ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
31 ก.ค.2557

อสังหาฯ วอนคสช.คุมราคาเหล็ก....

Line

กลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก จับมือเตรียมยื่นจดหมายถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อชี้แจงกรณีผู้ผลิตเหล็ก 2 รายใหญ่ประกาศขึ้นราคาต่อเนื่อง หลังกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการป้องกันการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศทำให้ราคาเหล็กในประเทศสูงขึ้น สวนทางกับกระแสโลกที่อยู่ในช่วงปรับราคาลงตามกลไกตลาด

​ตัวแทนกลุ่มอสังหา ฯ นำโดย นายปิติพัฒน์ ปรีดานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปรีดาโฮลดิ้ง ผู้พัฒนาโครงการ กรีเน่คอนโด แจ้งวัฒนะ นายนิธิ ตากวิริยะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สรรสิ่งดี และ นายธนยศ อมกฤตวาริน รองประธานกรรมการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท โมเดิร์นเฮ้าส์ พร็อพเพอร์ตี้ ได้ร่วมจัดงานแถลงข่าวเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาเหล็กที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม จากการกำหนดราคาโดยไม่มีการควบคุมของ 2 บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศ อันเป็นผลจากมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ตามประกาศของกรมการค้าต่างประเทศสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ลงนามเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

นายนิธิ ตากวิริยะนันท์ เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลและลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วไป ทำให้พบว่าการออกมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ล้วนเกิดผลโดยตรงที่เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 2 รายในประเทศ ซึ่งสร้างผลกระทบด้านการแบกราคาเหล็กที่สูงขึ้นของกลุ่มธุรกิจที่ต้องใช้เหล็กเป็นวัสดุหลักในการดำเนินกิจการ ตั้งแต่ธุรกิจก่อสร้าง ยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยหลังการประกาศมาตรการดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการจำเป็นต้องซื้อสินค้าเหล็กจากบริษัทผู้ผลิตในประเทศ ซึ่งมีเพียง 2 รายใหญ่
​จากนั้น ผู้ผลิต 2 รายใหญ่ได้ประกาศขึ้นราคาเหล็กภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับราคาเหล็กในตลาดโลก ที่อยู่ในช่วงปรับราคาลงพร้อมกันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีอัตราเติบโตต่ำลง โดยราคาเหล็กรีดร้อนในประเทศไทยได้เริ่มขยับสูงขึ้นนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 หลังประกาศกรมการค้าต่างประเทศเรื่องเปิดการไต่สวนการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่เพิ่มขึ้น ตามคำขอของบริษัทผู้ผลิตในประเทศ ด้วยเห็นว่าการนำเข้าเหล็กก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายใน

ทั้งนี้ผลจากการประกาศมาตรการดังกล่าวในวันที่ 22 ม.ค. 2557 ราคาเหล็กได้เพิ่มขึ้นจาก 20 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนธันวาคม 2556 เป็น 21 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนมกราคม และขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน2557 ที่ราคาเหล็กในประเทศไทยไต่ระดับขึ้นมาถึง 23.3 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเหล็กรีดร้อนในต่างประเทศยังมีราคาเสนอขายที่ประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

​สำหรับการประกาศมาตรการปิดกั้นการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการผูกขาดการตั้งราคาเหล็กในตลาด ผู้ผลิตรายใหญ่สามารถกำหนดราคาที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ทั้งยังมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะเวลาไม่นาน โดยกลุ่มผู้ผลิตอ้างว่าการนำเหล็กเข้าจากต่างประเทศส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย ทั้งที่ในความเป็นจริงปัญหาทางการเงินนั้นเกิดจากแผนการลงทุนที่ผิดพลาด อันเป็นเรื่องภายในของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเอง การออกมาตรการของภาครัฐในลักษณะที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ขององค์กรการค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว จึงถือเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการทั่วไป โดยเฉพาะธุรกิจที่มีขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งต้องรับผลกระทบร่วมกันทั้งหมด

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีอัตราการบริโภคเหล็กที่ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี เมื่อคำนวณจากผลต่างของราคาเหล็กในประเทศกับราคากลางในตลาดสากล เท่ากับว่ากลุ่มผู้ประกอบการในประเทศทั้งหมดจะต้องซื้อเหล็กในราคาที่สูงเกินความจริง เพื่อช่วยเหลือการขาดทุนของกลุ่มผู้ผลิตเหล็กในประเทศเป็นเงินถึง 9, 900 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นการนำเงินของประชาชนทั้งประเทศไปอุดหนุนบริษัททั้ง 2 นี้ 

“การที่ผู้ประกอบการซึ่งต้องใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบในการดำเนินธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมต้องแบกรับคือต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ราคาของสินค้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบหลักต้องขึ้นตามไปด้วยเพื่อรักษาผลประกอบการ โดยเฉพาะงานก่อสร้างที่โครงการหนึ่ง ๆ ใช้ระยะเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ทั้งต้องใช้เหล็กเป็นต้นทุนอยู่ที่ราว 30% ของวัตถุดิบทั้งหมด การไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมต้นทุนการผลิตเนื่องจากราคาเหล็กที่ผกผัน ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถคำนวณราคาอสังหาริมทรัพย์ที่คุ้มทุนได้ จึงอาจต้องประเมินราคาเพื่อประกันความเสี่ยงไว้สูงกว่าความเป็นจริง ผลกระทบในภาพรวมจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะตกไปสู่ผู้บริโภคเป็นทอด ๆ ดังนั้น ราคาสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดรถยนต์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า จึงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างไม่สมเหตุผล" นายนิธิกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อีกปัญหาหนึ่งที่จะตามมาในอนาคต ก็คือโครงการก่อสร้างหลายโครงการอาจมีผู้รับเหมาใช้วิธีลดต้นทุนโดยการลดสเปคเหล็กอันมีผลต่อความปลอดภัยของผู้อาศัย ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นกันแล้วว่ามีตึกอาคาร หรือโครงการบ้านจัดสรรบางแห่ง ที่ผู้รับเหมาลดต้นทุนก่อสร้างด้วยการลดสเปคเหล็กซึ่งเป็นโครงสร้างหลัก คุณภาพมาตรฐานของอาคารจึงต่ำลง หลายกรณีเสี่ยงต่อการถล่ม หรือถึงใช้ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วหากราคาเหล็กยังพุ่งสูงต่อไปไม่หยุด หลายโครงการก่อสร้างก็ต้องหยุดชะงักเพราะขาดทุนดำเนินงาน หรือคำนวณแล้วว่าถึงสร้างเสร็จก็ไม่คุ้มทุน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือผู้รับเหมาทิ้งงาน ตึกรามอาคารต่าง ๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จก็จะถูกทิ้งร้างเกลื่อนทั่วบ้านเมือง ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อประเทศไทยทั้งในด้านภาพลักษณ์ไปจนถึงเศรษฐกิจโดยรวม

​สิ่งที่ทางกลุ่มตัวแทนอสังหา ฯ ต้องการแสดงจุดยืนต่อกรณีการขึ้นราคาสินค้าเหล็กที่ไม่สอดคล้องต่อกลไกตลาด ด้วยการยื่นจดหมายถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติในครั้งนี้คือขอความร่วมมือในการตรวจสอบการพิจารณาออกมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และยุติธรรมต่อองค์กรธุรกิจทุกหน่วยในสังคม เพราะเมื่อสืบย้อนไปถึงการออกมาตรการแต่ละครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การประกาศมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด (anti-dumping) ซึ่งมีผลต่อการจำกัดนำเข้าสินค้าจากบางประเทศ จนมาถึงมาตรการปกป้องการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศโดยสมบูรณ์ (safeguard) ราคาของเหล็กในประเทศที่อยู่ภายใต้การผลิตของบริษัทใหญ่เพียง 2 ราย กลับมีราคาเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีการควบคุม

​“ที่ผ่านมา การกำหนดราคาสินค้าที่ถูกผูกขาดโดยบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่แห่งเป็นเรื่องที่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็กจำเป็นต้องยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขมาโดยตลอดซึ่งเรามองว่าหากราคาสินค้าในประเทศกับในตลาดโลกห่างกันอยู่ที่ราว 10% หรือมีภาวะที่ราคาตรึงอยู่กับที่และลดลงตามกลไกตลาดอยู่บ้าง ก็พอยอมรับได้ว่าสมเหตุสมผล แต่ในกรณีนี้ที่ราคาเหล็กในประเทศกับในตลาดโลกมีช่องว่างที่ถ่างขยายขึ้นไปถึงเกือบ 30% ทั้งไม่มีทีท่าจะหยุดนิ่ง จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องออกมารวมตัวกัน” นายนิธิ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : นสพ.โพสต์ทูเดย์
http://www.posttoday.com