ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
03 ก.ย.2557

"บิ๊กตู่"ยกเครื่องเขตศก.พิเศษแม่สอด ผุดถนน4เลน-สะพานเชื่อมพม่า-จีน-ลาว-เวียดนาม

Line

คสช.เร่งเครื่องระบบโครงสร้างพื้นฐาน "ด่านแม่สอด" ยกระดับรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ "คมนาคม" ทุ่ม 9 พันล้านบาท เติมเต็มโครงข่ายให้พร้อมเพรียง ขยายถนน, ผุดสะพานข้ามแม่น้ำ และปรับปรุงสนามบิน พ่วงตัดรถไฟทางคู่สายใหม่ "นครสรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด" เปิดประตูการค้าด้านตะวันออก-ตะวันตก

เชื่อมโยง 5 ประเทศ จีน-พม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้ "อ.แม่สอด" จ.ตาก เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่อง ตั้งอยู่ระหว่าง ต.แม่ปะและ ต.ท่าสายลวด บริเวณริมแม่น้ำเมย มีพื้นที่พัฒนา 5,603 ไร่ จะเป็นศูนย์กลางการค้า-การผลิตจากนโยบายจะพัฒนาระยะแรกทั้งหมด 5 พื้นที่ ได้แก่ อ.แม่สอด จ.ตาก, อ.เมือง จ.มุกดาหาร, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, อ.เขาสมิง จ.ตราด และชายแดน อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อเตรียมพร้อมและสร้างโอกาสจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปลายปี 2558

ส่งการบ้าน คสช.สิ้น ส.ค.นี้

โดยตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 คณะมากำกับดูแล ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ ขอบเขตพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน, สาธารณสุข และความมั่นคง มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน และ 3.คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า อนุกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่พิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงโครงข่ายหลักของประเทศให้ครบทั้งถนน, ท่าเรือ, รถไฟ, สนามบิน และสถานีขนส่งสินค้า

อีกทั้งปรับปรุงด่านศุลกากรและวางระบบโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการบริเวณด่านพรมแดน ทั้งหมดจะสรุปเพื่อนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหัวหน้า คสช.ที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

ผุด 40 โครงการ 1.2 แสนล้าน

ผอ.สนข.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จากการประชุมล่าสุดถึงแผนงานการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานจะรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 พื้นที่ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม มีทั้งหมด 40 โครงการ ใช้เงินลงทุน 120,293 ล้านบาท แยกเป็นระยะเร่งด่วนจะแล้วเสร็จในปี 2558-2561 จำนวน 19 โครงการ วงเงิน 36,427 ล้านบาท และระยะต่อไปจะเริ่มปี 2558-2563 จำนวน 21 โครงการ วงเงิน 83,867 ล้านบาท ยังไม่รวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด่านศุลกากร จำนวน 10 โครงการ วงเงินลงทุน 5,146 ล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานนิคมอุตสาหกรรมอีก 5 โครงการ ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ด่านแม่สอด, ด่านมุกดาหาร และด่านสะเดา

สำหรับ อ.แม่สอดเป็นพื้นที่แรกที่ คสช.จะนำร่องนั้น เป็นพื้นที่อยู่ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งเป็นเส้นทางที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเป็นประตูเชื่อมโยงไปยังเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาร์ และสามารถเชื่อมโยงไปยังอินเดียและจีนตอนใต้ได้ ขณะเดียวกันยังเชื่อมการค้าจาก

ประเทศเมียนมาร์จากย่างกุ้ง และเมาะละแหม่ง ผ่านเมียวดี มาด่านแม่สอด, สุโขทัย, พิษณุโลก, ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ไปยังด่านชายแดนมุกดาหาร ผ่านสะหวันนะเขต ฝั่งสปป.ลาว ไปยังเว้ และท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม โดยเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านในประเทศไทยจากตาก-มุกดาหาร มีระยะทางรวม 713 กิโลเมตร

เร่งถนน-สะพานเร็วขึ้น

"การค้าชายแดนไทย-พม่าเติบโตมากปัจจุบันอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 19-20% เฉพาะที่แม่สอด ปีที่แล้วมีมูลค่าการค้าชายแดนอยู่ที่ 46,308 ล้านบาท ปีนี้ช่วง 6 เดือนอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าทั้งปีอยู่ที่ 5-6 หมื่นล้านบาท" ผอ.สนข.กล่าว

แต่มีปัญหาคอขวดโครงสร้างพื้นฐานยังไม่สมบูรณ์ กระทรวงจะเร่งรัดให้เสร็จเร็วขึ้น เช่น ขยายถนนตาก-แม่สอดให้เป็น 4 เลนตลอดสายในปี 2558-2559 รวมถึงสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 พร้อมโครงข่ายถนน วงเงินก่อสร้าง 2,200 ล้านบาท ที่จะเลื่อนการก่อสร้างให้เร็วขึ้นเป็นปี 2558 จากเดิมเริ่มปี 2559-2560 เป็นต้น เนื่องจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะช่วยเสริมการค้าชายแดนให้เติบโต หลังมีโครงข่ายเชื่อมโยงเป็นระบบ และทำให้ขนส่งสินค้ารวดเร็วและประหยัดเวลามากขึ้น

นายพีระพลกล่าวอีกว่า ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ด่านแม่สอดจะใช้เงินลงทุนรวม 9,097 ล้านบาท มี 15 โครงการ ระยะเร่งด่วน 6 โครงการ วงเงิน 7,563 ล้านบาท เร่งรัดก่อสร้างถนน ขยายสายตาก-แม่สอดให้เป็น 4 เลน สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 และปรับปรุงท่าอากาศยานแม่สอด ส่วนระยะต่อไปอีก 9 โครงการ วงเงิน 1,533 ล้านบาท เป็นการตัดถนนสายใหม่ตามผังเมืองรวม เช่น สาย ง2 และ ง3 สถานีขนสินค้าจังหวัด และศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด

"ดูความพร้อมการคมนาคมในแนวตะวันออกและตะวันตกแล้ว ระบบโครงข่ายการคมนาคมของไทยค่อนข้างจะสมบูรณ์มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างพม่ายังมีข้อจำกัดเรื่องการขนส่งที่ยังไม่สะดวก ปัจจุบันรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือรัฐบาลพม่าสร้างถนนจากเมียวดี-กอกะเร็ก เพื่อใช้ขนสินค้ายังท่าเรือเมาะละแหม่ง รวมระยะทาง 120 กิโลเมตร ตามแผนงานจะแล้วเสร็จปี 2558 นี้"

เมื่อถนนสร้างเสร็จจะทำให้การขนส่งสินค้าทางถนนรวดเร็วขึ้นจากปัจจุบันต้องใช้เวลาเป็นวัน เนื่องจากถนนคับแคบไม่สามารถทำให้รถวิ่งสวนกันได้ ต้องใช้มาตรการสลับการวิ่งขึ้นและลง โดยขึ้น 1 วัน และลง 1 วัน ทั้งนี้ในอนาคตหากท่าเรือน้ำลึกที่เมาะละแหม่งของประเทศเมียนมาร์ที่มีแผนจะสร้าง โดยอยู่ห่างไปอีก 70 กิโลเมตรแล้วเสร็จ จะทำให้ประเทศไทยมีประตูการค้าออกทะเลด้านตะวันตกได้อีกช่องทางหนึ่งในการทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านหลังเปิดเออีซีแล้ว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1409213074