ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
23 ก.ค.2562

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ประเด็นร้อนรัฐบาลใหม่ อสังหาฯ-ก่อสร้างโอดต้นทุนพุ่ง

Line

       !!..การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลเตรียมประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในช่วงชะลอตัว แถมค่าเงินบาทยังอยู่ในช่วงแข็งค่า ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวล ความห่วงใย และแสดงทัศนะมุมมองที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในกลุ่มนักธุรกิจที่กังวลต่อสถานการณ์การลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งกังวลว่าจะเกิดการชะลอการลงทุน และมีการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมไปยังประเทศเพื่อนบ้านยังที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าประเทศไทย
แรงงานก่อสร้าง

       ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มธุรกิจที่อาจจะได้รับผลกระทบหลัก เช่น กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งในปัจจุบันยังใช้แรงงานฝีมือในการผลิตสินค้าเป็นหลัก จะเกิดการล้มหายตายจากกันไป ขณะที่ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมากก็เป็นอีกกลุ่มที่ออกมาสะท้อนมุมมองและเสนอแนะแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ 

โดยนายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัทกานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า การปรับค่าแรงเป็นพื้นฐานต่อความจำเป็น ซึ่งต้องมีการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ควรมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไป ในการปรับขึ้นค่าแรงก็ควรมีหลายระดับ ไม่ควรใช้บรรทัดฐานหรือมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด เนื่องจากแรงงานมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือ ทั้งนี้ หากใช้มาตรฐานเดียวกันในการปรับค่าแรงจะส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย ขณะเดียวกัน ก็ไม่ส่งผลดีต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน 

       ทั้งนี้ หากรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดระบบและวางมาตรฐานแรงงานฝีมือ โดยการแยกย่อยฝีมือแรงงานในแต่ละสาขาให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อให้เกิดความครอบคลุมในทุกหมวดวิชาชีพ จะทำให้เกิดการยกระบบมาตรฐานแรงงานฝีมือและในการปรับขึ้นค่าแรงยังสามารถพิจารณาปรับขึ้นในอัตราส่วนที่แตกต่างกันตามความสามารถและระดับแรงงานฝีมือซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาแรงงานฝีมือได้

       “ปัจจุบัน กลุ่มแรงงานขั้นต่ำกว่า 90% เป็นกลุ่มต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และโดยมากเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำงานแบกหาม แต่ไม่มีทักษะในวิชาช่าง เมื่อใช้มาตรฐานเดียวกันในการปรับค่าแรง โดยเหมารวมแรงงานฝีมือกับแรงงานไร้ฝีมืออยู่ในกลุ่มเดียวกันก็ไม่ทำให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงาน และไม่เกิดผลดีต่อการพัฒนาประเทศแต่อย่างใด ดังนั้น รัฐบาลควรมีการแยกย่อยกลุ่มฝีมือแรงงานในแต่ละวิชาชีพให้ละเอียดมากขึ้น และในการปรับขึ้นค่างานก็ควรพิจารณาแยกย่อยออกไปตามระดับและมาตรฐานของแต่ละสาขาวิชาชีพไป”

       ทั้งนี้ ในการปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ แน่นอนว่าภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก จะได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงควรจะทยอยปรับขึ้น ไม่ควรปรับขึ้นในครั้งเดียวเต็มเพดาน และควรจะมีการกำหนดมาตรฐานแรงงานฝีมือในแต่ละประเภทอาชีพเพื่อปรับขึ้นค่าแรงในอัตราส่วนที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรงก็ควรกำหนดแบ่งโซนการปรับขึ้น เนื่องจากขนาดการขยายตัวของเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่นั้นมีอัตราการขยายตัวไม่เท่ากัน 

 วอนรัฐปรับค่าแรงในอัตราที่เหมาะสม

       แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า หากรัฐบาลมีการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำจาก 300 บาทต่อวัน เป็น 400 บาทต่อวันจริงๆ นั่นหมายความว่าค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้นทันที 20% แน่นอนว่ากลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก และที่สำคัญธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นธุรกิจที่มีการเซ็นสัญญาก่อสร้างระยะยาว ซึ่งงานที่มีการเซ็นสัญญาไปแล้วนั้นจะไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้ เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือ หรือมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ประกอบการับเหมาก่อสร้าง 

       ทั้งนี้ ในการปรับขึ้นค่าแรงนั้น นอกจากกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแล้ว รัฐบาลต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะส่งผลต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หรือบริษัทอสังหาฯ ด้วย เพราะการปรับขึ้นค่าแรงนั้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการพัฒนาโครงการอสังหาฯ แน่นอน และขณะนี้เองตลาดอสังหาฯ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า มีอัตราการชะลอตัวลงตั้งแต่ปีก่อนมาจนถึงปัจจุบัน หากมีปัจจัยลบเข้ามากระทบอีกรอบจะยิ่งทำให้ตลาดอสังหาฯ ได้รับผลกระทบหนักเพิ่มขึ้นอีก

       “เราเข้าใจว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในภาคแรงงาน แต่การปรับขึ้นค่าแรงในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับเงินบาทแข็งค่า จะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของทุนจากต่างชาติในประเทศไทย ส่วนทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนไปแล้วนั้นขณะนี้เองก็ยังต้องมีการปรับตัวหากมีปัจจัยเรื่องค่าแรงเข้ามากระทบอีก จะยิ่งทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจเข้ามาลงทุนออกไปอีก”

       ดังนั้น ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงช่วงเวลาในการปรับขึ้นค่าแรงที่เหมาะสม เพื่อให้เวลาแก่ผู้ประกอบธุรกิจมีเวลาในการปรับตัวรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน อัตราการปรับขึ้นค่าแรงนั้นก็ต้องพิจารณาด้วยว่า อัตราการปรับขึ้นค่าแรงระดับใดจึงเหมาะสมต่อภาวะปัจจุบัน



 
ต้นทุนก่อสร้างคอนโดฯ สูงขึ้น

       ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเป็นนโยบายเราก็ต้องจ่าย แต่ในโครงสร้างการก่อสร้างคอนโดมิเนียมแล้ว แบ่งเป็นต้นทุนของที่ดินประมาณ 20% และส่วนของค่าก่อสร้างอีก 50-60% ดังนั้น ตัวแปรค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 400 บาทนั้น เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 30% ส่งผลให้ค่าก่อสร้างแพงขึ้นอีก 9% ส่วนนี้เป็นส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะต้องรับภาระ เพราะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่ผู้สร้างโครงการ

       "คำถามว่าจะปรับตัวอย่างไร การผลักภาระให้แก่ผู้บริโภคคงยาก ในสถานการณ์ที่ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เราก็มองว่า การขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องใหญ่ให้คนมีรายได้ สิ่งที่จะต้องทำ และทำอยู่แล้ว พยายามลดต้นทุนในด้านอื่นๆ แทน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น หรือการลดต้นทุนโดยตรงเลย เช่น การเลือกซื้ออุปกรณ์สำนักงานในราคาที่ไม่แพง"

       นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี กล่าวยอมรับว่า การปรับขึ้นค่าแรงมีผลต่อการปรับขึ้นของต้นทุนและค่าครองชีพในด้านอื่นๆ ตามมา ซึ่งเราไม่ได้คัดค้าน เพียงแต่ว่าภาคเอกชนน่าจะมีส่วนร่วมในการกำหนดความชัดเจนของโอกาสการขยับขึ้นค่าแรง เนื่องจากค่าจ้างของไทยในปัจจุบันสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 50% ทำให้เกิดการไหลเข้ามาของแรงงานต่างด้าว 

       "ในภาวะที่เศรษฐกิจดีๆ การปรับขึ้นค่าแรงเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่จีดีพีปีนี้ลดต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่ผ่านมา แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเรื่องโอที และโบนัส ก็มีการปรับมาระยะหนึ่งแล้ว"

       ด้านนายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF กล่าวว่า สำหรับเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงนั้น ความเห็นของตนแล้วเป็นเรื่องที่ดี แต่อาจจะเลือกรายอาชีพที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย ไม่ใช่ประกาศขึ้นทั้งหมด ซึ่งจะไม่เป็นผลดี เพราะแรงงานต่างด้าวจะใช้เป็นข้ออ้างในการปรับขึ้นค่าแรงเหมือนคนไทย 

 ลลิลฯ มองบวกปรับค่าแรงกระทบน้อยอานิสงส์ ดบ.ขาลง

       นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหารบริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ LALIN กล่าวว่า หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ก็เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาฯ ทำให้ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งค่าแรงจะคิดเป็น 7-8% ของต้นทุนก่อสร้าง ปัจจุบันค่าแรงอยู่ที่ 360 บาท หากปรับขึ้นเป็น 400 บาท หรือขึ้นมาประมาณ 11% ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 0.8% ถือว่าไม่ได้สูงมากนัก ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องไปหาแนวทางในการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีขึ้น

       อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาคธุรกิจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากได้ปรับอานิสงส์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยช่วงขาลง โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงอย่างน้อย 0.25% ช่วยให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงได้มาก อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรง 400 บาท/วัน จะต้องมาดูว่ารัฐบาลยังไม่มีนโยบายชัดเจนว่าจะปรับขึ้นหรือไม่ การปรับขึ้นนั้นจะเป็นแบบรายจังหวัดหรือทั่วประเทศ แต่หากปรับธุรกิจจะส่งผลกระทบอย่างมาก คือ ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและอื่นๆ นอกจากนี้ ยังต้องจัดทำบัญชีให้สอดคล้องต่อสภาพที่แท้จริงของกิจการ แต่ถือเป็นเรื่องที่ดีทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างโปรงใส่ 

       นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ในแรงงานจำนวนมาก เช่น กลุ่มธุรกิจในกลุ่มหอการค้า อุตสาหกรรมการผลิต ไร่อ้อย อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อย หรือกลุ่ม SMEs เพราะกลุ่มนี้ยังไม่ได้นำเทคโนโลยี และเครื่องจักรเข้ามาใช้ เนื่องจากขาดเงินทุนในการติดตั้งเครื่องจักรในอุตสาหกรรมของตนเอง จึงยังคงใช้แรงงานเป็นหลัก 

       นอกจากกลุ่ม SME แล้ว อาจกระทบต่อการตัดสินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ของธุรกิจต่างประเทศ ขณะเดียวกัน อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น แอร์ ทีวี พัดลม ย้ายฐานการผลิตออกไปตั้งฐานผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา เนื่องจากในประเทศดังกล่าวค่าแรงยังต่ำกว่าประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทเป็น 400 บาทต่อวันนั้น รัฐบาลต้องเข้าใจด้วยว่าผลดีไม่ได้ตกถึงแรงงานไทยส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะแรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ ส่วนแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 80-90% เป็นแรงงานไร้ฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย 

       “แรงงานไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นแรงงานฝีมือ ซึ่งแรงงานไทยนั้นปัจจุบันได้รับค่าแรงสูงกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว ขอยกเคสตัวอย่าง เช่น ในภาคเหนือนั้นแรงงานไทยส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างสูงกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นแรงงานที่มีทักษะ และฝีมือ ทำให้มีการจ้างงานด้วยค่าแรงที่สูงกว่าแรงงานไร้ฝีมือ ส่วนแรงงานไร้ฝีมือซึ่งเป็นกลุ่มที่รับค่าแรงขั้นต่ำโดยมากจะเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำผลดีจึงตกกับกลุ่มแรงงานต่างด้าวเสียมากกว่าแรงงานไทย”

  ค่าแรง 400 บาทต่างด้าวได้เต็มๆ

       นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวต่อว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ จะส่งผลให้ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาฯ มีการปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อรับมือต่อต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ และธุรกิจก่อสร้างมีการนำเทคโนโลยี และเครื่องจักร รวมถึงระบบก่อสร้างสำเร็จรูปเข้ามาใช้แทนแรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาฯ จะมีการนำระบบก่อสร้างสำเร็จรูปเข้ามาใช้มากขึ้นแทบจะ 100% แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอสังหาฯ และธุรกิจก่อสร้างจะนำระบบก่อสร้างสำเร็จรูปเข้ามาใช้กว่า 80-90% แล้วก็ตาม แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่ใช้แรงงานในการก่อสร้าง เนื่องจากเมื่อเทียบต้นทุนค่าแรงในงานก่อสร้างและการนำระบบสำเร็จรูปมาใช้แล้ว การนำระบบก่อสร้างสำเร็จรูปยังถือว่ามีต้นทุนที่สูงกว่า 

       “เมื่อต้นทุนจากค่าแรงงานปรับตัวขึ้น จะทำให้ต้นทุนแรงงานกับต้นทุนจากการนำระบบสำเร็จรูปมาใช้ขยับมาใกล้หรือเท่ากัน จะเกิดการผลักดันให้มีการนำเครื่องจักรและระบบสำเร็จรูปเข้ามาทำงานแทนคนมากขึ้น เนื่องจากเครื่องจักรทำงานได้ต่อเนื่อง และได้มาตรฐานเดียวกัน และยังช่วยประหยัดเวลาในการก่อสร้างได้มากกว่า” 

       นอกจากนี้ รูปแบบการจ้างงานในอนาคตจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่มีการจ้างงานเป็นรายวัน จะเปลี่ยนไปเป็นการจ้างงานรายชั่วโมง หรือการจ้างแบบเหมาจ่าย หรือจ้างงานเป็นยูนิต เพื่อคุมต้นทุนในระบบก่อสร้างให้ดีขึ้น ซึ่งลักษณะการจ้างงานแบบนี้จะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบเดียวกับการจ้างงานในประเทศพัฒนาแล้ว ผลคือ การจ้างงานแบบรายเดือนหรือรูปแบบพนักงานบริษัทจะลดลง เปลี่ยนมาจ้างงานเป็นรายชั่วโมง หรือรับเหมาเพิ่มมากขึ้น 

       ดังนั้น ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ รัฐควรพิจารณาถึงความพร้อมหรือให้ระยะเวลาในการปรับตัวแก่ผู้ประกอบธุรกิจในภาคต่างๆ โดยการทยอยปรับขึ้นค่าแรง ไม่ควรปรับขึ้นเป็น 400 บาทในครั้งเดียวเลยทันที นอกจากนี้รัฐบาลควรมีการแยกประเภทแรงงาน และพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงในอัตราส่วนที่แตกต่างกันไปไม่ควรใช้มาตรฐานเดียวกันในการปรับขึ้นค่าแรงทั้งหมดในระบบ เพื่อสร้างมาตรฐานแรงงานฝีมือ ซึ่งในเรื่องการสร้างมาตรฐานแรงงานฝีมือนั้น กระทรวงแรงงานก็มีหน่วยงานที่รองรับอยู่แล้ว เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น 

       อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ รัฐบาลคงจะไม่รีบร้อนปรับขึ้นค่าแรงในทันทีทันใด แต่คาดว่าจะมีการหารือ และพูดคุยกับหลายๆ ฝ่ายอีกมาก เพราะรัฐบาลเองยังต้องตอบคำถามที่มาของค่าแรง 400 บาทให้ได้ด้วย