ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
17 พ.ค.2562

จัดงบ 3,500 ล้านเร่งซื้อที่ดิน สร้างคลองระบายน้ำ “บางบาล-บางไทร”

Line

 

     กรมชลประทานเร่งเจรจาซื้อที่ดินก่อสร้าง โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ระยะทาง 22.50 กม. มูลค่า 21,000 ล้านบาท หลัง ครม.พึ่งอนุมัติงบฯให้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยทำควบคู่ไปกับการก่อสร้างให้เสร็จทันในปี 2565 หวังตัดยอดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 1,200 ลบ.ม./วินาที ไม่ให้ท่วมเมืองอยุธยาแถมได้น้ำที่เก็บไว้ในคลองมาใช้อุปโภคบริโภค/เกษตรกรรมช่วงฤดูแล้งได้อีก

     ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคืบหน้า โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็น 1 ใน 8 แผนงานบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างว่า ในขณะนี้กรมชลประทานกำลังเร่งเจรจาทำความตกลงซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินตามแนวคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ตามที่มีการสำรวจปักหลักเขตชลประทานไว้คิดเป็นปริมาณงาน 740 แปลง เนื้อที่ 2,710 ไร่ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในการซื้อที่ดินประมาณ 3,500 ล้านบาท โดยการทำความตกลงเพื่อซื้อที่ดินในครั้งนี้เป็นการซื้อก่อนที่จะประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืน ซึ่งสามารถทำได้เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ตามแผนที่วางเอาไว้

     ทั้งนี้ โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีวัตถุประสงค์เพื่อผันน้ำเลี่ยงเข้าตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่ตัวเมืองโดยเฉพาะในจุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยาใน จ.พระนครศรีอยุธยาและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ พื้นที่ตั้งโครงการจัดรับน้ำเข้าปากคลองระบายน้ำจะตั้งอยู่ที่ ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยาตัดผ่านพื้นที่รับน้ำนอง “ทุ่งบางบาล” ไปลงสู่จุดระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา (ปากคลองระบายน้ำหลาก) ที่ ต.สนามไชย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 21,000 ล้านบาท

     ลักษณะโครงการจะมีความยาวคลองระบายน้ำหลาก 22.50 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 1,200 ลบ.ม./วินาที มีถนนคันคลองทั้ง 2 ฝั่งขนาด 2 ช่องจราจรไปกลับ มีการปรับขนาดแนวคลองให้เหมาะสมกับภูมิประเทศในปัจจุบันโดยมีความกว้างของเขตคลอง 2 ขนาด ได้แก่ ความกว้างเขตคลอง 200 เมตรสำหรับพื้นที่ทั่วไปกับเขตคลองกว้าง 130 เมตรเมื่อผ่านพื้นที่ที่เป็นเขตชุมชน นอกจากนี้ยังมีอาคารบังคับน้ำ ประกอบไปด้วย ประตูระบายน้ำปลายคลองระบายน้ำหลากขนาด 12.50×9.50 เมตร จำนวน 4 ช่องพร้อมประตูเรือสัญจร

     สถานีสูบจ่ายน้ำและท่อระบายน้ำปลายคลองส่งน้ำ-สถานีสูบระบายน้ำและท่อระบายน้ำปากคลองระบายน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำจำนวน 28 แห่งและสะพานข้ามคลองระบายน้ำตามแนวคลองระบายน้ำที่จะตัดผ่านถนนเดิม การก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งบริเวณปลายคลองระบายน้ำหลาก (อ.บางไทร) และการปรับปรุงคันกั้นน้ำโดยรอบพื้นที่โครงการและอาคารประกอบเพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยไหลเข้าพื้นที่โครงการ

     สำหรับการดำเนินงานตามปีงบประมาณของกรมชลประทานปรากฏในปี 2561 ได้รับเงินงบประมาณ 93,600,000 บาทใช้จ่ายเป็นค่าซื้อที่ดินจำนวน 69 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ 135 ไร่ ส่วนปีงบประมาณ 2562 กรมชลประทานได้รับงบประมาณ 101,146,900 บาทใช้จ่ายเป็นค่าซื้อที่ดินไปแล้วจำนวน 16 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ 133 ไร่ เป็นเงิน 72,655,500 บาท รวมจ่ายเป็นค่าซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินไปแล้วประมาณ 166,192,000 บาท

     “กรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่บางส่วนของโครงการไปแล้ว โดยทำควบคู่ไปกับการเจรจาเพื่อซื้อที่ดินในแนวเวนคืน ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านที่ถือครองที่ดินประมาณ 580 แปลงได้ไปยื่นเรื่องให้กรมที่ดินเข้าไปรังวัดสอบเขต หลังจากรังวัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะรู้ว่ามีที่ดินของเจ้าของที่ดินกี่ราย จำนวนกี่แปลง ที่จะถูกนำไปทำโครงการคลองระบายน้ำ

     หลากบางบาล-บางไทร ต่อจากนั้น กรมชลประทานก็จะเข้าไปเจรจาจัดเตรียมงบประมาณการซื้อที่ดิน การจ่ายค่าชดเชยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หากเจ้าของที่ดินยินยอมก็จ่ายเงินพร้อมค่าชดเชยให้ทันที แต่ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ก็จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่” แหล่งข่าวกล่าว

     โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร นอกจากจะป้องกันไม่ให้น้ำไหลหลากเข้าตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและลดระดับความลึกของน้ำที่อาจจะท่วมในพื้นที่ตัวเมืองรวมถึงพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเฉลี่ยได้ถึง 1.9-2.5 ล้านไร่แล้ว ยอดน้ำที่ตัดเข้ามาสามารถกักเก็บไว้ในคลองระบายน้ำได้ประมาณ 25 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถนำมาจัดสรรเป็นน้ำเพื่อใช้อุปโภค-บริโภคจำนวน 15 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 48 ตำบล 362 หมู่บ้านและยังเหลือเป็นน้ำต้นทุนสำรองเพื่อใช้ในพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้อีกประมาณ 230,000 ไร่ด้วย
 

ที่มา : prachachat.net
(วันที่ 17 พฤกษภาคม 2562)