเข้าสู่ช่วงเทศกาล “สงกรานต์” ซึ่งมีผลต่อการปรับตัวของราคาสินค้าสูงขึ้น ประกอบกับ “ใกล้เข้าสู่ช่วงเปิดเทอม” ทำให้สินค้าเกี่ยวกับโรงเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้น

246 สินค้าปรับขึ้นราคา

​          หากติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าในเดือนมีนาคม 2562 ทั้งหมด จะพบว่ามีสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น 246 รายการ เช่น เนื้อสุกร ข้าวสารเจ้า น้ำพริกแกง กะหล่ำปลี มังคุด ไข่ไก่ ไก่สด มะนาว น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าที่ลดลง 93 รายการ เช่น น้ำมันพืช มะละกอสับ ลองกอง องุ่น กล้วยน้ำว้า กุ้งขาว แป้งทาผิวกาย แชมพู น้ำยาปรับผ้านุ่ม และสินค้าที่ราคาทรงตัว 83 รายการ

​          แต่หากติดตามราคาสินค้าและบริการในไตรมาส 1 ที่สูงขึ้น เช่น เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ข้าวสารเจ้า ขนมหวาน มะนาว ผักกาดขาว มังคุด ก๊าซธรรมชาติ ส่วนราคาสินค้าที่ลดลง เช่น กระเทียม ถั่วฝักยาว ลองกอง ใบกะเพรา ส้มเขียวหวาน เงาะ มะม่วง เป็นต้น

ลุ้น”ค่าแรง”ดันเงินเฟ้อ

​          นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 2 คาดว่าจะสูงขึ้น โดยมีปัจจัยราคาน้ำมัน ภัยแล้งทำให้ผลผลิตจะออกน้อยส่งผลให้ราคาขยับสูงขึ้น และการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้ราคาสินค้าบางรายการปรับเพิ่มขึ้น และช่วงเปิดเทอมที่ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองจะเพิ่มขึ้น

​          อย่างไรก็ตาม สนค. ยังไม่ได้นำ “ปัจจัยค่าแรง” มาประเมินร่วมด้วย เนื่องจากยังไม่ได้มีความชัดเจน จึงยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีว่าจะขยายตัว 0.7-1.7% ตามเป้าหมาย

ที่มา : www.prachachat.net
(วันที่ 4 เมษายน 2562)