ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
29 เม.ย.2562

ผงะแรงงานไทยหนี้พุ่ง 15% แถมกู้นอกระบบเกินครึ่ง ขณะที่รายได้เท่าเดิม-ไม่มีการออม

Line
      ผงะแรงงานไทยหนี้พุ่ง 15% แถมกู้นอกระบบเกินครึ่ง ขณะที่รายได้เท่าเดิม-ไม่มีการออม ด้าน “ม.หอการค้า” ฟันธงยอดใช้จ่ายช่วงวันหยุดแรงงานปีนี้ ขยายตัว 1.8% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ภาคเศรษฐกิจน่าห่วง แนะรัฐเร่งกระตุ้น

      นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ สถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ทั่วประเทศจำนวน 1,200 ตัวอย่าง พบว่า แรงงานส่วนใหญ่จะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,001 -15,000 บาท ประมาณ 72.4% โดยรายจ่ายก็เทียบเท่าเงินเดือนประมาณ 46% รองลงมา 5,000-10,000 บาท ประมาณ 37.9% อีกทั้งยังพบว่ากว่า 86.2% แรงงานไม่มีเงินออม และ 65.2% ไม่มีอาชีพเสริม
 

 

      นอกจากนี้ ยังพบว่าภาระหนี้ของแรงงานไทยสูงถึง 95% โดยการกู้ยืมนั้นส่วนใหญ่ 36.8% กู้มาเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมาเป็นเรื่องของยานพาหระ ค่ารักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย เป็นต้น โดยทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันสูง 158,000 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน เมื่อแยกหนี้สินในระบบสูงถึง 58.2% เฉลี่ยการผ่อนชำระ 7,138 บาทต่อเดือน นอกระบบ 41.8% เฉลี่ยการผ่อนชำระ 4,028 บาทต่อเดือน และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ 80.3% เคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะเงินไม่พอจ่าย รายได้ลดลง และขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งภาระหนี้ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการใช้จ่ายในปัจจุบันลดลง 56.2% และอีก 3 เดือนข้าวหน้าการใช้จ่ายก็ยังลดลง 47.2%

      ทั้งนี้ จากสภาพหนี้สินที่สูงส่งผลกระทบต่อรายได้ไม่พอกับรายจ่ายของแรงงานถึง 63.8% ซึ่งสาเหตุ มีของที่ต้องซื้อเพิ่มมากขึ้น ภาระหนี้มากขึ้น รายได้ไม่เพิ่มแต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น อัตราดอกบี้ยสูง ทำให้แรงงาน แก้ไขปัญหาโดยการนำเงินออมมาใช้ กู้ยืมในระบบ ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง กู้ยืมนอกระบบ เป็นต้น ส่วนการเข้าร่วมโครงการ “สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์” ของรัฐบาลพบว่า มีแรงงานเข้าร่วมน้อยมาก 28.2% เพราะแรงงานมองว่าไม่ได้ช่วยให้หนี้ลดลง และยังพบว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายของรงงานกว่า 66.1% แรงงานใช้จ่ายเท่ากับรายได้โดยใช้ไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่ม การลงทุน ค่าพาหนะ

      ส่วนกิจกรรมในช่วงวันแรงงาน จากการสำรวจพบว่า จะไปท่องเที่ยวตามสถานที่จัดงานแรงงาน ดูหนัง สังสรรค์และไปซื้อของ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 2,164 บาท ทำให้คาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายในวันแรงงานปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 2,232 ล้านบาท ขยายตัว 1.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ต่ำสุดในรอบ 3 ปี

      นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ทัศนะต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน 35.5% คงเดิม รองลงมา 29.6% ดูว่าแย่ลง และยังพบว่า 57.7% ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความกังวลต่อเศรษฐกิจไทย 51.0% กังวลเรื่องของการชำระหนี้ที่อาจไม่พอ 50.9% กังวลราคาสินค้าในอนาคต ตามลำดับ โดยสิ่งที่รัฐบาลควรดูแลกับแรงงาน 56.4% ดูแลค่าครองชีพ 52.6% เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 45.2% ดูแลฝีมือแรงงาน เป็นต้น ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ ประมาณ 36.3% ปานกลาง และเมื่อผลจากการปรับค่าแรง อาจจะมีผลต่อราคาสินค้าปรับขุ้น ซึ่ง 90.5% ประชาชนรับได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาล ควรแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ เช่นการปรับโครงการธงฟ้าเฉพาะ ในกลุ่มที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อแรงงาน

      สำหรับการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2562 นี้ คาดอยู่ 3.8% และการส่งออก ขยายตัวได้ 4% แต่ยอมรับว่า มีโอกาสจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ เพราะขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน รวมทั้งการส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีโอกาสที่จะขยายตัวเพียง 2-3% เท่านั้น โดยรัฐบาล จำเป็นต้องออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อที่จะรักษาระดับเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกให้สามารถเติบโตอยู่ได้ที่ 3.5% ซึ่งมาตรการจะต้องตรงจุด เพราะมองว่าการเพิ่มเงินลงไปในระบบฐานราก ยังมีความจำเป็น แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีเม็ดเงินลงไปกระตุ้นแล้ว แต่ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร สะท้อนถึงปัญหาในเศรษฐกิจฐานรากที่ใหญ่กว่าที่คิดไว้

      ส่วนมาตรการในการกระตุ้นภาคการส่งออกนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลก จะยังคงชะลอตัวและเจอปัญหาสงครามการค้า แต่ควรดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่า เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกขณะที่ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่จำเป็นต้องเดินหน้าให้ได้ตามแผน ที่ควรจะเข้ามาเริ่มเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนในการลงทุน

ที่มา : prachachat.net
(วันที่ 29 เมษายน 2562)