ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
07 ก.ค.2557

กระทุ้ง ป.ป.ช.แก้ทุจริตท้องถิ่นเรียกเก็บเงิน พบแทบทุกขั้นตอนขออนุญาตอสังหาฯ

Line

อสังหาฯ ระบุ ป.ป.ช.ข้อกำหนดนักการเมือง ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น ซื้ออสังหาฯ ด้วยเงินสดเกิน 1 ล้านบาทต้องรายงาน ป้องกันการฟอกเงิน เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ วอนแก้ที่ต้นเหตุ ลดขั้นตอนการขออนุญาต ยันองค์กรมีอำนาจอนุมัติต้องประกอบด้วยตัวแทนจากหลากหน่วยงาน ไม่ใช่ข้าราชการ นักการเมืองเพียงกลุ่มเดียว เผยทุจริตขั้นตอนขออนุญาตระดับท้องถิ่น มีการเรียกรับเงินมากที่สุด ด้าน “แอล.พี.เอ็น.-บิวท์แลนด์” เชื่อไม่กระทบการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ข้าราชการ-นักการเมือง ชี้หากผู้กระทำผิดต้องการเลี่ยงจริงมีอีกหลายวิธีที่ทำได้
      
       แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมออกประกาศ เรื่องกำหนดจำนวนเงินและมูลค่าทรัพย์สินหนี้สินในการทำธุรกรรมที่ต้องรายงานต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยกำหนดให้สถาบันการเงินรายงานต่อ ป.ป.ช.หากมีความเคลื่อนไหวทางบัญชีด้วยเงินสดเกิน 5 แสนบาท และอสังหาริมทรัพย์เกิน 1 ล้านบาท ของบุคคลที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการ ในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ ซึ่งเป็นข่าวออกมากก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดคำถามว่าประกาศของ ป.ป.ช.จะส่งผลกระทบต่อการการซื้อขายอสังหาฯ หรือไม่นั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของนักการเมือง และข้าราชการ โดยเฉพาะผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ แม้จะมีก็ถือว่าน้อยมาก เนื่องจากยังมีอีกหลายวิธีที่จะหลบเลี่ยงการตรวจสอบ การทำทุจริต และการฟอกเงินของกลุ่มที่ตั้งใจจะกระทำผิดจริงๆ
      
       ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเชื่อว่าเป็นเพียงการป้องปรามผู้ที่จะกระทำผิดจากการฟอกเงินเท่านั้น ซึ่งวิธีดังกล่าวถือว่าเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ดังนั้น ป.ป.ช. ควรพิจารณาการแก้ไขที่ต้นเหตุจึงจะสามารถดำเนินการอย่างได้ผล โดยก่อนหน้านี้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ และโฆษก ป.ป.ช. ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาการกระทำทุจริตว่า การกระทำทุจริตในการจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมือง รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น จะต้องมีการเอาผิดทั้งผู้รับ และผู้จ่ายนั้น คือ ข้าราชการ นักการเมือง รวมถึงผู้จ่ายสินบน ซึ่งเป็นเอกชนในช่วงที่ผ่านมานั้นยอมรับว่าในการขออนุญาตต่างๆ มีการเรียกเก็บเงินขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น หรือมีการทำทุจริตในส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากผู้ประกอบการโดยตรง หากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ตรงจุด ควรแก้ที่ต้นเหตุ
      
       “เชื่อว่าผู้ประกอบการอสังหาฯ หรือผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ ทุกรายไม่มีใครต้องการจ่ายเงินในการขอใบอนุญาตจัดสรร และอนุญาตต่างๆ เพราะนั่นหมายความว่าจะมีต้นทุนในการพัฒนาโครงการเพิ่มขึ้น แต่ทุกคนต้องตกเป็นเหยื่อเพราะระบบขั้นตอนของกฎหมายที่มีความซ้ำซ้อน รวมถึงกระบวนการในการขออนุญาตต่างๆ นั้นมีหลายขั้นตอน ต้องได้รับอนุญาตจากทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่โครงสร้างของการออกใบอนุญาตต่างๆ ก็ขึ้นกับอำนาจของแต่ละหน่วยงาน ทำให้เกิดช่องว่างให้มีการเรียกเก็บสินบน จากขั้นตอนการดำเนินการ ตัวบุคคล และกฎหมายเปิดช่องให้มีการกระทำทุจริตได้”
      
       ดังนั้น ในการแก้ปัญหาการทำทุจริต และการฟอกเงินจากธุรกิจอสังหาฯ นั้นจึงควรมีการแก้ที่ต้นเหตุจริงๆ คือ 1.การแก้ไขปัญหาตัวบุคคลผู้มีอำนาจผูกขาดในการอนุมัติที่มากเกินไป 2. การแก้ไขกระบวนการขออนุญาตต่างๆ ให้มีความรวบรัดมากขึ้น สามารถดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น เช่น ให้สามารถดำเนินการได้แบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว หรือหน่วยงานเดียว “One stop service” เพื่อลดขั้นตอนการซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน
      
       3. แก้กฎหมายที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาช่องว่างทางกฎหมายเปิดโอกาสให้มีการทำทุจริตของเจ้าหน้าที่ได้ 4. มีการทบทวนโครงสร้างองค์การที่มีอำนาจในการอนุมัติโครงการ ควรเปิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม หรือเป็นคณะกรรมการในบอร์ด พิจารณาการออกใบอนุมัติต่างๆ แต่ต้องไม่ละเลยที่จะให้องค์กรท้องถิ่นสามารถคัดค้านได้ เพื่อป้องกันปัญหากระทบท้องถิ่น
      
       ด้าน นายโอภาส ศรีพยัฆค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการดำเนินงาน และการขายห้องชุดของบริษัท เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของ แอล.พี.เอ็น.ฯ ที่เป็นนักการเมือง และข้าราชการมีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนทำงานบริษัทเอกชน และคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในเมืองมากกว่า ส่วนเรื่องการกำหนดจำนวนเงิน และมูลค่าทรัพย์สินหนี้สินในการทำธุรกรรมที่ต้องรายงานต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ของข้าราชการ และนักการเมืองนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะบุคคลธรรมดาที่มีการเบิกถอนเงินเกิน 2 ล้านบาท สถาบันการเงินยังต้องมีการรายงานเช่นกัน
      
       “การรายงานธุรกรรมการเงินนั้น แม้แต่สถาบันการเงินเองหากมีการโอนเงินหรือข้ามสาขาเกินกว่า 2 ล้านบาท สถาบันการเงินเองก็ต้องมีการรายงานแจ้ง เพื่อป้องการปัญหาการฟอกเงิน ดังนั้น กรณีที่กำหนดให้ข้าราชการ นักการเมืองต้องแจ้ง หรือแสดงบัญชีธุรกรรมการเงินตามที่กำหนดไว้ก็ถือว่าไม่ใช้เรื่องแปลก เรื่องนี้จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ แต่อย่างใด” นายชัยรัตน์ ธรรมพีร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิลท์แลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวและว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงการป้องปราม เพราะหากผู้ตั้งใจผิดคิดจะหลบเลี่ยงก็สามารถทำได้ด้วยวิธีอื่นๆ อีกมาก เช่น ใช้นอมินี หรือใช้เงินกู้แทน ฯลฯ

ที่มา : โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 กรกฎาคม 2557 12:29 น. 
http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000075555