ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
03 ก.ค.2562

อสังหาฯ ระส่ำ : วิกฤติค่าครองชีพสูง สวนทางค่าแรงต่ำ

Line

     ค่าครองชีพของไทยสูงติดอันดับโลก สวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัด ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการตัดสินใจซื้อของชิ้นใหญ่อย่างอสังหาริมทรัพย์

​     จากผลสำรวจล่าสุดของเมอร์เซอร์เกี่ยวกับอัตราค่าครองชีพ หรือ Cost of Living 2019 ที่มาจากการเก็บข้อมูลจาก 209 เมือง ใน 5 ทวีปทั่วโลก พร้อมเปรียบเทียบราคาของ 200 รายการ ในแต่ละเมือง ภายใต้หมวดหมู่ที่อยู่อาศัย การเดินทาง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในบ้าน และความบันเทิง พบว่า ค่าครองชีพของไทยสูงติดอันดับ 40 ของโลก และอันดับ 2 ของอาเซียน

ค่าครองชีพฮ่องกงสูงที่สุดในโลก ติดต่อกันเป็นปีที่ 2
ผลการสำรวจพบว่า 10 อันดับแรกเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก ได้แก่

อันดับ 1 ฮ่องกง
อันดับ 2 โตเกียว, ญี่ปุ่น
อันดับ 3 สิงคโปร์
อันดับ 4 โซล, เกาหลีใต้
อันดับ 5 ซูริค, สวิตเซอร์แลนด์
อันดับ 6 เซี่ยงไฮ้, จีน
อันดับ 7 อาชกาบัต, เติร์กเมนิสถาน
อันดับ 8 ปักกิ่ง, จีน
อันดับ 9 นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา
อันดับ 10 เชินเจิ้น, จีน
โดยฮ่องกงยังคงครองตำแหน่งเมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นผลจากราคาที่อยู่อาศัยที่สูงเกินเอื้อม

เจาะกลุ่มลูกค้าชาวจีน หนุนอสังหาฯ ได้จริงหรือ?

กรุงเทพฯ ค่าครองชีพสูงอันดับ 40 ของโลก

​     จากผลสำรวจยังพบอีกว่า กรุงเทพฯ จัดอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก ขยับขึ้นมา 12 อันดับจากปีที่แล้ว โดยเมอร์เซอร์ ระบุว่า อันดับที่สูงขึ้นของกรุงเทพฯ มีสาเหตุมาจากการย้ายถิ่นฐานของผู้อยู่อาศัยจากเมืองอื่น ๆ และผลของการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงิน และภาวะเงินเฟ้อมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งนี้ หากโฟกัสระดับอาเซียน รายงานจากนัมเบโอ เว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพ ได้เปิดเปิดเผยดัชนีค่าครองชีพทั่วโลก ปี 2562 โดยคำนวณจากค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าอาหารในร้านอาหาร ค่าเช่าที่พักอาศัย และกำลังซื้อของประชากรในเมือง พบว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นรองแค่สิงคโปร์เท่านั้น

ถกประเด็น: ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาแพง ปัญหาที่รอการแก้ไข
คนกรุงใช้จ่ายเฉลี่ย 21,000 บาท/เดือน
​     สำหรับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายบุคคลในกรุงเทพฯ ไม่รวมค่าเช่าบ้าน อยู่ที่ราว 21,000 บาทต่อเดือน ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ไม่รวมค่าเช่าบ้าน อยู่ที่ 75,800 บาทต่อเดือน ซึ่งรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดของคนกรุงเทพฯ ในปีนี้ คือค่าอาหารในร้านอาหาร คิดเป็นราคาเฉลี่ยที่ 80 บาทต่อมื้อ และค่าเช่าที่พักอาศัย โดยอพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน ใจกลางเมือง มีค่าเช่าเฉลี่ยที่ 21,400 บาทต่อเดือน

​     นอกจากนี้ 10 อันดับแรกของเมืองที่มีค่าครองชีพสูงในอาเซียน ยังมีภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่ ติดอันดับอยู่ด้วย โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายบุคคล ไม่รวมค่าเช่าบ้าน ภูเก็ต อยู่ที่ 18,000 บาทต่อเดือน พัทยา อยู่ที่ 17,000 บาทต่อเดือน และเชียงใหม่ อยู่ที่ 16,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ

สำรวจอสังหาฯ ‘เชียงใหม่-เชียงราย’ พร้อมเปิดโผ 10 ทำเลขายดี

ค่าแรงสวนทางค่าครองชีพ เฉลี่ยอยู่ที่ 308-330 บาท/วัน
​     ขณะที่รายงานการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยล่าสุด จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ วันละ 308-330 บาท แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ดังนี้

– ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 330 บาท ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง

– ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 325 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

– ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 320 บาท ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี

– ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 318 บาท ได้แก่ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม

– ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 315 บาท ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์

– ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 310 บาท ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ วชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำพู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี

– ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 308 บาท ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

ไทยหนี้ครัวเรือนพุ่ง: สะเทือนเศรษฐกิจ-อสังหาฯ ครึ่งหลังปี 62
ดีเวลลอปเปอร์ดิ้น เร่งระบายสต็อก ซบผู้มีกำลังซื้อ
จากผลกระทบดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างเร่งปรับกลยุทธ์ ทั้งการเร่งระบายสต็อก และหลีกเลี่ยงการทำโครงการจับตลาดล่าง ที่ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง โดยหันมาพัฒนาโครงการที่เจาะกลุ่มตลาดกลาง-บนที่ยังพอมีกำลังซื้อ และหันมาพัฒนาโครงการแบบลีสโฮลด์มากขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้น และจะเห็นภาพการร่วมทุนระหว่างต่างประเทศมากขึ้นด้วย

อสังหาฯ ปรับกลยุทธ์ดึงพันธมิตรสยายปีกความแข็งแกร่ง

ผู้บริโภคมองอสังหาฯ เป็นบวก เล็งซื้อบ้าน

​     อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวไทยยังมองภาพอสังหาริมทรัพย์ในไทยเป็นบวก จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ (DDproperty Consumer Sentiment Survey) รอบล่าสุด พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีทัศนคติที่เป็นบวกมากขึ้นและมีความพึงพอใจต่อสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย

ส่องอสังหาฯ โลก: กรุงเทพฯ ยังติดโผอสังหาฯ ถูก

​     โดย 73% เห็นว่าจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์ในตลาดมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ 41% ระบุว่าสามารถเข้าถึงเงินกู้หรือรีไฟแนนซ์ได้ง่ายขึ้นและ 29% มองว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

​     นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจยังมีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยพบว่า 35% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความตั้งใจจะซื้อที่อยู่อาศัย เกือบครึ่งของกลุ่มนี้คาดว่าจะซื้อโครงการเปิดใหม่หรืออาจจะมองหาทั้งโครงการเปิดใหม่และรีเซล

​     หากพิจารณาตามประเภทที่อยู่อาศัย พบว่าบ้านเดี่ยวได้รับความสนใจมากที่สุด ถึง 81% รองลงมาคือ คอนโดมิเนียม 71% และทาวน์เฮาส์ 66% ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาตามทำเลที่ตั้งพบว่า 2 ใน 5 ต้องการอยู่ในทำเลกรุงเทพฯ รอบนอก และเกินกว่าครึ่งมีงบประมาณในการซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ล้านบาท

วิธีคำนวณเงินผ่อนต่อเดือนและวงเงินกู้สูงสุดก่อนซื้อบ้าน คอนโดฯ

​     จะเห็นได้ว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้น สวนทางค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจรวมถึงการเมืองในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจซื้อของผู้ที่คิดจะซื้อที่อยู่อาศัย แม้ว่าภาคเอกชนจะเร่งขนโปรโมชั่นมาเอาใจผู้ซื้อ รวมถึงภาครัฐที่ออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง แต่จะเร่งให้ผู้ซื้อกลับมาได้ไหมก็ยังคงต้องลุ้นกันต่อไป
 
ที่มา : www.ddproperty.com
(วันที่ 3 กรกฎาคม 2562)